เร่ง ‘ประกันสังคม’ เพิ่มสายด่วนช่วงโควิด รองรับผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เร่ง ‘ประกันสังคม’ เพิ่มสายด่วนช่วงโควิด รองรับผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน พร้อมเรียกร้องออกมาตรการดูแลผู้ประกันตนที่ติดโควิดให้ชัดเจน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงติดต่อกันกว่า 10,000 รายต่อวันในขณะนี้ อีกทั้งด้วยจำนวนเตียงผู้ป่วยมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการในการรักษาพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดนั้น

วันนี้ (22 กรกฎาคม 2564) สอบ.ร่วมกับชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน แถลงข่าวเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลผู้ประกันตนที่ติดโควิด – 19 โดยเฉพาะการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญาประกันสังคม และการเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation: HI)

สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สอบ. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีพนักงานจำนวนหลายรายที่ทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ ติดเชื้อโควิด-19 แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลผ่านระบบประกันสังคมได้ เนื่องจากโทรเข้าไปติดต่อเบอร์สายด่วน 1506 ของ สปส. ไม่ได้ จึงมองว่า สปส. ควรเร่งดำเนินการระบบรับเรื่องร้องเรียนในสภาวการณ์ที่ไม่เป็นปกติ อย่างเช่นสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้ โดย สปส. จะต้องเพิ่มคู่สายให้มากเพียงพอกับจำนวนผู้ประกันตนในระบบที่มีถึงประมาณ 13 ล้านคน เมื่อผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ จึงเรียกร้องให้ สปส. กำหนดมาตรการถึงโรงพยาบาลคู่สัญญาทันที เพื่อให้มีความชัดเจนว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะสามารถเข้าสู่ระบบ และผู้ประกันตนที่อยู่ในขั้นสีเขียวจะสามารถทำ HI หรือ Community Isolation : CI ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การที่โรงพยาบาลคู่สัญญารับผู้ประกันตนเข้าไปแล้ว โดยบางโรงพยาบาลรับผู้ประกันตนเข้าไปดูแลถึง 100,000 คน และผู้ประกันตนก็ต้องจ่ายเงินทุกเดือน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลดังกล่าว ดังนั้น ผู้ประกันตนทุกคนก็จะต้องได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลคู่สัญญา แต่ตอนนี้กลับดำเนินการล่าช้ามาก

“ประกันสังคมจะทำงานแบบปกติไม่ได้ จะต้องปรับตัวให้เร็วกว่านี้ เนื่องจากมีผู้ประกันตนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก มีความเป็นความตายอยู่ทุกวัน เมื่อไม่กี่วันมานี้ยังมีคนป่วย คนเจ็บ คนตายอยู่ที่บ้าน ดังนั้น ประกันสังคมต้องประกาศออกไปเลยว่าผู้ประกันตนต้องไม่มีใครตายที่บ้าน หรือผู้ประกันตนต้องได้ทำ HI ถ้าติดเชื้อและอยู่ในขั้นสีเขียว ดังนั้น การเพิ่มจำนวนคู่สายเพื่อรับเรื่องร้องเรียนนั้นจะต้องเพิ่มไปอย่างน้อย 300 – 400 คู่สาย เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ประกันตน ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำพรุ่งนี้เลย ไม่ต้องรออีกหลายวัน เพราะผ่านไปหนึ่งวันแปลว่ามีคนตายเพิ่มขึ้น” สุภัทรา กล่าว

สุภัทรา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังพบผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อาจยังเข้าไม่ถึงการตรวจ หรือการรักษา รวมทั้งการเยียวยาต่าง ๆ สปส. จะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วย อีกทั้งในเชิงหลักการมองว่า ไม่ควรเลือกปฏิบัติอย่างยิ่งกับผู้ประกันตน ที่ถึงแม้จะเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เขาเหล่านั้นก็ส่งเงินสมทบให้กับ สปส. ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากจะกำกับและควบคุมโรคให้ได้ก็ควรต้องให้บริการกับคนทุกคนบนแผ่นดินไทย

ด้าน สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนจากชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า สปส. สามารถออกมาตรการกับโรงพยาบาลคู่สัญญาในการทำเรื่อง HI หรือ CI กับผู้ประกันตนที่ติดโควิดได้ จากข้อมูลพบว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการไม่หนักมาก และยังอยู่ในขั้นที่เป็นสีเขียว ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากยังสามารถดูแลตัวเองได้ นอกจากนี้ ในเรื่องการเยียวยานั้น สปส. ควรมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ประกันตนทุกคน เนื่องจากผู้ประกันตนทุกคนจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือนด้วยเช่นเดียวกัน หาก สปส. มองว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ควรที่จะเยียวยาให้กับผู้ประกันตนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ขณะที่ ธีรา วีระวงศ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กลุ่มงานมาตรฐานทางการแพทย์ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. กล่าวว่า สปส. ทำงานเชิงรุกมาตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบแรกจนถึงตอนนี้ ตั้งแต่การตั้งจุดตรวจคัดกรองในสถานประกอบการ มีการตรวจผู้ประกันตนและบุคคลทั่วไปกว่า 400,000 คน และประสานงานเพื่อจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ผู้ประกันตนแล้ว ส่วนเรื่องเตียงผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอนั้น ทางหน่วยงานประสานเพิ่มคู่สายพิเศษ สายด่วน 1506 กด 6 และ 1506 กด 7 เพื่อรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงประสานหาโรงพยาบาลในการรองรับผู้ประกันตนได้กว่า 10,000 คน ขณะที่การทำ HI หรือ CI นั้น มีการวางแผนว่าระบบสายด่วนนั้นจะต้องเพิ่มศักยภาพ คือ จะต้องมีคู่สายเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีการประสานงานทำระบบที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนที่ต้องการดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน แต่ในส่วนการออกประกาศให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญารองรับผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องมีขั้นตอนในการดำเนิน โดยจะต้องผ่านการลงนามจากคณะกรรมการแพทย์และคณะกรรมการประกันสังคมก่อน ซึ่งได้ยื่นเรื่องดังกล่าวไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม สปส. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมที่จะดูแลผู้ประกันตนทุกคน โดยดำเนินการอย่างเต็มที่ตลอดเวลา

ส่วน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า สปส. จะต้องเร่งรีบดำเนินการในเรื่องเร่งด่วนโดยระบบที่ไม่จำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เนื่องจากทำให้เกิดความล่าช้า ตัวอย่างเช่น การผลักดันระบบ HI ของ สปสช. ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนเช่นเดียวกับ สปส. นั้นมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ขณะที่ผู้ประกันตนเองยังไม่ได้รับสิทธิเหล่านั้น นอกจากนี้ สปส. ต้องเร่งรัดออกประกาศให้ผู้ประกันตนทุกคนทราบว่าหากต้องการตรวจหาเชื้อ หรือคนที่มีความกังวลว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อแล้ว จะต้องไปตรวจได้ที่ใด หรือต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อที่ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงการตรวจได้ และเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ประกันตน รวมถึงคนรอบข้างได้อีกด้วย

สารี กล่าวอีกว่า คนงานหรือพนักงานจำนวนมากเป็นวัยแรงงาน ซึ่งเมื่อติดเชื้ออาจจะเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงมากนัก และสามารถที่จะดูแลตัวเองที่บ้านได้ ดังนั้น ระบบ HI จึงมีความสำคัญ เพื่อการควบคุมโรคและควรทำให้กับทุกกลุ่ม ทั้งกับแรงงานในระบบและนอกระบบ อีกทั้ง สปส. ควรดำเนินการออกใบปลอดเชื้อ หรือใบที่ระบุว่าตัวเองไม่มีเชื้อแล้ว และสามารถที่จะกลับไปทำงานได้ ซึ่งตอนนี้ภาระตกอยู่กับผู้ประกันตนเป็นอย่างมาก ที่จะต้องเดินไปบอกกับคนอื่นว่าไม่มีเชื้อ กล่าวคือ ไม่มีกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้กับผู้ประกันตน ทั้งฝั่งนายจ้าง และ สปส. เลย

ทั้งนี้ สอบ. มีข้อเสนอไปยัง สปส. เพื่อเร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิด-19 ดังนี้

1) สปส. ต้องเร่งรัดพัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียน อย่างน้อยให้ได้ 300 – 400 คู่สาย เพื่อเปิดรับปัญหาของผู้ประกันตนที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

2) สปส. ต้องออกประกาศให้ผู้ประกันตนทุกคนสามารถไปตรวจคัดกรองที่หน่วยคัดกรองโควิดได้ในเครือข่ายของประกันสังคม หรือโรงพยาบาลคู่สัญญาทั้งหมด

3) สปส. ต้องออกมาตรการให้โรงพยาบาลคู่สัญญาทำระบบ HI หรือ CI ทุกแห่ง เพื่อรองรับผู้ประกันตนที่อยู่ในขั้นสีเขียว ที่สามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน

4) สปส. ต้องช่วยเหลือผู้ประกันตนทุกคน ทั้งผู้ประกันตนในมาตรา 33, 39 และ 40 ทั้งที่เป็นแรงงานคนไทย และต่างชาติ อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ

5) สปส. ต้องรีบจัดหาวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนให้เพียงพอ สำหรับแรงงานคนไทยและต่างชาติอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ


#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค