ข้อเสนอนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาบริการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
สถานการณ์
สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากบริการธุรกิจนำเที่ยวภายในและภายนอกราชอาณาจักรในช่วงตุลาคม 2565 – มกราคม 2567 รวมทั้งสิ้น 686 เรื่อง มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 67 ล้านบาท โดยลักษณะปัญหาที่มีการร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ปัญหาการยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง และการยกเลิกที่พัก คิดเป็นร้อยละ 85.86
2) ปัญหาการยกเลิกบริการไม่ได้ คิดเป็นร้อยละ 5.10
3) ปัญหาการโฆษณาเสนอขายโปรแกรมทัวร์ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด คิดเป็นร้อยละ 2.19 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและไม่มีการชดเชยเยียวยาความเสียหายต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
สถานการณ์ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินที่เกิดจากบริการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์(ธุรกิจนำเที่ยว) ซึ่งสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรณีบริษัทนำเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ ยกเลิกทัวร์ท่องเที่ยว แต่บริษัทฯ ยังไม่คืนเงินให้แก่ผู้บริโภคและมีผู้เสียหายจำนวนหลายร้อยราย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก โดยบริษัทที่ถูกร้องเรียนสูงสุดลำดับที่หนึ่งคือ บริษัท อ้วน ผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด และอันดับที่สองคือ บริษัท บลูนาวี หัวหิน จำกัด
การดำเนินงาน
จากสถิติเรื่องร้องเรียนจากธุรกิจนำเที่ยว สภาผู้บริโภคพบว่า เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจได้เปิดให้ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาซื้อบริการนำเที่ยวล่วงหน้า กล่าวคือการที่ผู้บริโภคต้องนำเงินทั้งหมดไปซื้อบริการที่จะได้รับในอนาคต รวมถึงมีการโฆษณาขายบริการนำเที่ยวในราคาที่ถูกเกินจริง และกำหนดเวลาให้ตัดสินใจน้อยเพื่อทำให้ผู้บริโภคต้องรีบตัดสินใจในทันทีโดยไม่อาจพิจารณาให้รอบด้าน ว่าราคากับบริการที่ได้รับนั้นเป็นไปได้จริงหรือไม่ และเมื่อตรวจสอบบริษัทที่เกิดปัญหาจากการดำเนินธุรกิจในลักษณะดังกล่าว มักพบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทถูกต้องแต่กลับขาดการส่งงบการเงินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือบางครั้งมีใบอนุญาต แต่ใบอนุญาตหมดอายุ จากปัญหาข้างต้น
สภาผู้บริโภคจึงได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้บริโภค รวมถึงให้หน่วยงานที่มีอำนานจหน้าที่เข้าดำเนินการกับบริษัทนำเที่ยวที่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของมาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ของประเทศไทย ที่เกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยว พบว่ามีกฎหมายหลายฉบับออกมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมนำเที่ยวของไทย ที่มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก แต่กฎหมายที่เยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายกลับไม่ได้มีการพัฒนาไปตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่าเพื่อป้องกันผู้ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค และปกป้องผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
- ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีอำนาจออกกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 โดยคณะกรรมการธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ ออกประกาศให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือกรมการท่องเที่ยวเผยแพร่ข้อมูลบริษัทนำเที่ยวที่จำเป็นโดยภาพรวมบนเว็บไซต์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการ ผลกำไร และการร้องเรียนได้ และขอให้ออกประกาศกระทรวงให้การเสนอขายทัวร์บนสื่อออนไลน์ แสดงข้อมูลติดต่อบริษัทนำเที่ยวหรือลิ้งก์เชื่อมโยงข้อมูลชื่อบริษัทที่จดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบยืนยันการจอง และขอออกหลักฐานการจองพร้อมใบเสร็จรับเงินได้
- ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 เนื่องจากในประกาศเดิมไม่มีข้อกำหนดดังกล่าวไว้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับรองว่าจะได้รับการชดเชยจากกรณีการประกอบธุรกิจไม่สุจริตของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว โดยเพิ่มเติมข้อความเป็นข้อที่ 5 ทวิ คือ “ข้อ 5 ทวิ กรณีที่ถูกยกเลิกทัวร์ โดยมิใช่ความผิดของนักท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคร้อยละหนึ่งร้อยของเงินค่าบริการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย”
- ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 เพิ่มผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นกรรมการในคณะกรรมการธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ เนื่องจากคณะกรรมการธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศกตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่มีตัวแทนของผู้บริโภคหรือภาคประชาชน มีเพียงตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาไม่รอบด้าน และขาดมุมมองการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอให้มีตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคในคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว หรืออนุกรรมการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค หรือภาคประชาชน ทั้งนี้ ในฐานะที่สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภค นอกจากนี้การเข้ามาทำหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคจะช่วยสนับสนุนการทำงานของกรมการท่องเที่ยวในเรื่องการเฝ้าระวังให้เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยว มาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ตลอดจนความรับผิดชอบที่มีต่อนักท่องเที่ยว ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. ธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551
- ขอให้กรมการท่องเที่ยวเพิ่มหลักเกณฑ์ในการขอใบอนุญาต หลักเกณฑ์พิจารณาการขอต่อใบอนุญาต และแนวปฏิบัติภายใต้ใบอนุญาต ที่ต้องมีรายละเอียดการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และดำเนินการจัดนำเที่ยวประกอบในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพิ่มเติม ดังนี้
เพิ่มหลักเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว
4.1 เพิ่มข้อกำหนดให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องแสดงสถานะใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว สถานะทะเบียนบริษัท และการส่งงบการเงินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผู้บริโภคทราบ
เพิ่มหลักเกณฑ์พิจารณาการขอต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว
4.2 เพิ่มการพิจารณาจำนวนข้อร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว และจำนวนเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถแก้ไขปัญหาได้
4.3 เพิ่มข้อมูลการส่งงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากรของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
แนวปฏิบัติภายใต้ใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยว
4.4 กรณีการจัดโปรแกรมนำเที่ยว ให้ห้ามขายแพคเกจทัวร์ล่วงหน้าเกิน กว่า 6 เดือน เนื่องจากพบว่าการขายแพคเกจทัวร์ล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานเป็นความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจจะถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามแผนการนำเที่ยวที่เสนอขาย - ขอให้กรมการท่องเที่ยว จัดตั้งกองทุนชดเชยเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตตามสัดส่วนวงเงินจากการเรียกเก็บค่าบริการนำเที่ยวจากนักท่องเที่ยวที่สอดคล้องตามขนาดการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และศึกษาแนวทางบริหารจัดการกองทุนในลักษณะเดียวกันกับ กองทุนประกันวินาศภัย เนื่องจากบริษัททัวร์ที่ไม่จ่าย หรือเลิกกิจการไป ก็ควรมีกองทุนเพื่อดูแลผู้บริโภค
- ขอให้กรมการท่องเที่ยวเร่งพิจารณาการเพิ่มวงเงินหลักประกันของบริษัทนำเที่ยวทั้ง 4 ประเภทเพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวให้เพียงพอ เมื่อบริษัทนำเที่ยวมีปัญหา และมีแนวทางในการคัดกรองธุรกิจนำเที่ยวที่มีความสามารถในการบริการกิจการได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มการวางหลักประกันเข้ากองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป (outbound) จากเดิม 60,000 บาท เนื่องจากวงเงินเดิมไม่เพียงพอต่อการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในการดูแลนักท่องเที่ยว และทำให้ขาดความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยโดยภาพรวม
ความคืบหน้า
–