ข้อเสนอมาตรการแก้ปัญหาการเรียกคืนถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะในประเทศไทย
สถานการณ์
แม้ว่ากรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และบริษัทรถยนต์ได้ดำเนินมาตรการติดตามเรียกคืนถุงลมนิรภัยทาคาตะอย่างต่อเนื่อง แต่จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ณ วันที่ 6 กันยายน 2566 เรียกคืนชุดสร้างแรงดันถุงลมเสริมความปลอดภัย (ถุงลมนิรภัย) ยี่ห้อทาคาตะ ในประเทศไทยพบเจอว่ามีรถยนต์อยู่ในข่ายต้องเปลี่ยน จำนวนทั้งสิ้น 1,660,341 คัน และดำเนินการเปลี่ยนไปแล้ว 1,084,579 คัน แต่ยังเหลือ 575,762 คัน ที่ยังไม่ได้ทำการเปลี่ยน ซึ่งก็นับเป็นจำนวนคงเหลืออีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 อย่างไรก็ตามการมีรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยใช้งานอยู่บนถนน มีแนวโน้มเป็นอันตรายทั้งต่อผู้ขับรถยนต์ และต่อผู้ร่วมใช้ถนน และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้มีข้อกำหนดเอาไว้ว่า รถที่จะนำมาใช้จะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ และขนาด ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับ ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่รถคันอื่นๆ คนเดินถนน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน โดยรถที่ต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปี
ด้านการรณรงค์และประชาสัมพันธ์พบปัญหาว่าการรับรู้ถึงปัญหาถุงลมนิรภัยทาคาตะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสื่อสารไม่ต่อเนื่อง ทำให้เจ้าของรถยนต์บางส่วนไม่รู้ถึงปัญหานี้ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ การประชาสัมพันธ์ผ่านวิทยุกระจายเสียง และวิทยุท้องถิ่น มีความจำเป็น ควรต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องการการร่วมมือกันประชาสัมพันธ์ในทุกภาคส่วน ทั้งกรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย บริษัทรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บริษัทประกันภัย รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภคเองก็ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงปัญหาและอันตรายให้มากที่สุด จากตัวเลขอัตราการนำรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยติดต่อเปลี่ยนที่ศูนย์บริการเพิ่มมากขึ้นขึ้นในช่วงที่มีการประชาสัมพันธ์
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เพื่อให้เกิดมาตรการการจัดการให้มีการนำรถยนต์ที่เข้าข่ายนำรถยนต์เข้ามาเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ นั้น กรมการขนส่งทางบก สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และ 8 บริษัทรถยนต์ ร่วมลงนามบันทึกความตกลง “โครงการความร่วมมือการรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำ รถยนต์เข้าตรวจสอบและแก้ไขถุงลมนิรภัย” และพัฒนาพร้อมเปิดใช้งาน “ระบบแจ้งเตือนถุงลมนิรภัย” เพื่อให้ประชาชนเร่งนำรถรุ่นที่เข้าข่ายใช้ถุงลมนิรภัยที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ารับการตรวจสอบ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้ทราบข้อมูลของเจ้าของรถยนต์ที่เป็นปัจจุบัน และเป็นการสื่อสารโดยตรงกับเจ้าของรถยนต์ให้ทราบได้ทันที เมื่อเจ้าของรถยนต์มาติดต่อดำเนินการทางทะเบียนและภาษีทั้งในสำนักงานขนส่งทั่วประแทศและผ่านระบบออนไลน์ของกรมขนส่งทางบก อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีรถที่ดำเนินการทางทะเบียนและภาษีผ่านทาง สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ซึ่งใช้เพียงสมุดทะเบียนรถหรือสำเนารถยนต์ใช้เล่มสีน้ำเงินเท่านั้น หากไม่มีระบบแจ้งเตือนก็จะทำให้เจ้าของรถยนต์ไม่ทราบว่ารถยนต์ของตนนั้นเป็นรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยเพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ใช้รถยนต์และผู้ร่วมทางในพื้นที่สาธารณะ
การดำเนินงาน
ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์ ปรับปรุงตามแผนที่เสนอต่อ สคบ. เป็นระยะจากบริษัท และได้พัฒนาระบบต่อทะเบียนให้มีการตรวจสอบเลข Chasis เพื่อแจ้งต่อเจ้าของรถยนต์ที่มาติดต่อขอต่อทะเบียนให้ทราบ (ระบบสมัครใจ)
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
- ขอให้กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ช่วยจัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนจากรถยนต์ที่เข้าข่าย
- สร้างความมั่นใจต่อระบบแจ้งเตือน เพื่อความปลอดภัยอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ระบบสามารถติดตามได้ว่ารถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนและได้แจ้งต่อเจ้าของรถยนต์ที่มาติดต่อแล้วนั้น ได้ทำการประสานไปยังศูนย์ เพื่อลงทะเบียนจองคิวเปลี่ยนแล้ว
- ขอให้กรมการขนส่งทางบกขยายผลการแจ้งเตือนภัย และมีการออกเอกสารรับรองการเปลี่ยนโดยบริษัทรถยนต์ให้กับเจ้าของรถยนต์ที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแล้ว สามารถนำไปยื่นเป็นเอกสารหลักฐานต่อ ตรอ. ได้
- ขอให้กรมการขนส่งทางบกหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในเรื่องการเตรียมปริมาณสินค้าคงคลังในกลุ่มอะไหล่ถุงลมนิรภัยที่ได้มาตรฐานให้เหมาะสมเพียงพอ
- ขอให้กรมการขนส่งทางบกมีแผนประชาสัมพันธ์เตือนภัยอย่างทันสถานการณ์ โดยเฉพาะกรณีที่มีการเรียกคืนถุงลมโดยสมัครใจของผู้ประกอบการที่บริษัทเเม่(สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ)
ความคืบหน้า
13 พ.ย. 2566 สภาผู้บริโภคทำหนังสือติดตามไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการของกรมการขนส่งทางบก