องค์กรของผู้บริโภคเสนอนโยบายพัฒนาขนส่งสาธารณะ – รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยค่าบริการเป็นธรรมสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคถึงสิทธิการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะและส่งเสริมให้หันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น
จากปัญหาการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะของผู้บริโภคแต่ละพื้นที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเส้นทางเดินรถที่ไม่คลอบคลุมการเดินทาง ปัญหาจุดจอดรถที่ไม่ชัดเจนและไม่มีป้ายแสดงข้อมูลสำหรับการเดินทาง ปัญหาค่าโดยสารที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ขั้นต่ำ รถรับส่งนักเรียนไม่มีมาตรฐาน ขาดการตรวจสภาพรถ ขาดระบบการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายน 2567 สภาผู้บริโภคจึงได้จัดกิจกรรมสรุปบทเรียนโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม รวมถึงการผลักดันประเด็นรถรับส่งนักเรียน โดยกิจกรรมครั้งนี้มีตัวแทนองค์กรของผู้บริโภคใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
ด้านตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากสมาคมผู้บริโภคจังหวัดสงขลา นางสาวสุชาดา ชัยเดช เปิดเผยว่า ปัญหาด้านขนส่งสาธารณะที่ภาคใต้พบส่วนมากเป็นประเด็นที่ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เชื่อมต่อกับสถานที่สำคัญ เช่น การไม่มีขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อจากสนามบินมายังตัวเมืองหรือสถานีขนส่งจังหวัด หรือสถานีรถไฟ หรือสถานที่ราชการ ทำให้ผู้บริโภคในจังหวัดส่วนใหญ่ต้องใช้รถส่วนตัว เมื่อผู้บริโภคใช้รถส่วนตัวมากขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหารถติดและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา แต่สำหรับผู้บริโภคที่ไม่มีกำลังซื้อรถส่วนตัวจะต้องแบกรับภาระค่าเดินทาง ต้องเลือกใช้บริการตู้หรือรถเหมา อีกทั้งรถสาธารณะที่มีอยู่มีจำนวนรถและรอบเดินรถที่น้อย ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถวางแผนการเดินทางได้และต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทาง ดังนั้น การให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้ได้จริงจะช่วยลดภาระด้านเวลาและค่าเดินทาง
“การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเท่ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะทำให้การเดินทางคนที่มาจากที่อื่นเข้ามาใช้จ่ายในตัวเมืองของแต่ละจังหวัดได้ และต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิการเข้าถึงขนส่งสาธารณะและประโยชน์ แล้วกลับมาใช้ขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น” ตัวแทนจากสมาคมผู้บริโภคสงขลา ระบุ
ด้าน นางสาวสัญญา ทิพบำรุง ตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากประเด็นตัวรถรับส่งนักเรียนที่อาจไม่ได้มาตรฐานตรงตามที่กำหนดที่เครือข่ายฯ พบ ยังพบปัญหาอื่น ๆ อีก อาทิ จำนวนรถที่รับส่งนักเรียนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ส่งผลให้เด็กบางคนเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา เพราะรถมีอยู่อย่างจํากัดและไม่เพียงพอรับส่งเด็กไปโรงเรียน
จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เครือข่ายฯ จึงได้เชิญชวนโรงเรียนและผู้ประกอบการ โรงพยาบาล สถานีตำรวจ และผู้ปกครองของเด็ก ปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อทำแผนระบบรถรับส่งนักเรียน ร่วมกัน รวมทั้งการฝึกอบรมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มเด็กนักเรียนให้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับระบบและระเบียบการใช้รถรับส่งนักเรียน
“หลังจากดำเนินการภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนฯ ทำให้เห็นภาพค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องอะไรความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการตั้งชมรมผู้ประกอบการขึ้นมาเพื่อนำปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอมาหารือเพื่อแก้ไข และได้เห็นภาพการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและผู้ประกอบการ ในส่วนของโรงพยาบาลและตำรวจมีการขับเคลื่อนและออกแบบการทำงานร่วมกันเพื่อให้เด็ก ๆ มาถึงโรงเรียนอย่างทั่วถึงและปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์” เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสุรินทร์
นางสาวสัญญา กล่าวทิ้งท้ายถึงความคาดหวังของศูนย์เรียนรู้รถโรงเรียน อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชีวิตเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้จริง นอกจากนี้เครือข่ายฯ มีแนวคิดในการนำรูปแบบบอร์ดเกมมาเป็นตัวเดินเรื่องที่ให้ทุกคนได้เล่นเกม เพื่อเข้าใจการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยและมีราคาที่เป็นธรรม
โดยสรุปปัญหาขนส่งสาธารณะที่แต่ละพื้นที่พบเจอมีการนำมาสู่การเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหา โดยในแต่ละภูมิภาคได้แลกเปลี่ยนและมีข้อเสนอที่ตรงกัน คือ การเสนอให้มีจุดจอดรถสาธารณะที่ชัดเจน ปลอดภัย มีป้ายข้อมูลบอกเส้นทางการเดินรถ เนื่อจากการรับรู้ข้อมูลเป็นสิ่งหนึ่งของสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งมีการเพิ่มเส้นทางเดินรถให้คลอบคลุม และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิที่ควรได้ใช้และประโยชน์ของการใช้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น
ส่วนประเด็นการผลักดันรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยนั้นในแต่ละภูมิภาคมีความคิดเห็นตรงกัน คือ การเดินทางของนักเรียนต้องมีความความปลอดภัยและการมีระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ดี โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันในการจัดการ ทั้งนี้สำหรับนโยบายที่แต่ละภูมิภาคร่วมกันเสนอมา อาทิ การที่ต้องมีจุดจอดรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย มีการจัดให้มีจุดจอดเฉพาะ การจัดทำฐานข้อมูลรถที่ใช้รับส่งนักเรียนที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน การสนับสนุนให้มีมาตรฐานคนขับ การผลักดันให้นักเรียนมีสวัสดิการเรื่องการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนอย่างทั่วถึงและค่าบริการที่เป็นธรรม เป็นต้น