สภาผู้บริโภคเสนอแก้กฎหมายธุรกิจนำเที่ยว ‘บริษัทยกเลิกทัวร์ ต้องคืนเงินผู้บริโภค 100%’ แนะจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย เร่งทุกหน่วยงานเตือนภัย ให้ช่องทางร้องเรียนกับผู้บริโภค พร้อมเสนอเพิ่มตัวแทนผู้บริโภคในคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติหรือที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครอง เสนอนโยบายเพื่อผู้บริโภค
จากกรณีสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อโปรแกรมนำเที่ยวกับเพจ อ้วนผอมจอมเที่ยว แต่สุดท้ายกลับเลื่อนการเดินทางออกไปหรือบางรายถูกยกเลิกการเดินทางโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่คืนเงินแก่ผู้บริโภค ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ส่งถึงบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด เพื่อให้ชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมถึงส่งหนังสือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและกรมการท่องเที่ยวแล้วนั้น ซึ่งล่าสุดคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว (กมธ.การท่องเที่ยว) สภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมให้ข้อมูลและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขายโปรแกรมนำเที่ยวหลอกลวงนักท่องเที่ยวคนไทยไปต่างประเทศ
ตัวแทนจากสภาผู้บริโภค นิสรา แก้วสุข ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – มกราคม 2567 มีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภค รวมเกือบ 700 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 67 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาการยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง รวมทั้งการยกเลิกที่พัก สามารถคิดเป็นร้อยละ 85.86
นอกจากนี้ยังพบปัญหาการยกเลิกบริการไม่ได้ รวมถึงปัญหาการโฆษณาเสนอขายโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น ปัญหาเพจปลอมแอบอ้างที่พัก โรงแรม หรือบริษัทนำเที่ยว ปัญหาจองที่พักแต่พบว่าที่ตั้งไม่ตรงกับที่ระบุไว้ หรือการเปลี่ยนหรือเลื่อนโปรแกรมโดยไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังไม่มีการชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมคืนให้กับผู้บริโภค
นอกจากนี้ มีความคิดเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอให้มีการตรวจสอบสถานะทางการเงินและออกมาตรการเพิ่มวงเงินประกันของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะจะเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับเงินชดเชยหรือเงินเยียวยาคืนในกรณีที่ซื้อโปรแกรมการท่องเที่ยวแต่กลับถูกยกเลิก
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงเสนอให้มีการพิจารณาองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) หรืออนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว หรืออนุกรรมการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ที่ควรมีการเพิ่มภาคประชาชนอย่างสภาผู้บริโภคเข้าร่วมด้วยเพื่อให้องค์ประกอบคณะกรรมการมีความสมดุล และตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้สภาผู้บริโภคทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภค นอกจากนี้สภาผู้บริโภคได้เสนอนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการแก้ไขปัญหาธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ให้กับ กมธ.การท่องเที่ยว นำไปพิจารณาและปรับใช้กับการกำกับดูแลธุรกิจนำเที่ยว ดังต่อไปนี้
1. ขอให้กรมการท่องเที่ยวแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่ นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติมเป็น “ข้อ 5 ทวิ กรณีที่ถูกยกเลิกทัวร์ โดยมิใช่ความผิดของนักท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย” เนื่องจากในประกาศเดิมไม่มีข้อกำหนดดังกล่าวไว้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับรองว่าจะได้รับการชดเชยจากกรณีการประกอบธุรกิจไม่สุจริตของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
2. ขอให้กรมการท่องเที่ยว เพิ่มหลักเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตที่ต้องมีรายละเอียดการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และดำเนินการจัดนำเที่ยวประกอบในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 มีมาตรการเงื่อนไขต่อธุรกิจนำเที่ยวกรณีการจัดโปรแกรมนำเที่ยว ให้ห้ามขายแพคเกจทัวร์ล่วงหน้าเกินกว่า 6 เดือน เนื่องจากพบว่าการขายแพคเกจทัวร์ล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานเป็นความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจจะถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามแผนการนำเที่ยวที่เสนอขาย
2.2 เพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องแสดงสถานะใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว สถานะทะเบียนบริษัท และการส่งงบการเงินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผู้บริโภคทราบ
2.3 ขอให้กรมการท่องเที่ยวดำเนินการเพิ่มเติมข้อมูลบนเว็บไซต์กรมการท่องเที่ยว โดยให้มีลิงก์เชื่อมโยงข้อมูลสถานะการส่งงบแสดงฐานะทางการเงินร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ประจำปี ว่ายังคงมีสถานะทางการเงินปกติ ส่งงบล่าช้า หรือสถานะขาดทุน เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใช้บริการธุรกิจนำเที่ยวเพียงพอ
2.4 เพิ่มหลักเกณฑ์พิจารณาการขอต่อใบอนุญาตของผู้ประกอบธุรกิจ ดังนี้
2.4.1 จำนวนข้อร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและจำนวนเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถแก้ไขปัญหาได้
2.4.2 ข้อมูลการส่งงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากรของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
3. ขอให้กรมการท่องเที่ยว จัดตั้งกองทุนชดเชยเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตตามสัดส่วนวงเงินจากการเรียกเก็บค่าบริการนำเที่ยวจากนักท่องเที่ยวที่สอดคล้องตามขนาดการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
4. ขอให้กรมการท่องเที่ยวเผยแพร่ข้อมูลบริษัทนำเที่ยวที่จำเป็นโดยภาพรวม เพื่อให้ประชาชนและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อมูล การประกอบกิจการ ผลกำไร และการร้องเรียนได้
5. ขอให้กรมการท่องเที่ยวเร่งดำเนินการศึกษาเพื่อพิจารณาเพิ่มการวางหลักประกันเข้ากองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว จากเดิม 60,000 บาท เนื่องจากวงเงินเดิมไม่เพียงพอต่อการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในการดูแลนักท่องเที่ยว และทำให้ขาดความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
ด้าน ปาลิตา วารีศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า ธุรกิจนำเที่ยวที่มีราคาถูกมากอาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ แต่ส่วนหนึ่งเกิดอาจจะเกิดการที่ผู้บริโภคไม่ได้รับข้อมูลที่จำเป็นอย่างทั่วถึง ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นและเป็นเรื่องที่สำคัญ คือ หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องมีมาตรการจัดการเร่งด่วน โดยเฉพาะการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้บริโภครับรู้ถึงสิทธิของตัวเองเมื่อถูกละเมิดสิทธิ ช่องทางการร้องเรียนที่ชัดเจน หลากหลาย และมีการแจ้งเตือนภัยเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียเป็นวงกว้างเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
โดยภาพรวมนั้นแต่ละหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เข้าร่วมประชุม ระบุว่า ปัญหาการจองโปรแกรมนำเที่ยวมีจำนวนมากขึ้นในช่วงหลังจากโควิดแพร่ระบาดน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจากตัวแทนท่องเที่ยวรายใหญ่ที่มักซื้อเหมาในปริมาณมากและนำไปจำหน่ายต่อไปยังผู้ค้ารายเล็ก จึงมีความคิดเห็นว่าการขายโปรแกรมนำเที่ยวในลักษณะข้างต้นจะต้องถูกกำกับดูแลร่วมด้วย
นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันคือโปรแกรมนำเที่ยวสายมูเตลู หรือการท่องเที่ยวผ่านการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของคลัง ที่มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในอนาคตในเรื่องของโปรแกรมท่องเที่ยวที่ไม่ตรงตามโปรแกรมที่เสนอไปในการโฆษณา อย่างไรก็ตามควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ตามที่ระบุใน พ.ร.บ. นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้มากกว่า และควรมีการรวมกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวเข้าด้วยกัน และมีการพิจารณาส่วนแบ่งการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มอัตราหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนกองทุนที่ต้องไม่กระทบงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลในระยะยาว
ในส่วนของเพจ อ้วนผอมจอมเที่ยว ที่มีการยกเลิกการเดินทางโดยไม่แจ้ง จนทำให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันกรมการท่องเที่ยวแจ้งว่าได้ส่งต่อเรื่องดังกล่าวให้กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการดำเนินการ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินคดีอาญากับเพจดังกล่าว อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ในสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลและช่องทางการร้องเรียนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566
ขณะที่กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวระบุว่าปัจจุบันได้เข้าตรวจสอบบริษัทประกอบธุรกิจนำเที่ยวดังกล่าวและอยู่ระหว่างการจับกุมเพื่อดำเนินคดี รวมถึงประชาสัมพันธ์การตรวจสอบข้อมูลบริษัทนำเที่ยวก่อนตัดสินใจซื้อหรือให้ข้อมูลเตือนภัยประชาชนก่อนการตัดสินใจซื้อ แต่ทั้งนี้ยังพบปัญหาที่ไม่มีอำนาจการสอบสวน รวมถึงไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลขายโปรแกรมนำเที่ยวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งยังพบปัญหาขั้นตอนการสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ฯ และนักท่องเที่ยวขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนเอง
อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม มีความคิดเห็นว่าเพจดังกล่าวมีการใช้ความสามารถทางออนไลน์สร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดให้ผู้บริโภคหลงเชื่อในระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ปี ขณะที่มีผู้ที่ซื้อโปรแกรมนำเที่ยวและจ่ายเงินแล้ว ช่วงต่อมาขาดสภาพคล่องจึงเริ่มยกเลิกการเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางออกไป จนทำให้มีผู้บริโภคได้รับความเสียหาย
ส่วนกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวง กรมการท่องเที่ยวและสภาผู้บริโภคควรจะต้องร่วมมือช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับความคุ้มครอง รวมถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ยกตัวอย่างในประเทศไต้หวันที่พบปัญหาเรื่องอากาศหนาวจนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งบริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ ควรต้องมีการเตือนนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสภาพอากาศ ไม่มีการบังคับให้ท่องเที่ยวเมื่อไปให้ถึงปลายทาง รวมทั้งจะต้องชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมหากมีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมนำเที่ยวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยเหล่านี้
ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่กำลังจะเดินทางท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบเลขที่ใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยวก่อนตัดสินใจจองโปรแกรมนำเที่ยวต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมการท่องเที่ยว www.dot.go.th หรือโทรศัพท์ 02 401 1111 หรือเบอร์สายด่วน 1155