เปิดสถิติเรื่องร้องเรียน “มิจฉาชีพหลอกดูดเงิน” ตั้งแต่ปี 2565 – 2567 ของสภาผู้บริโภค และหน่วยประจำจังหวัด พบปัญหาผู้บริโภคถูกมิจฉาชีพหลอกดูดเงิน จำนวน 101 กรณี มูลค่าความเสียหายรวมถึง 54 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากกรณีเรื่องร้องเรียน สภาผู้บริโภค ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคจนยุติแล้วจำนวน 44 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษา การจัดการปัญหา โดยแนะนำให้ผู้บริโภคแจ้งความที่สถานีตำรวจและประสานสถาบันการเงินเพื่อติดตามอายัดเงินในบัญชี หรือ ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และมีการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านการฟ้องคดี จำนวน 15 กรณี
มิจปลอมเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ขึ้นอันดับหนึ่งเรื่องร้องเรียน
จากสถานการณ์ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา พบว่า มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินมากที่สุด จำนวน 21 กรณี รองลงมาคือ เจ้าหน้าที่ธนาคาร จำนวน 18 กรณี และ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า จำนวน 11 กรณีนอกจากนี้ ยังมีแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ หรือบริษัทต่าง ๆ เช่น พนักงานบริษัทขนส่ง พนักงานสายการบิน บริษัทประกัน หรือ SMS ลิงก์รับรางวัล
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากเรื่องร้องเรียนที่สภาผู้บริโภคได้รับ ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้ทำสำรวจความเห็นผู้บริโภคถึงความเห็นว่ามิจฉาชีพหลอกดูดเงินคนไทย แอบอ้างโดยสวมบทบาทว่าเป็นใครมากที่สุด ผ่านทางช่องทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เอ็กซ์ ผลสำรวจจากทั้งหมด 195 เสียง ผู้บริโภคมีความเห็นว่า มิจฉาชีพแอบอ้างเป็น เจ้าหน้าที่ธนาคาร และขนส่งมาเป็นอันดับหนึ่งและสอง จำนวน 78 เสียงเท่ากัน และอันดับสาม คือ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า จำนวน 21 เสียง ส่วนความเห็นอื่น ๆ จะเป็น กรมที่ดิน กรมบัญชีกลาง และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ
ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ราวกับใบปลิวแจกฟรี
สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ เพราะมิจฉาชีพสามารถบอกรายละเอียดส่วนตัว เช่น กรณีแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน มิจฉาชีพก็มีข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับกรมที่ดินอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น มีข้อมูลเกี่ยวกับเลขที่โฉนดที่ดินของผู้บริโภค ข้อมูลเนื้อที่บ้านและชื่อผู้ครอบครองที่ดิน เป็นต้น
กรณีแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือคอลเซ็นเตอร์ธนาคาร ผู้บริโภคพบปัญหาถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรแจ้งว่าบัญชีมีปัญหา ให้ตรวจสอบเงินในบัญชี โดยหลอกให้โหลดแอปพลิเคชัน และทำรายการตามที่แจ้งเพื่อดูดเงินออกจากบัญชี โดยมิจฉาชีพมีข้อมูลชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร และบางกรณีอาจมีข้อมูลของคนสนิทหรือญาติของเหยื่อมาอ้างอิงซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นไปอีก ส่วนกรณีแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ที่สร้างอุบายว่าจะมีการคืนเงินค่ามิเตอร์ไฟฟ้า ให้ผู้บริโภคกดลิงก์ เพื่อกรอกข้อมูลคืนเงิน เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อ และหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อดูดเงินจากบัญชี
ทุกกรณีที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคต่างมีข้อสงสัยว่า มิจฉาชีพได้ข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหนกัน แล้วใครต้องรับผิดชอบกับข้อมูลที่รั่วไหลนี้ เพราะที่ผ่านมามีเพียงผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด
ถูกดูดเงินจากบัญชี ใครต้องรับผิดชอบ
แม้ว่า ตามกฎหมาย ธนาคารควรรับผิดชอบเงินที่หายไปจากบัญชีลูกค้า แต่ปัจจุบันสภาผู้บริโภคพบว่าปัญหาเหล่านั้นถูกผลักภาระมาให้ผู้บริโภค เนื่องจากธนาคารปัดความรับผิดชอบและโยนความเสียหายให้ผู้บริโภค ทั้งที่ตามสัญญาฝากเงินในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการทางด้านการเงิน มีหน้าที่ในการรับฝากเงินและดูแลเงินของผู้บริโภค โดยเงินที่ฝากนั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร หากเงินหายออกไปจากบัญชี ธนาคารจึงถือเป็นผู้เสียหายและธนาคารต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ผู้บริโภคฝากเงินไปเท่าไหร่ก็ต้องได้เงินคืนไปเท่านั้น เว้นแต่ผู้ฝากเงินจะมีส่วนประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า โดนสถาบันการเงินฟ้อง เนื่องจากไม่ได้ชำระค่าบริการตามรายการที่ถูกมิจฉาชีพหลอกดูดเงินออกจากบัตรเครดิตธนาคาร
แม้ว่า ผู้บริโภครู้ตัวและรีบติดต่อธนาคารและแจ้งความทันที เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าผู้บริโภคได้รีบดำเนินการเมื่อทราบเหตุ แต่กลับถูกสถาบันการเงินฟ้องร้อง รวมถึงมุมมองที่ว่าเงินในบัตรเป็นความรับผิดชอบของธนาคาร เพราะฉะนั้น ธนาคารจึงควรมีมาตรการยับยั้งเพื่อป้องกันการฉ้อโกง มีระบบเครือข่ายที่สามารถระงับหรือยับยั้งธุรกรรมที่น่าสงสัยได้ทันที ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้บริโภคผ่านการฟ้องร้องเช่นนี้
หยุดปัญหาดูดเงิน ด้วยมาตรการหน่วงเงิน
เพื่อลดความเสียหายและเพิ่มการป้องกันแก่ผู้บริโภค ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค ได้เสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการ แนวทางการป้องกันปัญหา รวมถึงข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ เสนอให้ดีอีจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ แจ้งความออนไลน์ 24 ชั่วโมง เสนอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจนเกิดความเสียหาย เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นชอบหลักการเยียวยาผู้เสียหายโดยเร็ว
แต่ที่ผ่านมา มาตรการต่าง ๆ ยังไม่สามารถยับยั้งการโจรกรรมทางการเงินที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ทำให้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภคจึงเสนอมาตรการใหม่ที่คาดว่าจะช่วยลดคดีมิจฉาชีพหลอกดูดเงินอย่างได้ผล นั่นคือมาตรการ “หน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction)” หากมีการโอนเงินหรือมีเงินจากปัญชีเกิน 1 หมื่นบาท ธนาคารต้องชะลอ 24 ชั่วโมงก่อนอนุมัติจ่ายปลายทาง เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้บริโภคได้มีเวลาตรวจสอบว่าเป็นธุรกรรมทางการเงินที่สุจริต ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือไม่ และต้องแจ้งเตือนโดยทันทีที่มีการโอนเงินเกิน 10,000 บาทไปยังผู้บริโภค ทั้งนี้การชะลอการโอนเงินเพื่อตรวจสอบเป็นเป้าหมายเพื่อลดผู้เสียหายจากปัญหามิจฉาชีพหลอกลวง และเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้มีข้อยกเว้น หากผู้ใดมีความจำเป็นต้องทำธุรกรรมออนไลน์เกิน 1 หมื่นบาท ก็สามารถติดต่อธนาคารเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขนี้ได้
สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภค ได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สภาผู้บริโภค tcc.or.th ไลน์ออฟฟิเชียล @tccthailand อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคต่อไป