สถานการณ์ปัญหา
คณะทำงานด้านการศึกษา พิจารณาเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 กันยายน 2564 นี้ โดยในมาตรา 21 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเนื้อความบางส่วนที่ระบุให้มี การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สามารถจัดเก็บตามความจำเป็นได้ ดังนี้
“การจัดระเบียบเพื่อความเรียบร้อยหรือความปลอดภัยหรือการเก็บค่าธรรมเนียมตามความเหมาะสม มิให้ถือว่าเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคหรือมีลักษณะตามวรรคหนึ่ง”
คณะทำงานด้านการศึกษา เห็นว่าเนื้อความในส่วนนี้ขัดแย้งกับ มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติว่า
“รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และ “รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ซึ่งหากรัฐสภาพิจารณาและผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จะใช้บังคับมิได้และเป็นโมฆะ
การดำเนินการ
ออกหนังสือเรื่อง การขัดกันของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ สอบ.นย.072/2564 ลงวันที่ 14 กันยายน 2564 ถึงประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
ให้ยับยั้งการลงมติรับร่างของสมาชิกสภาฯ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. มาตรา 21
ความคืบหน้า
- มีหนังสือตอบกลับจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ สว.0001/3331 ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 ชี้แจงว่า ประธานวุฒิสภาพิจารณาและมอบหมายให้เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งในขณะนั้นเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไปแล้ว จึงส่งเรื่องไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- มีหนังสือตอบกลับจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ที่ สผ.0014/12459 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 โดยชี้แจงว่า ได้เสนอความคิดเห็นของคณะทำงานไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อประกอบการพิจารณา
- มีหนังสือจากสภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ.0001/14412 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ชี้แจงว่า ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อพิจารณาแล้ว