Getting your Trinity Audio player ready... |

บัญชีถูกดูดเงินโดยไม่รู้ตัว แต่กลับถูกฟ้องเรียกหนี้เกือบแสน พร้อมดอกเบี้ย 16% ต่อปี แม้ศาลแขวงชัยภูมิพิพากษายกฟ้องเพราะไม่มีเจตนา แต่เส้นทางสู่ความเป็นธรรมยังเต็มไปด้วยภาระของผู้บริโภค
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ จำลักษณ์ สงค์ประชา ผู้บริโภคจากจังหวัดชัยภูมิ ได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ แจ้งเรื่องการปรับปรุงข้อมูลการถือครอง พร้อมข้อมูลที่ทำให้เชื่อถือได้ ทั้งชื่อมารดา วันโอนกรรมสิทธิ์ และขั้นตอนทางราชการ
ขณะนั้นเธอกำลังเดินทางไปช่วยงานวัดกับพระน้องชาย โดยใช้โทรศัพท์มือถือธรรมดา ไม่มีแอปพลิเคชันธนาคาร ไม่มีอินเทอร์เน็ต และแทบไม่เคยทำธุรกรรมออนไลน์ เมื่อปลายสายส่งลิงก์มาทางไลน์ เธอจึงให้พระช่วยกดลิงก์และทำตามคำแนะนำ โดยไม่รู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของการตกเป็นเหยื่อ
หลังจากนั้น เงิน 85,000 บาทจากบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทยถูกโอนเข้าบัญชีกสิกรไทย และถูกถอนออกทันที นอกจากนี้ ยังมีเงินอีกราว 15,000 บาทที่ถูกดูดออกจากบัญชีกสิกรไทยของเธอโดยตรง รวมความเสียหายทั้งหมดราว 100,000 บาท
แม้จะรีบแจ้งธนาคารและแจ้งความทันทีหลังรู้ตัวว่าอาจตกเป็นเหยื่อ ไม่นานหลังจากนั้น เธอกลับได้รับหมายศาลจากบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องเรียกหนี้จำนวน 94,883.64 บาท พร้อมดอกเบี้ย 16% ต่อปี โดยอ้างว่าเธอเป็นผู้ทำธุรกรรมผ่านแอปฯ เอง
หลังเกิดเหตุ จำลักษณ์ได้รับลิงก์ข้อมูลจากเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการร้องเรียนต่อสภาผู้บริโภค ระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำธุระ เธอจึงตัดสินใจแวะเข้ามาขอคำปรึกษาด้วยตัวเอง เพราะเห็นว่าสภาผู้บริโภคเคยให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในคดีลักษณะเดียวกัน ซึ่งสภาผู้บริโภคได้จัดทีมทนายความให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในชั้นศาล
ขณะเดียวกันจำลักษณ์ยังสะท้อนว่า ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน ถูกหลอก ถูกดูดเงิน และสุดท้ายต้องเป็นฝ่ายถูกฟ้อง ทั้งที่ไม่ได้ก่อหนี้เอง หลายคนไม่มีแรง ไม่มีเวลา หรือขาดความรู้ทางกฎหมายเพียงพอที่จะต่อสู้ด้วยตัวเองในชั้นศาล
“หลายคดีก็ยกฟ้องเหมือนกัน แต่ธนาคารก็ยังเดินหน้าฟ้องต่อ” เธอระบุ พร้อมย้ำว่ามีผู้บริโภคอีกไม่น้อยที่ถูกบีบให้ยอมจ่าย ทั้งที่ไม่ควรถูกฟ้องตั้งแต่แรก
ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดี เธอให้การต่อศาลว่า เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก ได้รีบโทรแจ้งธนาคารกรุงไทยและแจ้งความออนไลน์ทันทีตามขั้นตอนที่รู้ ณ เวลานั้น โดยยืนยันว่าไม่เคยสมัครใช้แอปฯ ไม่เคยยื่นขอสินเชื่อ และไม่เคยทำธุรกรรมใดตามที่ถูกกล่าวอ้าง
เมื่อศาลแขวงจังหวัดชัยภูมิพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาในการก่อหนี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรม และได้แจ้งเหตุโดยทันทีหลังเกิดความเสียหาย อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกถอนเงิน จึงมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” แต่แม้จะชนะคดี เงิน 15,000 บาทที่ถูกถอนออกจากบัญชีกสิกรไทยยังไม่สามารถติดตามกลับคืนได้ และเธอก็ไม่เคยได้รับคำชี้แจงหรือคำขอโทษจากธนาคารใด
กรณีของจำลักษณ์เป็นหนึ่งในหลายคดีที่สภาผู้บริโภคเข้าให้ความช่วยเหลือ เช่น คดีในศาลแขวงขอนแก่น เชียงใหม่ และระยอง ซึ่งศาลล้วนพิพากษายกฟ้องโดยพิจารณาจากเจตนาของผู้บริโภค ความรวดเร็วในการแจ้งเหตุ และการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรม
เสียงสะท้อนจากผู้เสียหายและข้อเสนอจากภาคประชาชน ทำให้ภาครัฐเริ่มขยับ ผ่านพระราชกำหนดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายนที่ผ่านมา โดยที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้เปิดทางให้ผู้เสียหายสามารถขอคืนเงินได้ในชั้นเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาศาล และกำหนดให้ธนาคาร สถาบันการเงิน และค่ายโทรศัพท์ต้องร่วมรับผิด หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่หน่วยงานกำกับกำหนด พร้อมขยายขอบเขตไปถึงการป้องกันบัญชีม้า ฟอกเงิน และการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อหยุดยั้งภัยได้ตั้งแต่ต้นทาง แม้จะเป็นก้าวสำคัญ แต่สิ่งที่ท้าทายคือ “การบังคับใช้” ที่ต้องเกิดขึ้นจริงจัง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระที่ไม่ได้ก่อ หรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในระบบที่ควรปกป้องผู้บริโภค