แผ่นดินไหว ห้องพักร้าว ผู้เช่ายกเลิกสัญญาได้ หากไม่ปลอดภัย

Getting your Trinity Audio player ready...
แผ่นดินไหว ห้องพักร้าว ผู้เช่ายกเลิกสัญญาได้ หากไม่ปลอดภัย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวเปิดช่องโหว่อาคารสูง สภาผู้บริโภคเผยผู้เช่าเลิกสัญญาได้หากไม่ปลอดภัย แนะเช็กสิทธิผู้บริโภคหลังตึกร้าว

จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 68 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด ลึก 10 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้บางอาคารสูงและคอนโดมิเนียมในไทยได้รับความเสียหาย บางแห่งปรากฏรอยร้าวที่อาจส่งผลต่อโครงสร้างและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย

สิทธิของผู้เช่าเมื่อเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหว

วันที่ 3 เมษายน 68 โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ผู้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้ในกรณีที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ห้องเช่าไม่มีสภาพความอยู่อาศัย ไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงกรณีที่ผู้ให้เช่าไม่สามารถรับรองความปลอดภัยในห้องเช่านั้นได้ ผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญา และได้เงินมัดจำคืน ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562 โดยต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่งประกาศนี้จะหมายถึง ห้องพัก บ้าน อาคารชุด อพาร์ตเม้นท์ หรือสถานที่พักอาศัย ที่เรียกชื่ออื่น ที่จัดขึ้นสำหรับการให้เช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่รวมถึงหอพัก และโรงแรม

สิ่งที่ควรระวังในสัญญาเช่า

โสภณ ให้ข้อมูลสำหรับผู้เช่าเพิ่มเติมว่า นอกจากรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้เช่า และทรัพย์สินที่ให้เช่าแล้วในสัญญาเช่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งใบแจ้งหนี้ พร้อมจัดทำหลักฐานการตรวจรับสภาพอาคาร และรายละเอียดที่ห้ามระบุลงในสัญญาเช่า คือ ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าต้องรับผิดในความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน และอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในเหตุที่ใช่ความผิดของผู้เช่า และในเหตุสุดวิสัย เช่น เหตุจากภัยธรรมชาติ อย่างแผ่นดินไหว

สิทธิของผู้ซื้อคอนโดที่ได้รับความเสียหาย

ส่วนกรณีผู้ซื้อนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ หากยังอยู่ในระยะเวลาตรวจคอนโดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ สามารถปฏิเสธได้ ที่จะรับโอนห้องและขอเงินคืน แต่หากเป็นกรณีเข้าอยู่อาศัยแล้วจะไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่สามารถยื่นเคลมเพื่อขอค่าชดเชยได้ หากมีประกันภัยที่ครอบคลุมเหตุแผ่นดินไหว หากครอบคลุมให้แจ้งเหตุกับบริษัทประกันภัย ตามช่องทางของบริษัท โดยระบุ วันที่ เวลา สถานที่ พร้อมอธิบายลักษณะความเสียหาย และเก็บหลักฐานความเสียหายถ่ายภาพ และวิดีโอ ทำรายการทรัพย์สินเสียหาย แนบใบเสร็จหรือหลักฐานการซื้อ (ถ้ามี) แล้วยื่นคำร้องขอเคลมประกัน เพื่อให้บริษัทประกันภัยตรวจสอบ

“เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ามาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงและคอนโดมิเนียมหลายแห่งอาจไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ จึงเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อหรือเช่าคอนโด และผู้ประกอบการที่ต้องตระหนักถึงมาตรฐานการก่อสร้าง” โสภณกล่าว

นอกจากเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างแล้ว ควรก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดเรื่อง อาคารที่มีพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตร หรืออาคารที่สูงกว่า 8 ชั้น ต้องมีถนนที่มีผิวจราจรกว่าไม่น้อยกว่า 6 เมตร ปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคาร เพราะว่าหากผิวจราจรน้อยกว่านั้น เมื่อเกิดไฟไหม้ รถดับเพลิงจะไม่สามารถวิ่งผ่านได้ และไม่มีพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกางอุปกรณ์ สำหรับเข้าช่วยเหลือและดับไฟ อาจเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสียหายจากแผ่นดินไหว ต้องเคลมประกันอย่างไร

ต้องสูญเสียอีกกี่ชีวิต ไทยถึงจะมีระบบแจ้งเตือนภัย

การแจ้งเบาะแสอาคารผิดมาตรฐาน

ขณะนี้ สภาผู้บริโภคกำลังดำเนินการสำรวจข้อมูลอาคารชุดที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยแบบสำรวจนี้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารชุดที่ผิดมาตรฐาน ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคที่พักอาศัยในอาคาร และประชาชนบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะกรณีอาคารสูง ที่จะต้องจัดให้มีผิวจราจรกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร สำหรับผู้บริโภคที่เห็นว่าคอนโด หรือตึกสูงแถวบ้านมีลักษณะที่ไม่ถูกกฎหมาย สามารถให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสมาได้ที่ https://forms.gle/q8uzz79FEPfjnTtcA