เรื่องเล่าจากสตูล เครือข่ายที่แข็งแกร่งคือ “หัวใจ” ของความสำเร็จ

Getting your Trinity Audio player ready...

การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อสร้างระบบที่เข้มแข็งและสามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นคือการดำเนินงานของหน่วยงานประจำจังหวัดสตูล สภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้การนำของ นางสาวอนัญญา แสะหลี หรือ “พี่รมณ์” หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสตูล ซึ่งได้ทุ่มเทและผลักดันให้เกิดเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความแข็งแกร่ง ด้วยแนวทางการทำงานที่อาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย บทความนี้จะพาไปสำรวจหลักแนวคิดสำคัญ 6 ข้อที่เป็นหัวใจของความสำเร็จ

1. วางแผนและมีเป้าหมายร่วมกัน

จุดเริ่มต้นของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของจังหวัดสตูล คือ การหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มานำเสนอให้ผู้บริโภคได้รับรู้และสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้ รวมถึงยังมีการแนะนำแนวทางการคุ้มครองตัวเองในฐานะผู้บริโภคให้กับคนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การนำเสนอปัญหาการใส่สีในใบชาสำหรับชงดื่ม ซึ่งหากใส่สีเกินเกณฑ์ที่กำหนดจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค หรือการเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาของเครื่องสำอางที่มีสารอันตรายปนเปื้อน เป็นต้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 พี่รมณ์เริ่มสร้างเครือข่ายในการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัด จนถึงทุกวันนี้มีเครือข่ายครอบคลุมทั้ง 7 อำเภอ พี่รมณ์เล่าว่าการสร้างเครือข่ายเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่การที่เราจะทำให้เครือข่ายเข้มแข็งและยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า การทำงานวางแผนร่วมกันจึงเป็นแนวทางหลักที่พี่รมณ์ดำเนินการมาตลอด โดยคำนึงถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในจังหวัดสตูล แต่ละเดือนหน่วยงานประจำจังหวัดสตูลจะวางแผนกิจกรรมล่วงหน้าและเปิดโอกาสให้สมาชิกกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้เครือข่ายได้เตรียมความพร้อมและหากเครือข่ายต้องการจัดกิจกรรมที่ต้องใช้งบประมาณ ทางหน่วยงานจะให้นำเสนอและช่วยวางแผนให้กิจกรรมดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม   

นางสาวอนัญญา แสะหลี หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสตูล

2. สร้างพันธมิตร ขยายขอบเขตการทำงาน

ตัวอย่างความร่วมมือที่เห็นผลชัดเจน คือ การทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จังหวัดสตูล ซึ่งมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างหน่วยงาน และสามารถประสานงานได้อย่างราบรื่น ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้ไม่เพียงช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเอื้อต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการทำงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งสองหน่วยงานอีกด้วย

และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดสตูลได้จัดเวทีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในบทบาทและความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น เวทีนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่าง อปท. หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคมในการร่วมกันจัดการปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคในท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่มอบหมายให้รักษาการท้องถิ่นเป็นประธานกล่าวเปิดงาน งานดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริหารท้องถิ่นกว่า 40 แห่ง รวมถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกอบต. ที่ร่วมเข้าร่วมในกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีการเสวนาที่มีนางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานฯ มาให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ให้แก่ผู้เข้าร่วม ในขณะที่นายพิรุฬห์ ศิริทองคำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับท้องถิ่นต่อไป

3. สื่อสารได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

การสื่อสารเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค การแจ้งเตือนภัย การประสานงานกับสมาชิก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หน่วยงานประจำจังหวัดมีจัดตั้งกลุ่มประสานงานทางกลุ่ม Line มีตัวแทนจาก 7 อำเภอ เพื่อเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบและโปร่งใส ช่วยสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างสมาชิกในเครือข่าย  นอกจากนี้ ยังมีการประชุมออนไลน์และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ส่วนในอนาคตถ้ามีเครื่องมือที่สามารถเสริมการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ทางหน่วยก็พร้อมปรับตัวเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลอย่างทั่วถึง  

4. พัฒนาศักยภาพ เสริมองค์ความรู้ใหม่ ๆ

การอบรมพัฒนาศักยภาพมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะ เสริมสร้างความมั่นใจ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกภายในเครือข่าย หน่วยงานประจำจังหวัดสตูลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเครือข่าย จึงได้ดำเนินโครงการอบรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ การอบรมแต่ละครั้งเป็นโอกาสให้สมาชิกได้รับความรู้ใหม่ ๆ และแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน สำหรับพี่รมณ์ได้เข้าร่วมอบรมในหลายพื้นที่ และนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดต่อให้กับสมาชิกในเครือข่าย นอกจากนี้ พี่รมณ์ยังใช้โอกาสนี้ในการเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้ความรู้โดยตรงกับสมาชิกในจังหวัดสตูล ซึ่งช่วยให้สมาชิกได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานจริง  นอกจากการอบรมแล้ว การจัดเวทีเสวนาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยให้สมาชิกสามารถนำเสนอผลการดำเนินงานขององค์กรตนเอง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้สมาชิกมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเองมากขึ้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะ และสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกจากพื้นที่ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็งและยั่งยืน

5. บริหารเครือข่าย จากจุดเด่นของสมาชิก

ปัจจุบันงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการพัฒนาและขยายเครือข่าย การเข้ามาของสมาชิกใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ทันสมัยช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของเครือข่าย ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างคนรุ่นเก๋าที่มีประสบการณ์ยาวนานกับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ยังส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เครือข่ายจึงไม่เพียงแต่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังสามารถเพิ่มศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างรอบด้านและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

6. การติดตามและประเมินผล

หน่วยงานประจำจังหวัดสตูลให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการลงพื้นที่พูดคุย รับฟังปัญหา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกอย่างใกล้ชิด การเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะและปรับปรุงแนวทางการทำงาน ช่วยให้เครือข่ายสามารถก้าวต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด นอกจากการติดตามผลการทำงานแล้ว ยังคอยให้กำลังใจกันในเรื่องส่วนตัว ทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน พี่รมณ์ทิ้งท้ายว่า การที่จะทำให้เครือข่ายสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงและมีพลังในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เราต้องให้คุณค่ากับ “คน” ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ และยังต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคในพื้นที่เสมอ เพื่อให้การทำงานสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและประโยชน์ที่ยั่งยืนในที่สุด