สภาผู้บริโภคเสนอผลงานความสำเร็จปีงบฯ 66 ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ต่อสมาชิกวุฒิสภา พร้อมผลักดันมาตรการ/นโยบาย อุดปัญหาผู้บริโภค แต่ยังพบข้อจำกัดหลายด้าน ด้าน สว.ชื่นชม ให้กำลังใจการทำงาน พร้อมหนุนข้อเสนอนโยบายและจะร่วมผลักดันให้เกิดบังคับใช้ได้จริง เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค
สภาผู้บริโภคเข้ารายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สว.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ ‘สภาผู้บริโภคต้องรายงานผลการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อรัฐสภา’ โดยล่าสุดวันที่ 16 กันยายน 2567 สภาผู้บริโภคได้เข้ารายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา
เพื่อเน้นย้ำถึงความเป็นอิสระและสื่อสารถึงความแตกต่างของสภาผู้บริโภคและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ย้ำว่า สภาผู้บริโภคเป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ แต่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีบทบาทที่แตกต่างจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยมีการทำงานที่เน้นการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน พร้อมกับรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบ การเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงการฟ้องร้องคดีแทน
ทั้งนี้ แม้สภาผู้บริโภคจะไม่มีอำนาจออกประกาศเพื่อบังคับใช้กฎหมายโดยตรงเหมือนกับ สคบ. หรือหน่วยงานรัฐอื่น แต่สภาผู้บริโภคสามารถผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคไปถึงหน่วยงานภาครัฐได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การผลักดันประกาศที่เกี่ยวข้องที่อนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสินค้าได้ก่อนชำระเงินปลายทาง ซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นี้ โดยกฎหมายดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ได้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้นำเสนอความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคจากระยะเวลา 3 ปีที่ได้คุ้มครองผู้บริโภคว่า จนถึงปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามากว่า 48,101 เรื่อง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 675 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งคดีที่สภาผู้บริโภคฟ้องร้องแทนและคดีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการ จำนวน 132 กรณี อีกทั้งเพื่อขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่นั้น สภาผู้บริโภคสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้ถึง 328 องค์กร 19 หน่วยงานประจำจังหวัด และ 4 หน่วยงานเขตพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัด
ทั้งนี้ การทำงานที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างดีจากหน่วยงานรัฐหลาย ๆ แห่ง แต่ข้อเสนออีกจำนวนมากที่สภาผู้บริโภคเสนอไปยังหน่วยงานรัฐยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังพบข้อจำกัดในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ การไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ ปัญหาของผู้บริโภคมีความซับซ้อน โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่การถูกหลอกหรือถูกโกงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความไม่เท่าทันกับปัญหาผู้บริโภคยังเป็นปัญหาสำคัญที่แม้สภาผู้บริโภคจะมีคนที่รับรู้หรือเห็นข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปมากกว่า 30 ล้านครั้ง แต่ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิผู้บริโภค รวมถึงความเชี่ยวชาญและคุณภาพในการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนที่มีศักยภาพไม่เท่าเทียมกัน
“ปัจจุบันผู้บริโภคและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่หลวงในการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการ ‘จัดการกับภัยการฉ้อโกงและการหลอกลวงทางการเงินออนไลน์’ เพื่อลดความเสียหายแก่ผู้บริโภค การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพื่อป้องกันการหลอกลวงจากผู้ขายออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการผลักดันให้เกิด ‘เมืองที่เป็นธรรม (Justice City)’ ทำให้ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ในราคาที่เป็นธรรมทั่วประเทศ การผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองและผู้บริโภคมีสิทธิในการอยู่อาศัยได้ในสภาพแวดล้อมที่ดี” นางสาวสารี ระบุ และว่า ยังควรทำให้เกิด ‘ความยั่งยืนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร’ ตั้งแต่แหล่งผลิตสู่โต๊ะอาหารและมีผลักดันให้เกิดระบบการแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับอาหารที่ไม่ปลอดภัย รวมไปถึงการทำให้ ‘บริการสุขภาพมีความเท่าเทียม’ มีมาตรฐาน ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างมีคุณภาพ ประชาชนและลูกจ้างเข้าถึงสิทธิการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ และ ‘เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปี’ อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมกับระบบการศึกษาหรือการปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ร่วมอภิปรายการผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภค โดยภาพรวมของการอภิปราย ชื่นชมการทำงานของสภาผู้บริโภคที่มีข้อจำกัดหลายด้าน พร้อมกับการให้ข้อแนะนำการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา แสดงความเป็นห่วงการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และประเด็นการผูกขาด ที่รัฐควรส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นในธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด รวมถึงการค้าปลีกด้วย
ส่วนนายประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวชื่นชมสภาผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของผู้บริโภคได้อย่างดียิ่ง รวมถึงมีการหนุนเสริมการรวมกลุ่มกันของผู้บริโภคในพื้นที่ ทั้งการรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีต่าง ๆ และเสนอมาตรการสู่ระดับนโยบาย ทั้งนี้ ด้วยงบประมาณ 149 ล้านบาทที่ได้รับการสนับสนุนในปีงบประมาณ 2566 หากมองผลสำเร็จในเชิงประสิทธิภาพ สภาผู้บริโภคทำงานคุ้มทุน ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนได้อย่างมาก มองในเชิงประสิทธิผล การทำงานของสภาผู้บริโภคมีกลไกเปิดช่องการรับเรื่องร้องเรียน การขับเคลื่อนหลาย ๆ เรื่องนำสู่ข้อเสนอในระดับนโยบาย เช่น ข้อเสนอรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ขณะที่ข้อจำกัดการขยายองค์กรสมาชิกให้ครบทุกจังหวัดนั้น นายประภาส กล่าวว่า อาจติดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข หรืออาจต้องมีพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำแก่องค์กรสมาชิกที่จะมาจดแจ้ง
“การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค มีเสียงสะท้อนจากเครือข่ายเรื่องของความปลอดภัย ดังนั้นสภาผู้บริโภคต้องมีกลไก มีมาตรการปกป้องคุ้มครองคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วย” นายประภาส กล่าว
ด้าน นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา ที่สนับสนุนการมีองค์กรแบบสภาผู้บริโภค โดยมองว่า ปัจจุบันรัฐมีข้อครหาเอื้อกลุ่มทุน จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เชื่อว่าสภาผู้บริโภคที่เกิดจากการกลุ่มของเครือข่ายผู้บริโภคจะสามารถต่อรองกับกลุ่มทุนได้ โดยเฉพาะบทบาทการเคลื่อนไหวการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ค่าบริการหลังควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นหรือลดลง ประเด็นค่าไฟฟ้าแพง กองทุนบำนาญประชาชน ที่ขณะนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบาย ทำไมถึงถูกดองไว้โดยอ้างว่า เป็นนโยบายการเงิน รวมไปถึงปัญหาการฟ้องปิดปาก การแทรกแซงสื่อ
ขณะที่ นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา แสดงความเป็นห่วงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันที่พบบ่อยมีข้อกำหนดให้ผู้บริโภคกด “ยอมรับ” ในโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น ข้อความต่าง ๆ ต้องชัดเจน ผู้บริโภคต้องอ่านแล้วเข้าใจง่าย ทั้งรูปแบบ ขนาดตัวอักษร
ในประเด็นรถยนต์ไฟฟ้า นายสหพันธ์ รุ่งโรจนพณิชย์ สมาชิกวุฒิสภา แสดงความเป็นห่วงถึงอนาคตจะมีปัญหาการจัดการซากรถ ปัญหาแบตเตอรี่รถยนต์ ขณะที่พบว่า ระยะเวลาการใช้งานจริงไม่ตรงกับที่โฆษณาเอาไว้ ซึ่งควรมีการกำหนดมาตรฐาน ตรวจก่อนขายว่าบริษัทมีการโฆษณาตรงปกหรือไม่ก่อนจำหน่าย
ด้าน นายจำลอง อนันตสุข สมาชิกวุฒิสภา ฝากให้สภาผู้บริโภคติดตามเรื่องบ่อนกาสิโน พร้อมให้ช่วยสะท้อนถึงภาครัฐและให้ข้อมูลผู้บริโภคถึงข้อดี ที่เป็นมุมมองการนำรายได้เข้าประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และข้อเสีย ผ่านมุมมองอบายมุข ขัดศีลธรรม หากประเทศไทยจะมีบ่อนกาสิโน
นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาอีกหลายคน เห็นว่า การที่สภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปีแสดงถึงพลังของผู้บริโภคที่ตระหนักและลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เช่นเดียวกับจำนวนเรื่องร้องเรียน และจำนวนเรื่องที่สภาผู้บริโภคช่วยเหลือจนได้ข้อยุติ
ในประเด็นความปลอดภัยด้านอาหาร มีข้อเสนอให้สภาผู้บริโภคทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ช่วยกันคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้อย่างทั่วถึง 77 จังหวัด ส่วนประเด็นการนำเข้าสินค้า ผัก หรือผลไม้จากที่ทะลักเข้ามาตามชายแดนไทย อยากให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจเข้ม ยึด อายัด ตรวจสอบแต่ต้นทาง ทั้งเรื่องสารเคมีตกค้าง สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยร่วมมือทำงานกับภาคธุรกิจร่วมด้วย และในประเด็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้คุณภาพ หรือซื้อสินค้าแล้วไม่ถูกใจ อยากให้สามารถสินค้าคืนได้เหมือนในต่างประเทศ ขณะที่การรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค เสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวก และลดความซับซ้อน
ปิดท้ายหลังจากการอภิปราย เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ตอบคำถามของสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละประเด็น โดยสรุปดังนี้
1. เน้นบทบาทการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ : สภาผู้บริโภคยังคงใช้มาตรา 14 ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เพื่อตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐอย่างเข้มงวด หวังให้ปัญหาผู้บริโภค เช่น การซื้อสินค้าที่ไม่ตรงปก ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมรณรงค์ให้เกิดกฎหมายที่ให้สิทธิผู้บริโภคเปิดตรวจสอบสินค้าก่อนจ่ายเงิน แต่ปัจจุบันในหลาย ๆ ประเด็นที่ยังมีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคนั้น สภาผู้บริโภคยังไม่สามารถออกกฎข้อบังคับหรือบังคับให้หน่วยงานทำตามข้อเสนอนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่ส่งไปได้ จึงหวังว่าสมาชิกวุฒิสภาจะช่วยเป็นกระบอกเสียงร่วมผลักดันให้ข้อเสนอนโยบายฯ เหล่านี้เกิดการบังคับใช้ได้จริง
2. ส่งเสริมศักยภาพองค์กรผู้บริโภคให้เกิดขึ้นครอบคลุมทุกจังหวัด : สภาผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพขององค์กรสมาชิกระดับจังหวัดที่มีหน้าที่บริหารงาน โดยองค์กรผู้บริโภคที่จะขึ้นเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดได้จะต้องมีองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อย 5 องค์กรในจังหวัดนั้น ๆ และเน้นย้ำว่าองค์กรผู้บริโภคจะต้องมีศักยภาพในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในพื้นที่
3. ประเด็นบำนาญประชาชนและดิจิทัลวอลเล็ต : จากงานวิจัยเรื่องบำนาญประชาชน มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะนำเงินจากงบประมาณส่วนใดมาใช้ในการจัดทำบำนาญถ้วนหน้า โดยอาจเริ่มจากการให้สวัสดิการเริ่มที่ 1,500 บาท และค่อยปรับเป็นจำนวนที่อ้างอิงกับเส้นความยากจน คือ 3,000 บาท นอกจากจะทำให้ผู้สูงวัยมีศักดิ์ศรี ลดความเหลื่อมล้ำ มีเงินใช้ยามชราแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย ทั้งนี้ยังเป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันว่าควรทำเพื่อความมั่นคงด้านรายได้ของผู้สูงวัย แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นการผลักดันเท่าที่ควร
4. ติดตามการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต : สภาผู้บริโภคเฝ้าติดตามการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค รวมถึง AIS กับ 3BB อย่างใกล้ชิด พบว่า การกำกับดูแลผู้ให้บริการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่กรรม กสทช. ระบุไว้หลังจากอนุญาตควบรวมกิจการนั้นยังคืบหน้ามากเท่าที่ควรและยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้บริโภคยังพบปัญหาการได้รับบริการที่ไม่เป็นธรรม แพ็กเกจมีราคาที่แพงขึ้น หรือพบปัญหาเรื่องสัญญาณ
5. การทุ่มตลาดและราคาสินค้าเกษตร : ขณะนี้สภาผู้บริโภคได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ซึ่งยังพบปัญหาที่กรรมการในกิจการต่าง ๆ ไม่มีผู้แทนผู้บริโภค แทนที่จะเป็นกลไกสนับสนุนผู้บริโภค แต่กลับกลายเป็นกลไกที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจได้รับประโยชน์ ส่วนเกษตรกรกลับไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร
6. ความร่วมมือด้านดิจิทัลและปัญหาการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ : ความร่วมมือในอาเซียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัลและเอไอ คาดว่าในอนาคตจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันแนวทางป้องกันกับปัญหาเหล่านี้ได้ รวมถึงสามารถทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เห็นทิศทางที่ดีในการผลักดันให้แพลตฟอร์มในประเทศจดแจ้งหรือขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งยังพบว่าบางแพลตฟอร์ม อาทิ เมต้า (Meta) ที่จดแจ้งแพลตฟอร์มไม่สอดคล้องกับการดำเนินการในปัจจุบัน เนื่องจากมีการเปิดให้ขายสินค้าออนไลน์แต่กลับจดแจ้งเป็นเพียงสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เท่านั้น
7. พร้อมผลักดันหลักสูตรผู้บริโภค เข้าระบบการศึกษา แต่ยังติดข้อจำกัดหลายอย่าง : องค์กรของผู้บริโภคเคยผลักดันและนำหลักสูตรคุ้มครองผู้บริโภคหรือที่เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่พบว่ายังมีข้อจำกัดหลายด้าน และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้อยู่ในภาคการศึกษา ปัจจุบันจึงมีความพยายามจัดทำหลักสูตรให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงสมาชิกของสภาผู้บริโภคได้เรียนรู้
8. การฟ้องปิดปากและคุ้มครองผู้บริโภคในการรีวิวสินค้า : ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันและพัฒนากฎหมายฟ้องปิดปาก ร่วมกับนักวิชาการ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคพบว่ามีผู้บริโภคหลายรายที่ถูกฟ้องปิดปากจำนวนมากจากการรีวิวสินค้าหรือให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภครายอื่น จึงเรียกร้องให้ผู้บริโภคที่พบปัญหาลักษณะนี้สามารถเข้ามาร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภคได้ แม้จะถูกฟ้องหรือเป็นจำเลยในชั้นศาลแล้ว สภาผู้บริโภคยังคงเป็นเพื่อนผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในกระบวนการยุติธรรมได้ ทั้งนี้ยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อกำหนดหลักการสัญญาที่เป็นธรรมให้สัญญาทุกประเภทอ่านเข้าใจง่าย และคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อเกิดกรณีข้อสัญญาไม่เป็นธรรม โดยหากพบว่าข้อสัญญาไม่เป็นธรรม การทำสัญญาเหล่านั้นจะเป็นโมฆะ
9. การร้องเรียนผู้บริโภคมีอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ : แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานอื่น ๆ หรือสภาผู้บริโภคจะมีช่องทางในการร้องเรียน แต่ยังพบว่าจำนวนผู้ร้องเรียนยังมีอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่มีอัตราการร้องเรียนปัญหาด้านโทรคมนาคมจำนวนกว่า 2 แสนราย ขณะที่เรื่องร้องเรียนรวม 3 ปีของสภาผู้บริโภครวมทั้ง 8 ด้าน ยังอยู่ที่ 4.8 หมื่นราย ดังนั้น อยากเรียกร้องให้ทุกคนในฐานะผู้บริโภคหวงแหนสิทธิของตนและใช้สิทธินี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการร้องเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยสภาผู้บริโภคจะพยายามนำเสนอความสำเร็จในการใช้สิทธิของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดกรณีตัวอย่างและเผยแพร่เพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลเหล่านี้
10. ระบบเตือนภัยพิบัติ : ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้เสนอให้มีการผลักดันระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ โดยได้ทำจดหมายถึงกระทรวงมหาดไทย และ กสทช. เพื่อให้จัดตั้งระบบเตือนภัยพิบัติอย่างเป็นทางการ ขณะนี้ทราบว่ากำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนด (TOR) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
11. ความปลอดภัยทางอาหาร : ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารซึ่งควรจะทำให้เกิดความปลอดภัย แต่ตอนนี้กลับพบข่าวความไม่ปลอดภัยของอาหารเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ขณะนี้สภาผู้บริโภคได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังและเตือนภัยผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารไม่ปลอดภัย นำร่องใน 7 จังหวัด นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคเป็นพันธมิตรกับไทยแพน (Thai-PAN) ในการตรวจสอบผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายในประเทศ และความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค พยายามทำให้เห็นแหล่งที่มาและต้นตอของอาหาร โดยอยากเห็นมาตรการการนำสินค้าที่อันตรายออกจากตลาดภายใน 24 ชั่วโมงในประเทศ เช่นเดียวกันกับผักชีที่หากพบสารเคมีเกินในทวีปยุโรป จะมีการนำออกจากตลาดภายใน 24 ชั่วโมง
12. การลดการผูกขาดของสถานีชาร์จและมาตรฐานรถไฟฟ้า : ขณะนี้สภาผู้บริโภคกำลังจัดทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องรถยนต์ไฟฟ้า ประโยชน์และอันตรายของรถไฟฟ้า รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับการลดการผูกขาดของสถานีชาร์จ ซึ่งส่วนนี้สภาผู้บริโภคจะรับโจทย์ไปเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ต่อเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
13. ร่วมมือทนายความ ฝึกอบรมนักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค : แม้ปัจจุบันสภาผู้บริโภคจะมีองค์กรสมาชิกไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่สภาผู้บริโภคได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ฝึกอบรมนักกฎหมาย ทนายความที่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้
14. การใช้อำนาจของสภาผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาผู้บริโภค : สภาผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในทุกด้าน และมีบทบาทสำคัญในการเสนอข้อแนะนำและข้อสังเกตต่อการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ข้อเสนอการศึกษาและให้ข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการจะมีกาสิโนในไทยนั้น สภาผู้บริโภคจะรับโจทย์ของสมาชิกวุฒิสภาไปดำเนินการ