
เผยผลทดสอบ “หม้อสแตนเลส” ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทุกตัวอย่าง หนุน สมอ. ยกระดับเป็นมาตรฐานบังคับ ให้ครอบคลุมภาชนะเหล็กกล้าและสนิมที่สัมผัสอาหารโดยตรง
สภาผู้บริโภค ร่วมกับ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว “ผลการทดสอบสินค้าประเภทหม้อสแตนเลส 2 หู ขนาด 14-22 เซนติเมตร โดยทดสอบตาม มอก.3206-2567 ในกลุ่มภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหาร สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 14-21 มกราคม 2568 รวม15 ยี่ห้อ ได้แก่ ตรา ม้าลาย, ตรา Seagull, ตรา ANNONS , ตรา JMS JIA MEI SHENG, ตรา KBEAR จาก PAIQISHUN , ตรา ZHENGLI, ตรา MR DIY , ตรา RRS , ตรา SANE , ตรา KBEAR จาก KAKABEAR SHOP , ตรา SUN , ตรา Kassa Home , ตรา ME LIVING MIND, ตรา พระจันทร์ , ตรา GO GOAL มีทั้งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย จากร้านค้าทั่วไป รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ (ดูกราฟิกประกอบ)


ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อและรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวสรุปผลการทดสอบว่า ตัวอย่างที่นำมาทดสอบเป็นหม้อสแตนเลส 2 หู ขนาด 14-22 ซม.โดยเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 14 – 21 มกราคม 2568 และส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อทดสอบด้านความปลอดภัย จากโลหะหนัก 7 ชนิดได้แก่ โครเมียม, นิกเกิล, แมงกานีส, ตะกั่ว, แคดเมียม, สารหนู และ โมลิบดินัม ตาม มอก.3206-2567 ภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหาร เฉพาะด้านความปลอดภัย ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
“จากการทดสอบพบว่า สินค้าทุกตัวอย่างที่ส่งทดสอบผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ถือว่าเป็นข่าวดี อย่างไรก็ตามสามารถดำเนินการทดสอบได้เพียง 15 ตัวอย่าง และยังมีสินค้าเหล็กกล้าไร้สนิมอีกหลายประเภทที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งยังไม่ได้ทดสอบ ดังนั้น หากยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคก็ไม่อาจวางใจได้อย่างเต็มที่” ทัศนีย์ กล่าว
ข้อสังเกตที่พบอีกคือ สินค้าที่สุ่มซื้อมานั้นยังพบปัญหาด้านฉลาก โดยสามารถพบการระบุแหล่งผลิตได้เพียง 10 ตัวอย่าง คือผลิตในไทย 3 ตัวอย่าง ระบุแหล่งผลิตจากประเทศจีน 7 ตัวอย่าง อีก 4 ตัวอย่างไม่ระบุแหล่งผลิต และไม่มีฉลากแจ้งรายละเอียด 1 ตัวอย่าง เหตุนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญเพราะการที่สินค้าไม่มีฉลากกำกับอย่างชัดเจน ทำให้เมื่อเกิดปัญหาไม่สามารถหาแหล่งตรวจสอบย้อนกลับต้นทางได้ นี่เองถือเป็นความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
ด้าน ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ผลทดสอบหม้อสแตนเลสครั้งนี้พบว่าปลอดภัยทุกตัวอย่าง แต่ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงแฝงอยู่ คือ ปัจจุบันสินค้าประเภทนี้ผลิตโดยใช้กระบวนการนำโลหะหนักมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ แต่ไม่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอาหารและขายทั่วไปในไทยและสินค้าที่นำเข้าที่ราคาถูกแต่อาจไม่มีคุณภาพได้ เพราะฉะนั้นให้ถือเป็นข้อสังเกตว่าโลหะประเภทอะลูมิเนียมจะต้องมีการยกระดับมาตรฐานเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยด้วย
ส่วน สิริลักษณ์ ชูโชติ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า หม้อสแตนเลสอยู่ในขอบข่ายของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหาร เฉพาะด้านความปลอดภัย (STAINLESS STEEL UTENSILS FOR FOOD: SAFETY REQUIREMENT) มอก. 3206-2567 ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ให้ผู้ประกอบการสมัครใจจดทะเบียน แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการวางจำหน่ายในท้องตลาดค่อนข้างมาก เมื่อใช้เป็นเวลานานอาจมีปริมาณโลหะหนักแพร่ออกมาเกินกว่ามาตรฐานกำหนด
“เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สมอ. เตรียมยกระดับมาตรฐานทั่วไปให้เป็นมาตรฐานบังคับ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหาร มอก. 3206-2567 ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ที่ครอบคลุมภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรง ได้แก่ หม้อ กระทะ จาน ชาม ถามใส่อาหาร กล่องใส่อาหาร ภาชนะใส่เครื่องดื่ม ช้อน ส้อม ตะเกียบ ตะหลิว ทัพพี กระบวย โดยมาตรฐานดังกล่าวคาดว่าจะใช้บังคับประมาณกลางปี พ.ศ. 2569” สิริลักษณ์ ระบุ
สิริลักษณ์ ได้ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของ สมอ. ว่ามีการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดการนำมาตรฐานไปใช้ส่งเสริมอุตสาหกรรม ควบคู่กับการออกมาตรฐานและกลไกการตรวจสอบที่จำเป็นต้องป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านกลไกที่สำคัญ ได้แก่
(1) การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Standard) ปัจจุบันมีมาตรฐาน 144 ฉบับ ที่เป็นมาตรฐานภาคบังคับ ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 308 ผลิตภัณฑ์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(2) การตรวจสอบรับรอง (Conformity Assessment) ปัจจุบันมีใบอนุญาต 37,000 ฉบับ บังคับใช้กับผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ และ (3) การกำกับตลาด (Market Surveillance) ที่ สมอ. ได้ยึดและอายัดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มีการบูรณาการแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะสภาผู้บริโภค ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนในการพัฒนาความร่วมมือ การเฝ้าระวัง ทดสอบ และเผยแพร่ข้อมูลการทดสอบสินค้า สร้างกลไกการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งรวมไปถึงการพัฒนาระบบที่สามารถเกิดกลไกการขายสินค้าในประเทศให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี สมอ. ยินดีที่จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้ในผลิตภัณฑ์ที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่จะมีการกำหนดให้ต้องเป็นไปตามกฎหมายในอนาคต และร่วมกันเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าจากการนำเข้ารวมถึงสินค้าที่ผลิตในประเทศ ที่ไม่มีคุณภาพและไม่เป็นไปมาตรฐาน
ขณะที่ โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า งานเฝ้าระวังสินค้าที่เป็นภารกิจหลักของสภาผู้บริโภค ที่นำหม้อสแตนเลสมาทดสอบ เนื่องจากปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานออกมาใหม่ คือ มอก. 3206-2567 จึงเป็นความท้าทายที่จะพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าภาชนะที่ใช้อยู่ทุกวันที่ผ่านความร้อนในทุก ๆ วันได้มาตรฐานหรือไม่
ผลทดสอบที่ออกมาหากออกมาทั้งทางบวกและลบมีผลดีต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น ผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ ส่วนสภาผู้บริโภคจะทำให้สังคมเห็นการเฝ้าระวังต่อเนื่องจากมาตรฐานใหม่อีกทางหนึ่ง จากนี้จะนำข้อมูลจากการสำรวจเฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหาร ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
