สภาผู้บริโภค เตรียมนัดถกผู้รับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภค ระบุ ผ่านมาเพียง 1 เดือน เกิดอุบัติเหตุคนงานเสียชีวิตในลักษณะคล้ายคลึงกันถึง 2 ครั้ง แนะเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ พิจารณายกเลิกสัญญาผู้รับเหมารายเดิมและทำสัญญาใหม่กับคนที่เห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เปิดช่องทางช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการชดเชยเยียวยา ปรึกษา – ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค
จากกรณีอุบัติเหตุสลิงรถเครนขาดจนทำให้กระเช้าร่วงตกลงมาด้านล่างจนทำให้คนงานเสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บ 1 คน บริเวณการก่อสร้างสะพานยกระดับถนนพระราม 2 ช่วงแสมดำ บางขุนเทียน ช่วงปากซอยพระรามสอง 72 นั้น
วันนี้ (18 มกราคม 2567) สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคพร้อมนัดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือในประเด็นการเกิดอุบัติเหตุข้างต้นเพื่อให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่ามีมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างไร และร่วมหาแนวทางเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคที่สัญจรผ่านการก่อสร้างถนนหรือสะพานสาธารณะทุกโครงการในประเทศไทย รวมถึงการหารือในประเด็นการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรมหากได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างร่วมด้วย เนื่องจากมีความคิดเห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ควบคุมเรื่องความปลอดภัยของการก่อสร้างถนนและการก่อสร้างสะพานสาธารณะนั้นในปัจจุบันไม่สามารถยับยั้งหรือป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้เลย อีกทั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นข้างต้นเป็นการเกิดขึ้นซ้ำซากที่เกิดจากความประมาทที่ภาครัฐเป็นผู้ว่าจ้าง
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรับผิดชอบแก้ไขและชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้งเร่งปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ ให้มีความรัดกุม รวมถึงการมีกระบวนตรวจรับและติดตามการทำงานตลอดการก่อสร้างของผู้รับจ้างอย่างสม่ำเสมอ โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างจากภาครัฐเข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม นับจากวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่เกิดอุบัติเหตุเหล็กแบบก่อสร้างทางยกระดับหล่นทับคนงานขณะปฏิบัติจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บ 1 คน ในโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ช่วงซอย 82 จนปัจจุบันผ่านมาเพียงหนึ่งเดือนได้เกิดอุบัติเหตุซ้ำเดิม คือ เป็นการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ก่อสร้างและการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุด (18 มกราคม 2567) ยังเกิดห่างจากการเกิดอุบัติเหตุเมื่อปลายปี 2566 เพียง 10 ซอย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากความประมาทของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างบริษัทเดียวกัน
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบดูแลก่อสร้างบริเวณดังกล่าวควรมีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบที่มีความรับผิดชอบมากกว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในปัจจุบันหรือไม่ เพราะผ่านมาเพียงหนึ่งเดือนกลับเกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดิมขึ้นถึง 2 ครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนงานหรือผู้บริโภคที่สัญจรไปมาบริเวณพื้นที่ก่อสร้างไม่ควรที่จะต้องเจ็บหรือเสียชีวิตจากความประมาทเหล่านี้ รวมถึงอาจพิจารณายกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างรายเดิม และทำสัญญาใหม่กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่เห็นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย” สารี ระบุ
สำหรับผู้บริโภคหรือญาติของผู้ที่ได้รับความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้าง ได้รับความเสียหายหรือได้รับการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร้องเรียนออนไลน์กับสภาผู้บริโภค ได้ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/ โดยแนบหลักฐานร้องเรียนเบื้องต้น ได้แก่ 1. ภาพถ่ายหรือหลักฐานความเสียหายของร่างกาย รถยนต์ หรือทรัพย์สินต่าง ๆ 2. ใบเสร็จค่าซ่อม (ถ้ามี) 3. ใบรับรองแพทย์/หลักฐานค่ารักษาพยาบาล (กรณีบาดเจ็บ) 4. รายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทางที่เกิดจาการติดต่อแจ้งความหรือไปโรงพยาบาล 5. สำเนาบันทึกประจำวันจากตำรวจ หรือสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่เบอร์ 1502 หรือ 02 239 1829 กด 1 ในวันและเวลาทำการ (วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น.)