จี้ รัฐคุมเข้ม นำอาวุธ – สิ่งเทียมอาวุธปืน ออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์

สภาผู้บริโภค เสนอยกเลิกการขายอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธบนออนไลน์ คุมเข้มคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาต บังคับต่อใบอนุญาตครอบครองปืนทุก 5 ปี พร้อมเสนอขนส่งตรวจสอบพัสดุเบื้องต้นก่อนนำส่ง หวังลดการก่ออาชญากรรม

จากกรณีเมื่อต้นเดือนตุลาคม เกิดเหตุการณ์เยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนแบลงก์กัน (Blank Gun) ก่อเหตุกราดยิงในห้างชื่อดังกลางเมือง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ซึ่งอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุดังกล่าวถูกซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้ประเด็นการขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และการดัดแปลงอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและเป็นที่ถกเถียงกันในสังคม นั้น

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 ตัวแทนจากสภาผู้บริโภค ได้เข้าร่วมการประชุมกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการจำหน่ายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนทางออนไลน์ ซึ่งจัดโดยกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 (บก.สอท.2) โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน แพลตฟอร์มออนไลน์ และขนส่งเข้าร่วมประชุมด้วย

นิสรา แก้วสุข เจ้าหน้าที่วิเคราะห์และติดตามนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า สำหรับประเด็นการขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และการดัดแปลงอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จะมีผู้เกี่ยวข้องสองส่วน คือ แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขายสินค้า และบริษัทขนส่งซึ่งเป็นผู้ที่ต้องขนส่งเคลื่อนย้ายอาวุธดังกล่าว

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการควบคุมและป้องกันการจำหน่ายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนทางออนไลน์ 4 ข้อ ดังนี้

1. ขอให้กระทรวงมหาดไทยออกมาตรการยกเลิกการโฆษณาและจำหน่ายสิ่งเทียมอาวุธปืนบนตลาดออนไลน์และขอให้ร้านค้าที่มีหน้าร้านชะลอการจำหน่าย ต้องตรวจสอบการขออนุญาตและวัตถุประสงค์การซื้อทุกราย

2. ขอให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะหมวด 4 สิ่งเทียมอาวุธปืน และหมวด 6 บทกำหนดโทษ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้ครอบคลุมถึงผู้เสียหาย เช่น ควรกำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนให้เข้มงวด เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจของนายทะเบียนมีเกณฑ์ชัดเจน เช่น ใบตรวจสุขภาพกาย สุขภาพจิต อายุ ฯ รวมถึงการแจ้งให้ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนมือระหว่างที่ผู้ขออนุญาตยังมีชีวิตอยู่ และกำหนดอายุใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนทุก 5 ปี (เกณฑ์เดียวกับการต่อใบขับขี่รถยนต์) และเพิ่มบทลงโทษ เช่น หากมีการฝ่าฝืนในมาตราที่เกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ หรือมีอาวุธครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น อาทิ ทรัพย์สินเสียหาย บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ และเสียชีวิต ต้องได้รับโทษเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เท่า

3. ออกมาตราการควบคุมการครอบครองอาวุธปืนตามความจำเป็นและควบคุมการจำหน่ายอาวุธเทียมปืนทั่วประเทศ โดยเทียบเคียงกับกรณีปืนฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งถูกบรรจุเป็นสินค้าควบคุมของ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเป็นสินค้าห้ามจำหน่ายตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีโทษปรับทั้งแพ่งและอาญา

4. เสนอให้ผู้ให้บริการขนส่งเอกชน ตรวจสอบผู้มาติดต่อหรือผู้ส่งพัสดุว่าเป็นบุคคลตรงกับรายละเอียดในบัตรประจำตัวประชาชน และตรวจสอบพัสดุสินค้าทุกช่องทางการขนส่ง เช่น การเอ็กซ์เรย์พัสดุสินค้า หรือการจัดให้มีระบบตรวจสอบพัสดุให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และขอให้ผู้ประกอบการขนส่งให้ความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลการตีคืนสินค้าของผู้ส่งที่จำนวนมากเกินปกติ โดยเฉพาะสินค้าที่พัสดุจากผู้ส่งที่ต้นทางไม่ครบถ้วน ขาดช่องทางการติดต่อที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังแพลตฟอร์มซื้อ – ขายสินค้าออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊กมาร์เกตเพลส (Facebook Marketplace) / ชอปปี้ (Shopee) / ลาซาด้า (Lazada) / ขายดี ดอทคอม (Kaidee.com) / ติ๊กตอก ชอป (TikTok Shop) / ไลน์ ชอปปิ้ง (LINE SHOPPING) / ตลาดดอทคอม (TARAD.com) รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ขอให้ตรวจสอบร้านค้าบนแพลตฟอร์มและจัดการร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำสิ่งเทียมอาวุธปืนออกจากแพลตฟอร์มชอปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคจะยังคงติดตามผลการดำเนินการและเฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคที่พบการโฆษณาหรือจำหน่ายอาวุธบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถรวบรวมหลักฐาน เช่น หน้าโปรไฟล์ร้านค้า , ผู้ขาย โฆษณาที่ลงขาย ภาพถ่ายสินค้า เป็นต้น และแจ้งเบาะแสตามช่องทางดังนี้

ตำรวจไซเบอร์ ทางเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/ หรือโทร 1441

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.).  หรือโทร 1135

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทางเว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือโทร 1166

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ทางเว็บไซต์ https://www.1212occ.com หรือโทร 1212

สภาองค์กรของผู้บริโภค             

ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain#noopener%20noreferrer

ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand หรือคลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U

อีเมล : [email protected]

โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 9215 หรือ 081 134 9216 อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค  #ผู้บริโภค