5 ทีมผู้ลงสมัคร์รับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม เปิดนโยบายเลือกตั้งและการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนให้เทียบเท่าสิทธิบัตรทองและข้าราชการ พร้อมสนับสนุนเปิดธนาคารแรงงานเพื่อลดปัญหาการกู้นอกระบบ
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้จัดเวทีสภาผู้บริโภค หัวข้อ ส่องนโยบายเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน โดยเชิญผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เข้าร่วมจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า, ทีม #3ขอต้องไปต่อ, ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) โดยทั้ง 5 ทีมได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการลงสมัครเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมและมุมมองต่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนด้านทันตกรรมและการรักษาโรคมะเร็งให้ทัดเทียมกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
หลังจาก 33 ปีที่มีการก่อตั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มานั้น นับเป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมสมัครลงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมและเป็นปีแรกที่ให้ผู้ประกันตนจะได้เลือกตั้งผู้แทนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น นโยบาย ดูแลงบประมาณ รวมถึงจัดการบริหาร “กองทุนประกันสังคม” และสิ่งนี้เป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้ประกันตนจะร่วมพัฒนาคุณภาพการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วย
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่าเวทีสภาผู้บริโภคครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินให้กับกองทุนประกันสังคมได้รับฟังข้อมูลและนโยบายต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตนเอง ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 นี้ จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคที่อยู่ในระบบประกันสังคมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมและเลือกผู้ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น
ในการแสดงวิสัยทัศน์ของแต่ละทีมนั้นมีการนำเสนอนโยบายของตนเองในแต่ละประเด็นไว้ได้อย่างน่าสนใจ เริ่มจาก ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้แทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ 27, 28, 29, 30, 31, 32, 33, 34) มีความคิดเห็นว่า ประกันสังคมเป็นสวัสดิการพื้นฐานสำหรับคนทำงานหนักและเป็นเครื่องหมายของประชาธิปไตย โดยมีสโลแกน คือ ‘ประกันสังคมก้าวหน้า ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ’ และมีนโยบายชูโรงถึง 14 ข้อ
ได้แก่ 1. เพิ่มค่าทำคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง จากเดิม 15,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน 2. เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก 0 – 6 ปี จาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน 3. เพิ่มเงินดูแลเด็ก 7 – 12 ปี จากเดิมที่ไม่มีให้ เป็นปีละ 7,200 บาท 4. ชดเชยการลา เพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท 5. เพิ่มประกันการว่างงาน สูงสุด 9 เดือน 6. ปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม เพื่อป้องกันการเสียประโยชน์ เมื่อ 60 เดือนสุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 โดยมีเป้าหมายให้ได้รับบำนาญไม่ตำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน 7. สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.99 ต่อปี 8. ขยายสิทธิประโยชน์คนพิการ ไม่ตัดสิทธิการใช้ร่วมกับสวัสดิการอื่น รักษาพยาบาลได้ทุกที่ 9. ประกันสังคมถ้วนหน้า พื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาวใน 2 ปี 10. พัฒนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่าราชการและบัตรทอง ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี 11. สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหมาจ่าย 17,500 บาท ตลอดการรักษา 12. ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคม 13. วางเงื่อนไขการลงทุน และบริษัทคู่สัญญา ต้องไม่กดขี่แรงงาน การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ ยึดโยงกับผู้ประกันสังคม 14. เป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ ไม่ผู้ติดกับระบบอุปถัมภ์ใด ๆ
“นโยบายต่าง ๆ ที่เสนอไปข้างต้น จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือจากทุกทีมที่ลงสมัครคณะกรรมการประกันสังคมและได้รับเลือกให้เป็นบอร์ดประกันสังคม งดดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี และนำงบประมาณในส่วนนั้นมาดูแลสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนทุกคน ฝากเลือกทีมประกันสังคมก้าวหน้า เบอร์ 27 – 33 ที่จะทำให้คนธรรมดาอย่างเราคิดฝันได้ วันที่ 24 ธันวาคม 2566 นี้ ไปเลือกตั้งทำให้ประกันสังคมไม่เหมือนเดิม” ษัษฐรัมย์ กล่าว
ทั้งนี้ จุดยืนหลักของทีมประกันสังคมก้าวหน้า คือ การรักษาพยาบาลหากสามารถขยับสู่มาตรฐานเดียวกับข้าราชการโดยใช้บัญชียาเดียวกันได้ ตัวยาบางตัวที่มีในบัญชียาข้าราชการแต่ไม่มีในบัญชียาประกันสังคมสามารถลดการสูญเสียได้ หากแก้กฎระเบียบนี้ได้ การรักษาพยาบาลจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่สามารถเป็นสิทธิยืนพื้นได้ และยกระดับการดึงสิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาใช้
ขณะที่ บูรณ์ อารยพล ผู้แทนทีม #3ขอต้องไปต่อ (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ 8, 21, 57, 58, 95, 177, 200) กล่าวว่า ทีมของตนเองมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบประกันสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่ผ่านมาตนเองทำงานมาทั้งหมด 20 ปี สัมผัสได้ว่าประกันสังคมมีมา 33 ปี มีแต่การบังคับ บังคับเข้า บังคับออก บังคับส่งเงินเข้ากองทุน ในขณะที่ตนเองมีความคิดเห็นว่าควรมีนโยบายที่ดีกว่านี้เพื่อให้เกิดความสมัครใจเป็นผู้ประกันตนแทนการบังคับเข้าระบบและต้องจ่ายให้แก่กองทุนประกันสังคม
ทั้งนี้ ทีม #3ขอต้องไปต่อ ได้ชู 3 นโยบายหลัก ได้แก่ ขอเลือก (ขอเลือกระหว่างบำเหน็จหรือบำนาญ) ขอกู้ (ขอกู้เงิน อย่างน้อยร้อยละ 50 ในส่วนของตนเอง) ขอคืน (ขอคืนเงินชราภาพร้อยละ 50 เพื่อนำไปลงทุนและใช้หนี้) นอกจากนี้ยังมีอีก 12 นโยบายที่ต้องการผลักดัน ได้แก่ 1. เลือกเงินชราภาพบำเหน็จหรือบำนาญได้ 2. ขอคืนเงินชราภาพร้อยละ 50 ได้ก่อนอายุ 55 ปี 3. ประกันสังคมค่ำประกันเงินกู้ร้อยละ 50 ให้ผู้ประกันตน 4. กองทุนประกันสังคมโปร่งใส รายงานผลดำเนินงานทุกเดือน 5. บำเหน็จชราภาพต้องได้ในส่วนของรัฐบาลทุกเดือนและทุกปี 6. รักษาพยาบาลฟรีกับ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง 7. เอกชนรักษาได้เดือนละ 2,000 บาท 8. การคำนวณบำนาญชราภาพที่เป็นธรรมกับทุกมาตรา มาตรา 33 และ 39 เลือกส่งสมทบได้ตามชอบ 9. ประกันสังคมดำเนินธุรกิจการเงินขนาดย่อมแก่ประชาชนทั่วไปได้ เช่นฝาก ถอน สินเชื่อ ขายประกัน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกันตน 10. มาตรา 40 ใช้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลได้ 11. ผู้รับบำนาญชราภาพไม่ถูกตัดสิทธิรักษาพยาบาลกับประกันสังคม 12. ประกันสังคม รับจดแจ้งและจัดเก็บรายชื่อผู้รับประโยชน์ (รับมรดก) ของผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบ
“ประกันสังคมเกิดก่อนบัตรทอง 12 ปี แต่กลับพัฒนาช้ากว่าบัตรทอง สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมล้าหลัง อาจต้องพึ่งพาหน่วยงาน อยากได้ยินคำว่าประกันสังคม บัตรทอง ข้าราชการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน” บูรณ์ กล่าว
ด้าน สุนทรี เซ่งกิ่ง ผู้แทนทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ เบอร์ 4 6 10 11 19 22 23) กล่าวว่า ทีมสมานฉันท์ฯ ต้องการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และยกระดับผู้ประกันตนมีสิทธิเท่ากันทุกมาตราและมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ทีมสมานฉันท์ฯ เป็นทีมที่มีคนทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตน ม.33, ม.40 อีกทั้งยังมีผู้นำแรงงาน และนักวิชาการ ที่รวมตัวกันเพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์แรงงาน และสนับสนุนให้สวัสดิการด้านสุขภาพให้เท่าเทียมสิทธิบัตรทอง
“เราต้องปฏิรูปตัวสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ มีกลไกการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้ และควรถูกเปิดเผยให้ผู้ประกันตนได้รับรู้ นอกจากนี้ต้องการให้สิทธิประโยชน์ของทุกมาตราเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้มีความคิดเห็นว่าผู้ประกันตนควรได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ใน 6 เดือน ของฐานค่าจ้าง หากอยู่ระหว่างการว่างงานไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม หรือการเพิ่มความคุ้มครองแรงงานหญิงนอกระบบหลังคลอด รวมถึงต้องการให้สิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมเท่าเทียมกับสิทธิอื่น ๆ” ผู้แทนทีมสมาพันธ์สมานฉันท์ฯ ระบุ
นอกจากนี้ยังมีนโยบาย ธนาคารแรงงาน เพื่อปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกันตนได้ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง ที่ผ่านมาผู้ประกันตนไปกู้เงินกับบริษัทเงินกู้ซึ่งคิดดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ต้องกลายเป็นหนี้ ในขณะที่กองทุนประกันสังคมกลับร่ำรวย จึงควรนำเงินมาช่วยผู้ประกันตนทั้งที่เขาเป็นเจ้าของกองทุนหากผู้ประกันตนสามารถกู้เงินของผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบได้เอง ในดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
“เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นทีมเราหรือทีมอื่น ๆ เมื่อได้รับเลือกจากผู้ประกันตนควรจะต้องเป็นข้อเสนอนโยบายที่มาจากผู้ประกันตนและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งเป็นพลังที่ทำให้เราขับเคลื่อนงานได้ นอกจากนี้เราต้องเชื่อมั่นว่าเรามาจากฐานของผู้ประกันตน สุดท้ายนี้ ทีมสมานฉันท์ฯ ขออาสาเข้าไปปฏิรูปประกันสังคม ด้วยการเชิญชวนผู้ประกันตนทุกคนออกมาเลือกตั้ง 24 ธันวาคม 66 นี้” สุนทรี กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้แทนทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ เบอร์ 83 – 89) ธีรสุวัฒน์ สิงหนิยม ชี้แจงว่า ทีมสภาองค์การลูกจ้างฯ ต้องการสร้างประกันสังคมให้สามารถดูแลผู้ประกันตนได้อย่างแท้จริง ผ่าน 9 นโยบาย ได้แก่ 1. เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 800 บาท เป็น 3,000 บาท 2. เพิ่มเงินบำนาญชราภาพ ให้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท 3. เพิ่มเงินกองทุนให้ผู้ประกันตนมีตัวเลือกที่มากขึ้น เช่น กองทุนบำนาญ บำเหน็จ หรือกองทุนชราภาพ 4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้มีดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย 5. เพิ่มเงินช่วยเหลือค่าปลงศพ จาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท 6. ปรับลดอัตราเงินสบทบเหลือร้อยละ 2.75 7. สร้างโรงพยาบาลประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน 8. ตั้งธนาคารผู้ประกันตน และ 9. ให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ
“นโยบายของทุกทีมเป็นนโยบายที่ดีที่ทำเพื่อผู้ประกันตน แต่การจะทำให้นโยบายได้รับการอนุมัติเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแต่ละนโยบายของเรามีที่มาที่ไปของข้อมูล รวมถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้และไม่สร้างผลกระทบให้กับฝ่ายใด และผมเชื่อว่าหากได้รับเลือกจากผู้ประกันตน จะช่วยสร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายให้ได้การยอมรับและสามารถผลักดันนโยบายให้เป็นจริงต่อไปได้” ธีรสุวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นการจัดตั้งธนาคารแรงงานนั้น ทีมสภาองค์การลูกจ้างฯ มีความคิดเห็นว่า จะต้องใช้เวลาในการจัดตั้งรวมถึงยังต้องแก้ไขกฎหมาย ขณะนี้จึงเกิดนโยบายการปล่อยสินเชื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อให้ผู้ประกันตนจ่ายสินเชื่อน้อยลง ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีและควรผลักดันต่อ เนื่องจากเป็นการนำเงินของผู้ประกันจนมาบริหารให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ยังต้องการผลักดันโรงพยาบาลประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ประกันตน อย่างไรก็ตาม ทีมสภาองค์การลูกจ้างฯ มีใจเพื่อผู้ประกันตน และจะขอยกระดับสวัสดิการประกันสังคมให้เป็นมาตรฐาน และเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้ประกันตนได้ผ่าน 9 นโยบายข้างต้น
ปิดท้ายที่ ศิริศักดิ์ บัวชุม ผู้แทนทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ เบอร์ 2 5 7 9 43 45 60) กล่าวว่า เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานเป็นทีมของตัวแทนคนทำงาน โดยการรวมตัวกันของพนักงานภาครัฐ ภาคเอกชน แรงงานนอกระบบ และแรงงานในระบบ ซึ่งจะมีการรณรงค์ส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการปฏิรูปประกันสังคม ทั้งนี้ นโยบายที่เห็นว่าควรเร่งทำด่วนหากได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสัง ได้แก่ 1. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน 2. สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ 3. ปฏิรูปการลงทุนประกันสังคม 4. พัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล และ 5. ขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน
สำหรับนโยบายธนาคารแรงงาน เป็นนโยบายที่สำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดเพื่อเป็นธนาคารเฉพาะกิจของคนทำงานและเพื่อบรรเทาให้ผู้ประกันตนไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ นอกจากนี้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล เป็นสิ่งที่ต้องเร่งผลักดัน โดยเฉพาะการผลักดันด้านสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม โดยมีจะมีการปรับอัตราค่ารักษาให้เท่าเทียมสิทธิอื่น และนอกจากนี้จะมีการสนับสนุนให้จัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับประกันสังคมเป็นนโยบายเร่งด่วน เนื่องจากหากมีโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนจะสามารถจัดการรูปแบบการให้บริการและสิทธิประโยชน์ได้ดีกว่าเดิม
“นโยบายที่เรานำเสนอมาจากความต้องการของผู้ประกันตนและมาจากคนที่มีความต้องการจริง ๆ เพราะเมื่อเราพบประเด็นปัญหาจะมีการศึกษาและนำมาสู่นโยบาย โดยนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการเสนอ คือ ธนาคารแรงงาน เพราะเรามองเห็นว่าพี่น้องแรงงานมีประเด็นปัญหาเหล่านี้ จึงควรมีธนาคารเฉพาะกิจเพื่อพี่น้องคนทำงาน แต่แน่นอนว่าการผลักดันนโยบายด้วยเสียงเดียวของพวกเราอาจไม่ดังมากพอ แต่มองว่าเสียงของผู้ประกันตนจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ จึงขอเชิญชวนผู้ประกันตนทุกคนออกมาเลือกตั้ง และเลือกผู้แทนที่จะมาปฏิรูประบบประกันสังคมให้โปร่งใสและเป็นธรรม” ศิริศักดิ์ กล่าว
เวทีเสวนา ปิดท้ายด้วยการเชิญชวนผู้ประกันตนที่ได้ลงทะเบียนเพื่อการใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่าลืมไปลงคะแนนเสียงเลือกทีมผู้สมัคร์ที่ตนเองชื่นชอบในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 นี้
สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/tccthailand/videos/319173390954874/