เตือนภัย “สารอันตรายในอาหารเสริม” คนกินเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินข่าวการบุกจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมสารอันตรายหลาย ๆ ยี่ห้อ ทั้งอาหารเสริมยี่ห้อลีน (LYN) หนึ่งในผลิตภัณฑ์เครือเมจิกสกิน โดยอาหารสริมยี่ห้อนี้แอบผสมสาร ‘ไซบูทรามีน’ เข้าไป ขณะนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 รายหลังกินอาหารเสริมยี่ห้อนี้เข้าไปด้วย หรือประเด็นการลักลอบใส่สาร ‘ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน’ ในผลิตภัณฑ์ ‘ชาร์มาร์ กลูต้า’ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา…

วันนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชวนทุกคนไปรู้จักกับสาร ‘ไซบูทรามีน และไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน’ สารอันตรายที่ไม่ควรใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่กินไปแล้วอาจเสี่ยงตาย คนขายเสี่ยงคุก

ทำไมถึงห้ามใช้ “ไซบูทรามีน – ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน”

สาร ‘ไซบูทรามีน (Sibutramine)’ เป็นสารอันตรายมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางในการควบคุมความรู้สึกหิว และทำให้อิ่มเร็ว ที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย หัวใจ และระบบโลหิตในคนที่บริโภคได้ และมีผลข้างเคียง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูกและยิ่งอันตรายในกลุ่ม ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับ รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์และ ให้นมบุตร

ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยกเลิกการใช้ไซบูทรามีนในตำรับยา มาตั้งแต่ปี 2553 เพราะมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงถึงแก่ชีวิต และประกาศให้เป็นสารที่อยู่ในการควบคุมพิเศษ จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559             

ในปัจจุบันแม้สารอันตรายจะถูกควบคุมอยู่ แต่เราก็ยังพบผู้ประกอบลักลอบใส่สารอันตรายลงในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสารอันตรายอีกตัวที่มักลักลอบนำมาใส่ในอาหารเสริมและโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยทำให้ผิวขาวขึ้นอย่าง ‘ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน’ ก็เป็นสารที่หากใช้จะเกิดอาการข้างเคียงตามมา เช่น ประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้

ใส่สารอันตรายในอาหารเสริม ผิดกฎหมาย

การใส่สารต้องห้าม หรือ สารที่ถูกควบคุมพิเศษ ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564* ซึ่งระบุว่า การนำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ไปผสมลงในผลิตภัณฑ์ หรือแปรรูป แปรสภาพเป็นอย่างอื่น ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย. ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีการเจือปนสารไซบูทรามีนยังเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522** มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อาหารเสริมไม่ใช่ยา ห้ามโฆษณาว่ารักษาโรค      

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ ‘อาหาร’ หรือ ‘ยา’ ดังนั้น จึงห้ามโฆษณาว่าใช้รับประทานแทนมื้ออาหาร หรืออ้างสรรพคุณในการรักษาโรค หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าลดความอ้วน หรือมีผลในทางยา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของยาอันตราย หรือโฆษณาเกินจริง             

และสำหรับใครที่ปัญหาในการลดน้ำหนักหรือต้องการมีผิวที่สวย ควรปรึกษาแพทย์และต้องใช้ยาภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น 

หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปที่สายด่วน อย. 1556 หรือแจ้งเบาะแส ร้องเรียนมาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้อีกทาง

  • แจ้งเบาะแส คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/inform.php
  • ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
  • ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
  • อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
  • อีเมล : [email protected]
  • โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564* 

มาตรา 42 ระบุว่า การนำวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ไปผสมลงในผลิตภัณฑ์ หรือแปรรูป แปรสภาพเป็นอย่างอื่น ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย. ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตามมาตรา 139)

มาตรา 94 กำหนดว่า ห้ามผู้ใด ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ครอบครอง หรือนำผ่าน ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท (ตามมาตรา 139)

มาตรา 96 ระบุว่า ห้ามผู้ใดจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปหรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์และยารวมกันหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้า เพื่อประโยชน์การค้า หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 149)

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522**

มาตรา 25 ห้ามมิใหผู้ใดผลิต นําเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายซึ่งอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งผู้ทีผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 59)


ที่มาข้อมูล :

https://bit.ly/3C7NZ3K, https://bit.ly/3rtZRbk, https://bit.ly/3V0r5np, https://bit.ly/3RO24cx