ดันมาตรการ “หน่วงเงิน” (Slow Payment) ลดเสี่ยงตกหลุมมิจฉาชีพ

สภาผู้บริโภคเสนอมาตรการ “หน่วงเงินก่อนโอน (Slow Payment)” เกิน 1 หมื่นบาท ธนาคารต้องชะลอ 1 ชั่วโมงก่อนอนุมัติจ่ายปลายทาง เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ลดผู้เสียหายจากปัญหามิจฉาชีพหลอกลวง พร้อมเดินหน้าผลักดันข้อเสนอนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) สภาผู้บริโภคจัดแถลงข่าว “หน่วงเงินก่อนโอน (Slow Payment) กลยุทธ์พิชิตมิจฉาชีพดิจิทัล” เพื่อสะท้อนเสียงของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงและทำให้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก รวมถึงการเสนอมาตรการและแนวทางเพื่อป้องกันภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

“หน่วงเงินก่อนโอน (Slow Payment)” เกิน 1 หมื่น ธนาคารต้องชะลอ 1 ชม. ก่อนอนุมัติจ่ายปลายทาง

เพื่อลดความเสียหายจากการที่ผู้บริโภคหลอกลวงและเพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงมาตรการ “หน่วงเงิน” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ทุกวันนี้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ถึงขั้นทำให้ผู้บริโภคสูญเงิน เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต ขณะที่บางรายถึงขั้นจบชีวิตตัวเองตามที่ปรากฏตามสื่อ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการ “หน่วงเงินก่อนโอน” หรือ Slow Payment โดยผู้ให้บริการทางการเงินหรือธนาคารการชะลอการโอนเงินที่มีจำนวนเกินกว่า 1 หมื่นบาท ไว้อย่างน้อย 30 – 60 นาที ก่อนที่จะอนุมัติและโอนเงินสู่บัญชีปลายทาง เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีเวลาในการตรวจสอบการธุรกรรมได้ก่อน และในระหว่างการชะลอเงินนั้น ธนาคารควรตรวจสอบบัญชีกับหน่วยงานอื่นว่ามีการขึ้นบัญชีมิจฉาชีพหรือไม่ ด้านผู้บริโภคหากพบว่าถูกหลอกลวงสามารถแจ้งไปยังธนาคารเพื่อขอเงินคืนได้

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องถูกต้องเป็นระบบพื้นฐาน (Set as Default) ไว้สำหรับทุกบัญชีธนาคาร เพื่อทำให้เงินของผู้บริโภคยังไม่ถูกโอนไปยังปลายทางหรือมิจฉาชีพในทันที โดยหากผู้บริโภคไม่ต้องการใช้บริการนี้ สามารถแจ้งหรือไปแสดงตัวที่ธนาคารว่าไม่ต้องการใช้มาตรการนี้ได้เช่นเดียวกัน

“สภาผู้บริโภคต้องการเห็นมาตรการหน่วงเงินเพื่อลดความเสียหายจากการถูกหลอกให้โอนเงินหรือถูกดูดเงินไป รวมถึงมาตรการที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับเงินคืนแบบเต็มจำนวนเช่นเดียวกับต่างประเทศที่มองเห็นว่าภัยออนไลน์เป็นปัญหาใหญ่และหนักหน่วงสำหรับผู้บริโภคมาก ในเมื่อเราอาจตามโจรไม่ทัน แต่มาตรการหน่วงเงินต้องทำให้โจรไม่สามารถเอาเงินของเราไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจด้วย” สารี ระบุ

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุอีกว่า หลักแนวคิดในการกำหนดจำนวนเงินในการหน่วงเงิน ที่มีการใช้ตัวเลข 1 หมื่นบาทนั้น เกิดจากข้อมูลที่พบว่า คนไทยซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากที่สุดในโลก เฉลี่ยการซื้อสินค้าต่อคนได้ประมาณ 1.7 หมื่นบาท/คน/ปี จากพฤติกรรมการทำธุรกรรมของคนทั่วไปจึงคาดว่าไม่น่าจะเกินกว่าตัวเลขของข้อมูลอ้างอิงข้างต้น ดังนั้น ตัวเลข 1 หมื่นบาทที่จึงเป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปกำหนดเป็นมาตรการหน่วงเงิน และหากผู้บริโภคโอนเงินเกินกว่ากว่าที่ระบุไว้จะทำให้เงินถูกหน่วงหรือถูกเก็บไว้กับธนาคารก่อนที่จะโอนให้ปลายทาง จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ที่เงินจะไม่ถูกโอนไปถึงมิจฉาชีพในทันทีและป้องกันไปถึงการที่มิจฉาชีพอาจโอนเงินออกไปยังบัญชีม้า

ในหลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาตรการป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์ ด้วยวิธีการหน่วงการจ่ายเงิน (Slow Payment) อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้บุคคลที่สามในการถือเงินของผู้บริโภคไว้ก่อน เมื่อผู้บริโภคกดยืนยันหรือยอมรับสินค้า ผู้ขายจะได้รับเงิน (Escrow Payment) ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับที่อยู่ในการซื้อสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ อย่างในช้อปปี้ (Shopee) หรือลาซาด้า (Lazada) ส่วนในสหภาพยุโรปและประเทศอังกฤษ ได้บังคับใช้กฎหมาย PSD2 (Payment Services Directive 2) ที่มีการกำหนดระยะเวลาในการหน่วงเงินของผู้บริโภค รวมถึงมีการกำหนดว่าหากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงนั้นควรจะได้รับเงินภายในกี่วัน เป็นต้น ซึ่งการกำหนดระยะเวลาการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภคถือว่ามีความก้าวหน้าในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ช่วยทั้งสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและลดภาระผู้บริโภคในการพิสูจน์ความเสียหายเหมือนกับในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้เผยว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีข้างต้นจำนวน 2,189 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกู้เงินแต่พบปัญหาเรียกเก็บดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ปัญหาการถูกดูดเงินจากการคลิกลิงก์ปลอม การหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์ ทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (Ai) ปลอมเป็นนักลงทุนชื่อดังและหลอกให้ลงทุน หรือการเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจปลอมเพื่อหลอกขายสินค้าทางออนไลน์ อ้างเป็นหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นแอปฯ ไม่ถูกกฎหมาย โดยในเรื่องร้องเรียนทั้งหมดนั้นสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคกว่า 294 ล้านบาท และสภาผู้บริโภคช่วยเหลือโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้บริโภคได้รับเงินคืนกว่า 42 ล้านบาท แต่ยังพบว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้รับคืนมาเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคจึงได้จัดทำข้อเสนอนโยบายไปถึงหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้ชื่นชมศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 ที่สามารถให้คำแนะนำและช่วยประสานงานระงับบัญชีกับธนาคารได้ แต่ทั้งนี้ต้องการให้มีตำรวจที่สามารถรับแจ้งความได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการต้องไปแจ้งความอีก รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ควรต้องรับผิดชอบกับผู้บริโภคในการร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นหนึ่งในช่องทางที่ปล่อยให้มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงผู้บริโภคหรือมีการปล่อยให้ซื้อโฆษณาเพื่อทำให้ผู้บริโภคเห็นคอนเทนต์ที่หลอกลวงมากขึ้น

นอกจากนี้ ภายในปีนี้ สคบ. เตรียมออกกฎหมายใหม่ “แกะดูสินค้าก่อนได้ แล้วค่อยจ่ายเงิน” เพื่อช่วยลดปัญหาซื้อสินค้าออนไลน์ แบบเก็บเงินปลายทาง แล้วได้ของไม่ตรงปก หากพบสินค้ามีปัญหาขอคืนเงินได้ภายใน 5 วัน ซึ่งเป็นหมุดหมายอันดีที่ สคบ. ได้รับลูกต่อจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี : MDES) และสภาผู้บริโภคได้ผลักดันแนวคิดการคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถ “เปิดก่อนจ่ายได้” ทั้งนี้ อยากให้กำลังใจผู้บริโภคในการออกมาร้องเรียนและใช้สิทธิผู้บริโภคของตัวเองมากขึ้น แม้หลายรายจะพบว่าไม่เกิดความสะดวกหรือได้รับการชดเชยเยียวยาที่ล่าช้า แต่หากออกมาร้องเรียนจำนวนมากก็จะทำให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ให้บริการเห็นว่าปัจจุบันผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากและหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

เสนอรัฐออกแบบเทคโนโลยีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ระบุว่า ในช่วงปี 2566 ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 เรื่องการถูกหลอกลวงเรื่องมิจฉาชีพออนไลน์ จากการจัดอันดับโดยแอปพลิเคชัน Whoscall คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 3 – 5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ซิมบ็อกซ์ (Sim Box) ซึ่งเป็นเครื่องมือแปลงสัญญาณโทรศัพท์ที่สามารถใส่ได้หลายซิมการ์ด และสุ่มโทรออกเพื่อหาผู้อื่นได้มากถึง 600,000 ครั้งต่อวัน เมื่อปัญหาเกิดขึ้นในวงกว้างจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างและนโยบาย รวมถึงมีการรณรงค์เชิงรุกและเตือนประชาชนล่วงหน้า แต่ยังไม่เห็นการดำเนินการดังกล่าวจากภาครัฐ

“เชื่อว่า กสทช. มีศักยภาพในการตรวจจับและตรวจสอบในเชิงป้องกันมากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาเตือนประชาชนว่าปรากฎการที่เรียกว่าซิมบ็อกซ์อยู่ และที่สำคัญคือการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ยังไม่เห็นกรรมการ กสทช. เลขาธิการหรือสำนักงาน ออกมาแถลงว่าจะมีนโยบายสาธารณะในการจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง จาก กสทช.” สุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ สุภิญญา มีข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องคลื่นความถี่และอุปกรณ์โทรคมนาคม ต้องทำงานเชิงรุกโดยการแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับซิมบ็อกซ์ 

2. ขอให้ กสทช. เปิดเผยข้อมูลหรือชี้แจงต่อสาธารณะว่า กระบวนการอนุญาตเรื่องซิมบ็อกซ์เป็นอย่างไร ที่ผ่านมามีผู้ได้รับอนุญาตกี่ราย ใครบ้าง รวมทั้งเปิดเผยผลการสุ่มตรวจและจับกุมผู้ที่ลักลอบนำซิมบ็อกซ์ไปใช้ในทางทุจริตด้วย

3. ขอให้ กสทช. จัดทำและชี้แจงต่อสาธารณชนว่าจะบูรณาการการทำงานกับภาครัฐที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการแสดงรายงานนโยบายสาธารณะในการจัดการเรื่องซิมบ็อกซ์และซิมม้าอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ กล่าวว่า เมื่อ 5 ปีก่อนเราอาจจะมีมาตรการเรื่อง พร้อมเพย์ (Prompt Pay) แต่ปัจจุบันพบว่าเป็นสิ่งที่เอื้อต่อมิจฉาชีพ นำไปสู่ความเสียหาย 50,000 กว่าล้านบาท ‘พร้อมเพย์ อาจจะกลายเป็น พร้อมพัง’ ได้ ดังนั้น การมีมาตรการหน่วงเงินก่อนโอน (Slow Payment) อาจจะเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการโอนเงิน 

“อยากให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงดีอีเอส ธนาคารแห่งประเทศไทย กสทช. ฯลฯ ร่วมกันออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งส่งเสริมเรื่อง Security by design & default ซึ่งเป็นการออกแบบที่คุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เป็นระบบพื้นฐานที่สามารถใช้ได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเอื้อต่อผู้สูงอายุ ที่จะคุ้มครองเขา เพราะผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ หรืออย่างน้อยทำให้การใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาเป็นชื่อของใครเพื่อป้องกันการรับสายจากมิจฉาชีพ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องควรที่มีฐานข้อมูลกลางของประชาชนอยู่แล้ว ควรบูรณาการความร่วมมือและทุ่มสรรพกำลังเพื่อคุ้มครองคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น” สุภิญญา ระบุ

นำกฎหมายต่างประเทศปรับใช้ในไทย ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอ

แม้ภาครัฐ ตำรวจไซเบอร์ สถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น ธปท. จะออกมาตรการเพื่อป้องกันภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์ รวมถึงมีการแจ้งเตือนภัยอย่างวต่อเนื่อง แต่มาตรการต่าง ๆ กลับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายน้ำหรือมาตรการเชิงรับมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอหรือออกมาตรการเชิงรุก ด้าน กมล กมลตระกูล อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค มีข้อเสนอเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ดังนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมต้องตรวจสอบด้านเทคนิคของระบบการสื่อสารต่าง ๆ ส่วนผู้ให้บริการทางการเงินควรมีการตรวจสอบให้รัดกุม หากพบการทำธุรกรรมที่มีความผิดปกติ ผิดสังเกต ควรมีการระงับการธุรกรรมเหล่านั้นไว้และแจ้งเตือนข้อมูลหรือสอบถามไปยังเจ้าของบัญชี ขณะที่หน่วยงานที่กำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องระงับการให้บริการแพลตฟอร์มที่ปล่อยให้เกิดการกระทำผิดบนแพลตฟอร์มหรือเป็นแพลตฟอร์มที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

มาตรการการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำนี้ จะเห็นได้ในประเทศสิงคโปร์และประเทศจีน โดยได้มีการปรับแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นและบังคับใช้ได้จริงในยุคที่ภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์ระบาดหนักทั่วโลก ได้แก่ การปฏิรูปกฎหมายต่อต้านมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ทางออนไลน์และไซเบอร์ (Cybersecurity Act) และ (Computer Misuse Act) ของประเทศสิงคโปร์ และกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ (The Cybersecurity Law) โดยการปรับแก้ไขกฎหมายของทั้งสองประเทศมีแนวคิดที่ว่า ทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นส่วนที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้น หากผู้ให้บริการเหล่านี้ขาดความรับผิดชอบ ไม่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหา หรือไม่มีระบบในการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลหรือเงินที่มากพอจนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ผู้ให้บริการต้องร่วมรับผิดชอบและได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย

ทั้งนี้ อนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค ทิ้งท้ายว่า การให้อำนาจกับหน่วยงานรัฐใดหน่วยงานหนึ่งในการกำกับดูแลและจัดการกับภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์เป็นสิ่งที่ต้องการเห็นในทันที เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายที่มาก และหน่วยงานรัฐควรมีการศึกษากฎหมายจากประเทศที่มีการแก้ไขปัญหาข้างต้น อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศจีน หรือประเทศสหรัฐอเมริกา และนำปรับมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคควรเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น เพราะขณะนี้มีผู้บริโภคหลายรายที่ต้องสูญเสียทั้งเงิน และบางรายถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือตัดสินใจจบชีวิตตัวเองที่เกิดจากความเครียด นอกจากนี้ กฎหมาย มาตรการ หรือกฎระเบียบที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นควรมีการกำหนดบทลงโทษที่สูงเพื่อให้ผู้ให้บริการเกิดความเกรงกลัวและร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

เสียงสะท้อนผู้เสียหาย กระทบหนักทั้งเงินหาย – สุขภาพจิต

อย่างไรก็ตาม ในเวทีแถลงข่าวนี้มีผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยทุจริตทางการเงินออนไลน์เข้าร่วมสะท้อนความคิดเห็น เริ่มจาก จำลักษณ์ สงค์ประชา ผู้เสียหาย เผยว่า ตัวเองถูกคอลเซ็นเตอร์โทรมาโดยสวมเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน และได้อ้างเรื่องปรับสภาพผู้ถือที่ดิน หลังจากนั้นให้แอดไลน์เพื่อดำเนินการโหลดแอปพลิเคชันกรมที่ดินเพื่อลงทะเบียนและถามเกี่ยวกับแอปลิเคชันธนาคารว่ามีธนาคารไหนบ้าง เมื่อแจ้งว่าไม่มีแอปฯ ใดเลย มิจฉาชีพจึงให้ติดตั้งแอปฯ เคพลัส และให้สแกนหน้าและเพื่อปลดล็อกแอปฯ เคพลัส และพบว่าได้รับแจ้งเตือนยอดเงินภายในบัญชีธนาคารกสิกรไทย ต่อมาโทรศัพท์ไม่สามารถควบคุมได้จึงสงสัยว่าถูกมิจฉาชีพหลอก และรีบโทรแจ้งระงับทุกบัญชีธนาคารที่มี จากนั้นจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจหลังและทราบว่ามิจฉาชีพได้โอนเงินจากบัตรเครดิตเคทีซี (KTC) เข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย รวมมูลค่าความเสียหาย 100,000 บาท

หลังจากพยายามดำเนินการไปด้วยตนเองมาหลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค และขอขอบคุณสภาผู้บริโภคที่ทำให้ไม่ได้รู้สึกว่าต้องสู้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้รู้ว่ายังมีสภาผู้บริโภคคอยผลักดันและช่วยเหลือในการดำเนินคดีต่อไป

“ตอนที่ไปแจ้งธนาคาร กลับมีคำพูดหนึ่งที่เจ้าหน้าที่บอกว่ามิจฉาชีพเก่ง แต่เมื่อเราย้อนถามว่า ธนาคารต้องเก่งกว่ามิจฉาชีพไหม ธนาคารกลับตอบไม่ได้ และธนาคารควรพัฒนาระบบให้มีการป้องกันที่ปลอดภัยกว่านี้ คุณเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ แต่กลับละเลยเรื่องความปลอดภัย ทั้งที่เราไม่มีแอปฯธนาคารกรุงไทย แต่มิจฉาชีพกลับเอาเงินจากบัตรเครดิต KTC เราไปได้” จำลักษณ์ ระบุ

ด้าน นพ สุขาภิรมย์ ผู้เสียหายอีกราย ได้เผยว่า ตัวเองถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์สวมรอยเป็นบริษัทขนส่งแฟลช อ้างว่าทำพัสดุเสียหายจะคืนเงินให้ 1,000 บาท สาเหตุที่ทำให้หลงเชื่อเนื่องจากมีลูกความส่งเอกสารมาให้ทางขนส่งแฟลชจริง หลังจากนั้นตนจึงแอดไลน์และติดตั้งแอปพลิเคชันแฟลช แต่เมื่อสแกนหน้าหลังจากนั้นควบคุมโทรศัพท์ไม่ได้ และดับไป เมื่อโทรศัพท์เปิดได้จึงเข้าแอปพลิเคชันเคพลัสแต่พบว่าเงินถูกโอนออกหมดบัญชี เมื่อรู้ว่าเงินหายหมดบัญชีจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ สภ. เมืองราชบุรี ทางตำรวจได้โทรแจ้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมทางออนไลน์ หรือศูนย์ AOC (Anti Online Scam Operation Center) สายด่วน 1441 เพื่ออายัดทันที แต่ตำรวจแจ้งว่าภายใน 11 นาที เงินก็สามารถถูกโอนไปหลายบัญชีและไปยังบัญชีต่างประเทศแล้ว

“ด้วยระยะทางที่ไปสถานีตำรวจใช้เวลา 20 นาที จึงไม่สามารถอายัดบัญชีได้ทัน ทั้งนี้ด้านตำรวจได้บอกว่าอย่าหวังว่าจะได้เงินจากทางตำรวจ กรณีเครื่องถูกแฮกต้องได้เงินคืนจากทางธนาคาร ตำรวจทำได้เพียงเอาคนร้ายมาลงโทษ และตำรวจยืนยันว่าผมไม่ผิด ผมจึงไปขอคำตอบจากทางธนาคาร แต่กลับไม่ได้คำตอบอะไรเลย” นพ ระบุ

DE ระบุแก้กฎหมายช่วยผู้บริโภคได้เร็วกว่าฟ้องศาล

ด้าน ยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี ระบุว่า กระทรวงดีอีได้จัดตั้งศูนย์ AOC สายด่วน 1441 เพื่อช่วยเหลือและรับมือภัยออนไลน์อย่างครบวงจรภายหลังการเกิดอาชญากรรม มีภารกิจหลักคือการอายัติเงินในบัญชีของมิจฉาชีพ โดยจะประสานงานระหว่างศูนย์ฯ ผู้เสียหาย และธนาคาร แล้วส่งข้อมูลเบื้องต้นต่อไปยังตำรวจ เพื่อแก้ช่วยร่นระยะเวลาดำเนินการ จากก่อนหน้านี้ที่ต้องแจ้งความก่อนแล้วค่อยไปหาธนาคาร ทำให้ไม่สามารถระงับบัญชีได้ทัน

ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดีอี เล่าถึงกระบวนการการทำงานและการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคของศูนย์ AOC ว่าเมื่อโทรศัพท์ไปที่สายด่วน 1441 ผู้เสียหายต้องให้ข้อมูลวิธีการของคนร้าย ลักษณะการหลอกลวง และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแจ้งว่าจะต้องการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจพื้นที่ใด หลังจบกระบวนการจะได้เลขเคส (Bank case ID) โดยข้อมูลจากการพูดคุยจะถูกส่งไปที่ระบบของ Thaipoliceonline ซึ่งเป็นระบบแจ้งความออนไลน์ของตำรวจ หลังจากนั้นผู้เสียหายต้องไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่เลือกไว้อีกครั้งหนึ่ง ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน

สำหรับประเด็นเรื่องการคืนเงิน นางสาวยุพาภรณ์ ระบุว่า แม้จะสามารถระงับบัญชีและหน่วงเงินไว้ได้ แต่เงินจะไม่ได้ไหลย้อนกลับไปยังผู้เสียหาย จึงเป็นกระบวนการที่ต้องหารือต่อไปว่าจะมีการคืนเงินผู้เสียหายอย่างไร ทั้งนี้ หากต้องการให้ผู้เสียหายได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็วต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากโดยปกติการคืนเงินที่มาจากการกระทำความผิดจะต้องเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลซึ่งใช้เวลานาน แต่หากมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกให้เกิดการตรวจสอบผู้เสียหายที่แท้จริงและเงินสามารถย้อนกลับไปสู่ผู้เสียหายได้

“ตอนนี้กำลังพัฒนาระบบ CFR Central Fraud Registry หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินผ่านระบบ (ระบบ ซึ่งทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งยิ่งประมวลผลได้เร็วเท่าไรก็จะสามารถป้องกันความเสียหายได้มากขึ้น” นางสาวยุพาภรณ์ ระบุ

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค