การบิดประเด็น “องุ่นไชมัสแคท” กับการกำหนดมาตรฐานที่ต้องอยู่บนหลัก “ป้องกัน” ไว้ก่อนนั้น เปรียบเหมือนบ้านเราหยิบไม้บรรทัดคนละอัน ถึงเวลาทุกฝ่ายต้องหยุดให้ข่าวเพื่อสร้างความสับสน และควรกลับตั้งคำถาม หามาตรการจัดการความเสี่ยง
ผลใหญ่ สีเขียวสดใส เนื้อกรอบ และฉ่ำน้ำ รสชาติหวานหอม คือลักษณะเด่นของ องุ่นไชน์มัสแคท ทำให้กลายเป็นหนึ่งพันธุ์ที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในบ้านเรา
องุ่นไชน์มัสแคท อย่างที่รู้กันว่า มีต้นกำเนิดจากการปรับปรุงพันธุ์ของประเทศญี่ปุ่น และเริ่มแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งวิธีทำให้องุ่นไร้เมล็ดมีเทคนิค โดยการใช้สารที่เพื่อปรับปรุงลักษณะทางกายภาพและสลายเมล็ดในองุ่นไชน์มัสแคท คือ กรดจิบเบอเรลลิก (Gibberellic Acid – GA3)
ข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุชัดว่า การได้รับสารชนิดนี้มากเกินไป (กรดจิบเบอเรลลิก) อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท และมีความเป็นพิษต่อตับ
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีข้อมูลอีกว่า มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมากระหว่างการเพาะปลูก เช่น สารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืช และสารควบคุมการเจริญเติบโต ซึ่งหากมีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานอาจส่งผลถึงผู้บริโภคได้
ก่อนที่องุ่นไชน์มัสแคทจะถูกพูดถึงในวงกว้างช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-Pan ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลทดสอบสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง จากการเก็บตัวอย่างทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการ จนพบว่า
- 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท หรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด มี 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบ เนื่องจากยกเลิก MRLs (Maximum Residue Limits ค่า ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่สามารถมีได้) แล้ว
- 42% ของสารพิษตกค้าง เป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของไทย
- 74% ของสารพิษตกค้าง เป็นสารดูดซึม มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น
สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย. ก็เคยตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างองุ่นนำเข้ามาแล้วเช่นกัน ในช่วงปี 2565 – 2567 แต่ไม่เป็นข่าวครึกโครมเท่าครั้งนี้!
กรมวิทย์ฯ และ อย. สุ่มตรวจองุ่นพันธุ์ต่างๆ รวม 27 ตัวอย่าง ทั้งนำเข้ามาจากชิลี เปรู ออสเตรเลีย อเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ในจำนวนนี้มีองุ่นไชน์มัสแคทจำนวน 8 ตัวอย่าง ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เพื่อตรวจวิเคราะห์ สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ด้วยเทคนิก GC-MS/MS และ LC-MS/MS ไกลโฟเซต และพาราควอต
ผลการตรวจวิเคราะห์ครั้งนั้น พบว่า มีองุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14.8 โดยเป็นองุ่นไชน์มัสแคท 3 ตัวอย่าง ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ 1 ตัวอย่าง และนำเข้าจากจีน 2 ตัวอย่าง และองุ่นแดงไร้เมล็ดนำเข้าจากเปรู 1 ตัวอย่าง
ไชมัทแคท พบสารตกค้างสูงกว่าองุ่นพันธุ์อื่น
และผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในองุ่นนำเข้า ยังพบการตกค้างของสารพิษที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง และข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการของโครงการมาตรฐานอาหาร เอฟ เอ โอ/ดับบลิว เอช โอ (Codex Alimentarius Commission, Joint FAO/WHO Food Standards Programme) จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 14.89
องุ่นที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน ได้แก่ องุ่นแดงไร้เมล็ด ร้อยละ 3.7 และองุ่นไชน์มัสแคท ร้อยละ 11.1 โดยองุ่นไชน์มัสแคทมีอัตราการตรวจพบและเกินเกณฑ์มาตรฐานสูงกว่าองุ่นพันธุ์อื่น ๆ
จากผลการวิเคราะห์ พบว่า ยังมีองุ่นที่นำเข้าที่จำหน่ายตามท้องตลาดมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ส่วนสารที่พบบ่อย 8 อันดับแรก ได้แก่ tebuconazole, thiamethoxam, chlorfenapyr, clothianidin, fluopyram, pyraclostrobin, I-cyhalothrin, tetraconazole และ สารตกค้างที่เกินเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 4 ชนิด 1.สารกำจัดแมลง ได้แก่ ethirimol chlorfenapyr 2.สารป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ thiamethoxam tetraconazole ตรวจพบปริมาณ 0.02 – 0.15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารฯ ระบุในท้ายผลการวิเคราะห์ด้วยว่า สารที่เกินเกณฑ์มาตรฐานนี้ตรวจพบในปริมาณน้อยและเป็นสารที่มีความเป็นพิษต่ำ และไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรเลือกซื้อองุ่นจากแหล่งที่เชื่อถือ ระบุที่มาของสินค้าได้
สภาผู้บริโภคศึกษาบทเรียนแนวทางจัดการในต่างประเทศ
ขณะที่ สภาผู้บริโภค ศึกษาแนวทางการจัดการผลไม้ เมื่อตรวจพบสารเคมีอันตราย ในยุโรป และจีน มีแนวทางที่แตกต่างกันตามมาตรฐานและกฎระเบียบของแต่ละประเทศ
1. แนวทางการจัดการผลไม้ในยุโรป
1.1 ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ EU (EFSA และ MRLs)
• สหภาพยุโรปมีการกำหนดค่ามาตรฐานสารตกค้างสูงสุด (MRLs) โดย EFSA (European Food Safety Authority)
• ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดของ EU และไม่ใช้สารเคมีที่ถูกแบน เช่น คลอร์ไพริฟอส
1.2 เพิ่มมาตรการควบคุมคุณภาพก่อนส่งออก
• ทดสอบสารตกค้างในผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน MRLs ที่ประเทศปลายทางกำหนด
• ใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป เพื่อลดความเสี่ยงการถูกปฏิเสธสินค้า
1.3 จัดการกระบวนการกักกันและเรียกคืน (Recall & Quarantine)
• หากพบสารเคมีเกินมาตรฐาน ควรเรียกคืนสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งหรือตามห้างร้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
• มีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถติดตามสินค้าได้ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูกจนถึงปลายทาง
1.4 การติดต่อกับหน่วยงานและคู่ค้า
• ประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลของ EU เช่น RASFF (Rapid Alert System for Food and Feed) ในกรณีที่ตรวจพบสารต้องห้าม
• แจ้งเตือนคู่ค้าทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายด้านความสัมพันธ์และชื่อเสียง
2. แนวทางการจัดการผลไม้ในจีน
2.1 ปฏิบัติตามมาตรฐานของ GACC และ MRLs ของจีน
• ศุลกากรจีน (GACC) มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจสอบสารตกค้างและการอนุญาตนำเข้า
• ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนด MRLs ของจีน ซึ่งอาจแตกต่างจากมาตรฐานยุโรปในบางส่วน
2.2 ตรวจสอบและเตรียมเอกสารรับรอง
• จัดเตรียมใบรับรองด้านคุณภาพ เช่น ใบรับรอง GAP, GMP หรือใบรับรองเกษตรอินทรีย์ หากเป็นที่ต้องการของตลาดจีน
• เพิ่มการทดสอบสารตกค้างในผลไม้ก่อนส่งออก เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของจีน
2.3 เสริมระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
• ใช้ระบบ QR Code บนบรรจุภัณฑ์สินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคและหน่วยงานจีนตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าได้
• รักษาความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเพื่อสร้างความไว้วางใจ
2.4 บริหารจัดการการกักกันและแก้ไขปัญหา
• หากพบปัญหาสารตกค้างระหว่างการตรวจ ณ ด่านนำเข้า สินค้าจะถูกกักกันและอาจถูกทำลายหรือส่งคืน
• ควรเตรียมแผนฉุกเฉินในกรณีที่สินค้าถูกปฏิเสธ เพื่อบริหารความเสียหายทางธุรกิจ
3. แนวทางร่วมสำหรับทั้งสองตลาด
1. ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และเกษตรอินทรีย์
• ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีอันตรายที่อาจถูกห้ามในหลายประเทศ
2. เฝ้าระวังสารเคมีต้องห้ามและสารใหม่ ๆ
• ติดตามกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงของทั้งยุโรปและจีนอย่างใกล้ชิด เช่น รายชื่อสารเคมีที่ถูกแบนเพิ่ม
3. เสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและคู่ค้า
• สร้างช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับหน่วยงานในประเทศปลายทางเพื่อจัดการปัญหาอย่างรวดเร็ว
4. เรียกคืนสินค้าและบริหารชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว
• เมื่อพบปัญหา ควรรีบจัดการกักกันหรือเรียกคืนสินค้า พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อป้องกันความเสียหายด้านความเชื่อมั่น
จะเห็นว่า การจัดการผลไม้เมื่อตรวจพบสารเคมีอันตรายในยุโรปและจีน การทำให้อาหารปลอดภัยจำเป็นต้องทำความเข้าใจในกฎระเบียบเฉพาะของแต่ละประเทศ และการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐาน เพื่อรักษาช่องทางการส่งออกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศระยะยาว
ข่าวองุ่นไชน์มัสแคท สังคมไทยต้องขอบคุณองค์กรภาคประชาสังคม ที่ออกมาทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร อีกขา แทนหน่วยงานภาครัฐ
แต่การบิดประเด็น องุ่นไชมัสแคท ให้สวนทางกับการกำหนดมาตรฐานที่ต้องอยู่บนหลัก “ป้องกัน” ไว้ก่อนนั้น วันนี้บ้านเราเหมือนหยิบไม้บรรทัดมาคนละอัน ฉะนั้น ถึงเวลาทุกฝ่ายต้องหยุดให้ข่าวเพื่อสร้างความสับสน และควรกลับตั้งคำถาม หามาตรการการจัดการความเสี่ยง ทั้งการตรวจตั้งแต่ประเทศต้นทาง กระบวนการกักกันและเรียกคืน การแสดงฉลากให้ชัดเจน ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ ณ ด่านอาหารและยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีการตรวจเจอสารเคมีตกค้างในผักผลไม้นำเข้า จำเป็นต้องมีการประกาศผลวิเคราะห์ต่อสาธารณชน
สุดท้าย สังคมไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอยู่เคียงข้างผู้บริโภคไม่มองการสุ่มเจอสารเคมีตกค้างในผลไม้ เป็นเรื่องน่าอับอาย หรือเป็นการจับผิดกันอีกต่อไป …