ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านพลังงานฯ เดือน ก.ย. 67

กฟผ. ส่งหนังสือชี้แจงภาระหนี้ของกฟผ. ต่ออนุบริการสาธารณะ พลังงานฯ ยอมรับมีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพื่อบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าช่วงปี 2565 – 2566 วงเงินรวม 1.1 ล้านบาท มีอายุเงินกู้อยู่ที่ 1 – 6% ปี อัตราดอกเบี้ย 2 – 4%

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 7/2567 มีการติดตามผลการดำเนินงาน 3 เรื่อง ได้แก่

1) การรับทราบผลการศึกษาแนวคิดและผลกระทบของนโยบายคาร์บอนเครดิต รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นงานลดความเสี่ยงจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งทั่วโลกเริ่มตระหนักปัญหาของคาร์บอนเครดิตที่ถูกนำเสนอด้านบวก แต่ขาดข้อมูลด้านผลกระทบ สหประชาชาติจึงให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ การออกข้อเสนอแนะที่จะลดการฟอกเขียวด้วยการให้กลุ่มทุนลดปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่การผลิตตนเองให้ได้ก่อน หรือการพยายามแสวงหาแนวทางลดคาร์บอนที่ไม่ใช่กลไกตลาด แต่ภาคประชาชนหลายกลุ่มเห็นว่า การพยายามปรับแก้ระบบตลาดคาร์บอนจะไม่ประสบความสำเร็จ และยังอยู่ในวังวนของการฟอกเขียวต่อไป

ทางออกคือการเลิกระบบตลาดคาร์บอน และผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและอื่น ๆ ลดเลิกการใช้พลังงานฟอสซิลโดยทันที และไม่มีการนำการลดคาร์บอนในลักษณะนี้มาสร้างแรงจูงใจที่จะกลับมาเสริมการใช้ฟอสซิลและทำลายนิเวศอีกต่อไป และข้อเสนอต่อรัฐบาล คือ ควรทบทวนแนวนโยบาย กฎหมายที่จะใช้ตลาดคาร์บอน และคาร์บอนเครดิตเป็นแนวทางหลักในการลดก๊าซเรือนกระจก และให้กำหนดนโยบาย กฎหมายให้มีทางเลือกการลดก๊าซเรือนกระจกที่กว้างกว่าตลาดคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต

2) รับทราบผลการให้ความเห็นต่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายลำดับรองของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการฯ เป็นผู้แทนของสภาผู้บริโภคในการเข้าให้ความเห็นต่อที่ประชุมที่กระทรวงพลังงานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 โดยได้เสนอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สร้างภาระให้ประชาชนเกินสมควร และกลายเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย นำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซล   

3) รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับภาระหนี้สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เกิดจากการชดเชยราคาค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงสภาผู้บริโภค เพื่อตอบข้อซักถามของคณะอนุกรรมการฯ เกี่ยวกับภาระหนี้สินของ กฟผ. ในการชดเชยราคาค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล และสถิติการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมงแบ่งตามกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อนำมาประกอบการจัดทำข้อเสนอต่อค่า Ft รอบเดือนมกราคม – เมษายน 2568

หนังสือของ กฟผ. ได้ชี้แจงว่า กฟผ. มีการดำเนินการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินสำหรับบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติราคาพลังงานในช่วงปี พ.ศ. 2565 – 2566 วงเงินรวม 110,000 ล้านบาท โดยมีอายุเงินกู้อยู่ที่ 1 – 6% ปี อัตราดอกเบี้ย 2 – 4% โดย กฟผ. ได้ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ถึง 31 กรกฎาคม 2567 แบ่งเป็น การชำระคืนเงินต้นจำนวน 38,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 3,200 ล้านบาท สำหรับสถิติการใช้ไฟฟ้ารายชั่วโมงแบ่งตามกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายประเภทนั้น กฟผ. ไม่มีข้อมูลดังกล่าว เนื่องจาก กฟผ. ขายไฟฟ้าในระดับขายส่งให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้เชิญ กฟผ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการประชุมครั้งถัดไป