สภาผู้บริโภคเปิดเวทีสะท้อน ‘ปฏิรูปรถเมล์’ เชื่อโกลาหลอีกรอบ สิ้นส.ค.หยุดเดินรถเพิ่ม 

Getting your Trinity Audio player ready...

สิ้นเดือนสิงหาฯ ปฏิรูปเส้นทางเดินรถเมล์ หยุดวิ่งอีก  14 สาย เชื่อโกลาหลแน่ รถน้อย คอยนาน นั่งหลายต่อทำค่าโดยสารพุ่ง สภาผู้บริโภค เล็งทำสมุดปกขาว เสนอกรมการขนส่งทางบก สะท้อนปัญหาบาดแผลคนกรุงฯ ย้ำชัด ปฏิรูปแล้วต้องดีขึ้น คนเข้าถึงบริการได้สะดวก มีรถเพียงพอ ค่าโดยสารถูกลง

จากกรณีรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ทยอยปฏิรูป 107 เส้นทาง ปรับเปลี่ยนเลขสาย และให้เอกชนเข้ามาเดินรถแทนขสมก.บางเส้นทางก่อนหน้านี้ และตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป จะมีรถโดยสารประจำทาง เส้นทางเดิมอีก 14 สายหยุดให้บริการเดินรถนั้น

วันนี้ 27 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายเพจรถเมล์ไทย และเพจ Bangkok bus club จัดแถลงข่าวในหัวข้อ “ทบทวนปฏิรูปรถเมล์ หยุดบาดแผลคนกรุง” ณ ห้องสำลี ชั้น 4 อาคารสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

เพิ่มผู้รับบริการมีส่วนร่วมกำหนดเส้นทาง

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค  กล่าวถึงความท้าทายงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านขนส่งและยานพาหนะของสภาผู้บริโภค ในการทำให้เกิด “สภาผู้บริโภคผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ” (User Group) ที่มาจากการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบาย Road for All ที่จะพัฒนาเมืองและระบบขนส่งสาธารณะไปด้วยกัน ทำให้เกิดเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม สามารถใช้ชีวิตและพัฒนาร่วมกันได้ในทุกจังหวัด รวมถึงการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและแนวทางกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้

สำหรับประเด็น ขสมก. เตรียมหยุดให้บริการเดินรถเส้นทางเดิม สิ้นเดือนสิงหาคมนี้ สารี กล่าวว่า การยุบเส้นทางเดิมแล้วเหลือแต่เส้นทางปฏิรูปอย่างเดียว เชื่อว่า จะมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เดือดร้อน ทั้งจากปัญหาค่าโดยสารแพงขึ้น เพราะต่อรถหลายต่อ ปัญหารถน้อย รถไม่พอคอยนาน ดังนั้นจึงอยากให้กรมการขนส่งทางบกกำกับเอกชนให้มีการเดินรถให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

“การปฏิรูปรถเมล์ ต้องทำให้คนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก เพียงพอ ด้วยราคาค่าโดยสารที่ถูกลง  ขณะที่เดียวกัน ผู้ใช้บริการควรมีส่วนร่วมในการกำหนดเส้นทางการเดินรถด้วย ซึ่งเร็วๆ นี้ สภาผู้บริโภค เตรียมทำสมุดปกขาว เสนอต่อคณะรัฐมนตรี กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงข้อเท็จจริงของปัญหาการให้บริการรถโดยสารประจำทาง เพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงเรื่องตั๋วร่วม ส่วนข้อถกเถียงเรื่องราคาค่าโดยสาร สภาผู้บริโภคยืนยันว่า ค่าโดยสารต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนการเดินรถไม่ควรผลักภาระมาให้ผู้บริโภคเป็นผู้จ่าย”เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าว และว่า สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอ “รถเมล์ฟรีต้องกลับมา และต้องเป็นรถเมล์แอร์ไม่ใช่รถเมล์ร้อน”

ปฏิรูปรถเมล์ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ด้านนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลังปฏิรูปรถเมล์เห็นได้ชัดคือ รถเมล์ไม่เพียงพอในช่วงเวลาเร่งด่วนหลายสาย โดยเฉพาะ 14 เส้นทางที่ ขสมก. เลิกวิ่งหลังวันที่ 31 สิงหาคมนี้ แต่เดิมเคยเป็นเส้นทางวิ่งสายยาว แต่จากนโยบายใหม่ที่ต้องการให้รถเมล์วิ่งระยะสั้นมากขึ้น เป็นผลมาจากแผนปฏิรูปรถเมล์ที่ตั้งเป้าเป็น “1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ” และได้กลายเป็นการผูกขาดเส้นทาง ขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็มีรถไม่เพียงพอรองรับประชาชนในเวลาเร่งด่วน

นฤมล กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการปฏิรูปรถเมล์ ทำให้ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว อย่างเช่น ราคาโดยสารของเอกชนจากบริษัทไทยสมายล์ บัส เริ่มต้น 15 บาท ขณะที่ ขสมก. เริ่มต้นเพียง 8 บาท คนที่มีรายได้น้อยหากต้องนั่งรถเมล์วันละหลายสายหลายต่อ ค่าแรงจากการทำงานที่ได้มาก็ไม่เพียงพอกับค่ารถ นี่คือ ภาระค่าโดยสารเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็น

“ปฏิรูปรถเมล์ กรมการขนส่งทางบก ต้องยึดหลักการที่ไม่กระทบประชาชน โดยสิ่งที่ต้องตระหนัก คือ ขสมก.เป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย และมีค่าโดยสารเริ่มต้น 8 บาท เป็นรถเมล์ขวัญใจคนจน ส่วนรถไทยสมายล์ บัส ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสารเพิ่ม ในเมื่อมีเสียงวิจารณ์จากผู้ใช้บริการมาตลอด เหตุใด กรมการขนส่งทางบก ในฐานะผู้กำกับดูแล กลับไม่ยอมแก้ปัญหาในภาพรวมเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีขึ้น” รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว และว่า ดังนั้นอยากให้มีการทบทวนการปฏิรูปรถเมล์ โดยเฉพาะเส้นทางที่มีรอยต่อ เพราะผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงอยากให้มีแอปพลิเคชัน มีการประชาสัมพันธ์ เส้นทางเดินรถ ที่ป้ายรถเมล์ หรือจุดจอดรถให้มากกว่านี้  

ส่วนนายอภิสิทธิ์ มานตรี ผู้ดูแลเพจรถเมล์ไทย กล่าวว่า เพจรถเมล์ไทย ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค  เคยร่วมประชุมหารือกับ ขสมก. ในประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้โดยสารรถเมล์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเส้นทางรถเมล์ ตามโครงการปฏิรูปรถเมล์มาแล้ว โดยเส้นทาง ที่มีการร้องเรียนมากที่สุด และเสนอให้แก้ไขเร่งด่วนที่สุด จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ สาย 68 แสมดำ- บางลำพู, สาย 195 กรมศุลกากร – เดอะมอลล์ท่าพระ, สาย 205 วงกลมคลองเตย – เดอะมอลล์ท่าพระ,  สาย 511 ปากน้ำ – สายใต้ใหม่ และสาย 65 วัดปากน้ำ (นนท์)-สนามหลวง

“เส้นทางรถเมล์ บางเส้นทาง ที่ยังไม่ได้ประมูล ยังเกิดปัญหาฟันหลอให้บริการไม่ครบ 269 เส้นทาง จึงเชื่อว่า หลังวันที่ 31 สิงหาคม รถเมล์หยุดวิ่งให้บริการเพิ่มอีกจะเกิดความโกลาหลกับการใช้บริการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพและปริมณฑลแน่นอน ส่วนเลขสายรถเมล์ ก็สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้บริการ จึงอยากให้มีการทบทวนเลขสายรถเมล์แบบใหม่ด้วย” ผู้ดูแลเพจรถเมล์ไทย กล่าว  

เส้นทางเดินรถใหม่ ไร้จุดเชื่อมต่อ

ขณะที่นายมารุต จันทน์โรจน์ ผู้แทนจากเพจ Bangkok bus club กล่าวถึงการปฏิรูปเส้นทางเดินรถเมล์ แม้ภาพรวมการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารจะครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่าเส้นทางเดิมก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้โดยสารบางส่วนได้รับผลกระทบ จากการไม่สามารถใช้บริการรถเมล์ได้เหมือนเดิม บางพื้นที่รถเมล์ให้บริการน้อยลง และบางพื้นที่ก็ไม่มีรถเมล์วิ่งให้บริการเลย เช่น สาย 205 (3-51) เส้นทางถูกปรับใหม่ หรือสาย 520 เป็นต้น

“การปรับเส้นทางเดินรถใหม่ ไม่มีการคิดถึงจุดเชื่อมต่อ หรือตั๋วร่วม เพื่อให้ผู้ใช้บริการสะดวกขึ้น ราคาถูกลง บางเส้นทางการปฏิรูปที่อ้างเพื่อลดความซับซ้อน กลับทำให้ถนนบางเส้นมีสายรถเมล์วิ่งให้บริการน้อยลง ขณะที่ผู้ใช้บริการไม่ได้น้อยลงเลย เช่น เส้นสุขุมวิท บางซ่อน ฉะนั้น แนวคิดเรื่องเส้นทางทับซ้อน กับจำนวนผู้ใช้บริการ หน่วยงานรัฐควรพิจารณาแก้ปัญหามากกว่าการลด หรือตัดทิ้งเส้นทางเดินรถดังกล่าว”

ผู้แทนจากเพจ Bangkok bus club  ยังกล่าวด้วยว่า เส้นทางเดินรถที่หายไปในแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 7 ปี พบว่า หลายเส้นทางไม่สอดคล้องกับความต้องการ หรือสภาพบ้านเมืองในปัจจุบัน ดังนั้น  ถึงเวลาทบทวนเส้นทางทีมีปัญหาจากการปฏิรูปรถเมล์ “เราได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังหรือไม่  เราต้องรักษาบาดแผลคนกรุงฯ ด้วยการทบทวนปฏิรูปรถเมล์โดยด่วน”

เตรียมยื่นกรมขนส่งฯ ให้ทบทวนการปฏิรูป

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เตรียมยื่นข้อเสนอต่อกรมการขนส่งทางบกในวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขอให้มีทบทวนการปฏิรูปเส้นทางรถรถเมล์โดยสารในกรุงเทพฯ โดยขอให้ทบทวนข้อกำหนด 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ที่ทำให้ไม่มีรถเพียงพอกับประชาชนที่ใช้บริการ, มีมาตรการจัดการระบบรถโดยสารให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดให้มีเส้นทางการเดินรถเมล์โดยสารที่สะดวกรวดเร็ว เสนอให้มีป้ายรถเมล์ที่บอกรายละเอียดเส้นทางเดินรถจากจุดเริ่มต้น เส้นทางที่ผ่าน และจุดหมายปลายทางทุกป้ายรถเมล์ , ส่วนรถร้อนต้องมีเหมือนเดิมและราคาต้องเป็นมาตรฐานเดียว ,สิทธิผู้สูงอายุรวมถึงผู้มีบัตรสวัสดิการของรัฐต้องสามารถใช้บริการของเอกชนได้ ,เสนอให้มีระบบเชื่อมต่อรถเมล์โดยสารระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชน แต่ค่าโดยสารต้องไม่เกิน 30 บาทต่อวัน เป็นต้น