วันนี้ (27 ตุลาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ชะลอการดำเนินการควบรวมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ได้ดำเนินการแจ้งผลการลงมติของ กสทช. ต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยเหตุผลที่ว่าขณะนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคอยู่ระหว่างเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีมติของ กสทช. ที่เป็นการ “รับทราบ” การควบรวมในครั้งนี้อาจผิดกฏหมาย และขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยเพิกถอน มติ กสทช. อาจสร้างผลกระทบต่อผู้ลงทุนในบริษัททั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนรายย่อย
และก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ส่งหนังสือให้ กสทช. ทบทวนมติ “รับทราบ” การควบรวม และให้ชะลอการแจ้งมติไปยังบริษัททั้งสอง แต่สำนักงาน กสทช. ก็ยังคงดำเนินการแจ้งมติ ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กรณีมติที่ขัดต่อข้อกฏหมายของ กสทช. ในขณะที่เตรียมคำร้องขอไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง
นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคยังได้ย้ำเตือนต่อ ก.ล.ต. ว่าบริษัททั้งสองยังไม่ได้กล่าวคือ ยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งเชิญประชุมและจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญของทั้งสองบริษัทร่วมกัน ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 อย่างครบถ้วน จึงยังไม่อาจดำเนินการควบรวมกิจการได้
นอกจากอาจขัดต่อกฎหมายแล้ว การลงมติของกรรมการกสทช. ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการผูกขาดของสองเจ้าใหญ่ (Duopoly) โดยขาดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาที่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น ขาดการพิจารณารายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศที่สำนักงานว่าจ้างอย่างครบถ้วน ไม่ให้ความสำคัญกับการพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการที่ตนเองแต่งตั้งทั้ง 4 คณะที่มีข้อเสนอให้กสทช. ไม่อนุญาตให้ควบรวมและส่งผลกระทบต่อการผูกขาด
หรือข้อเสนอของนักวิชาการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 97 คน ที่เสนอให้ไม่ควบรวมธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อีกทั้งไม่จัดให้มีการรับฟังความเห็นถึงมาตรการเยียวยาหากมีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ จึงทำให้มาตรการเฉพาะ 5 ประการที่ได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. ไม่เกิดประโยชน์กับการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้จริง สุดท้ายส่งผลต่อภาระของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้นสูงสุดถึง 244.5 เปอร์เซ็นต์ และทำให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีติดลบสูงถึง 1.99 เปอร์เซ็นต์ หากมีการฮั้วกันของสองบริษัทที่เหลือ ตามผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และสอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดภาวะถดถอยของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล คนจนหรือกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงบริการหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังมีผลกระทบต่อผู้บริโภค สาธารณะเป็นวงกว้างทั้งด้านราคาค่าบริการ ทางเลือก และการเข้าถึงบริการของประชาชนในการลงมติครั้งนี้
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากหากมีการควบรวมกิจการไปแล้ว จะมีผลทำให้บริษัทเดิมทั้งสองบริษัทสิ้นสภาพไป และหากต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนมติของ กสทช. ก็จะมีผลต่อการควบรวมกิจการที่ดำเนินการไปก่อนโดยไม่รอฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่หลักจากการควบรวมกิจการทั้งในด้านการบริหารจัดการและด้านใบอนุญาตการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจาก กสทช. ซึ่งจะมีผลนำมาสู่วิกฤติของบริษัทใหม่ได้และจะมีผลกระทบวงกว้างต่อนักลงทุนในบริษัทดังกล่าว
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงขอให้ ก.ล.ต. ใช้อำนาจและดำเนินการตามหน้าที่เพื่อป้องกันและยับยั้งความเสียหายดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อนักลงทุนได้