ข้อเสนอแนะและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีหุ้นกู้ STARK

สถานการณ์

จากสถานการณ์หุ้นกู้ STARK ของบริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายไม่โปร่งใส เช่น สภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ การนำเงินไปลงทุนในบริษัทต่างประเทศ การทำธุรกรรมต่างๆในต่างประเทศ การไม่ส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 หรือการส่งงบการเงินประจำปี 2565 ไม่ทันกำหนด การประกาศลาออกของกรรมการบริหารทั้งหมด การแต่งงบการเงิน การทุจริตภายใน การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือไม่แจ้งข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการลงทุน ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขึ้นสถานะห้ามซื้อขายหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบวงกว้างและอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน และสืบเนื่องไปถึงการจ้างงานได้ หากการระดมเงินทุนในลักษณะดังกล่าวมีความล้มเหลวและขาดความเชื่อมั่นจนกระทั่งบริษัทต่างๆ ต้องปิดกิจการ


การดำเนินงาน

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 สภาผู้บริโภคและผู้เสียหายกรณีหุ้นกู้ STARK จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบและขอให้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี สภาผู้บริโภคเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีผลกระทบวงกว้างและอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน และอาจเกิดผลกระทบสืบเนื่องไปถึงการจ้างงานได้ หากการระดมเงินทุนในลักษณะดังกล่าวมีความล้มเหลวและขาดความเชื่อมั่นจนกระทั่งบริษัทต่างๆ ต้องปิดกิจการ ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจึงได้มีข้อเสนอแนะและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีหุ้นกู้ STARK ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. เสนอให้ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์กำหนดมาตรการการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อม ด้วยการให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว เข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทที่ต้องการจะเข้าตลาดหุ้น (Backdoor Listing) ให้รัดกุม ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์การเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน (Initial Public Offering : IPO)

2. ขอให้ ก.ล.ต. ดำเนินการตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดขอให้ลงโทษธนาคารกสิกรไทยและบริษัทในเครือ ในฐานะผู้ขายหุ้นกู้ STARK ให้แก่ผู้ลงทุนรายย่อย

3. ขอให้ ก.ล.ต. บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ให้ทันต่อสถานะความเสียหายอย่างเข้มงวด

4. ขอให้ ก.ล.ต. ปรับปรุง แก้ไข หลักเกณฑ์ ในการควบคุมองค์กรที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder)
4.1 ในส่วนของบริษัทหรือสถาบันที่ทำหน้าที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ให้มีความรัดกุมสมกับเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ทำหน้าที่จัดอันดับความน่าเชื่อถืออันจะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุน
4.2 ในส่วนของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ควรมีหลักเกณฑ์ในลักษณะของการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค โดยเปิดช่องให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการเรียกร้องได้ด้วยตนเองเมื่อเกิดกรณีผิดนัดชำระแล้ว โดยไม่ต้องรอการดำเนินการของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

5. ขอให้ ก.ล.ต. จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้เสียหายกรณี STARK

6. เสนอให้ ก.ล.ต. จัดตั้งกองทุนชดเชยเยียวยาความเสียหายกับผู้เสียหายกรณี ผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทุจริตและ/หรือกรณีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

7. เสนอให้ ก.ล.ต. เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดทุน โดยเพิ่มตัวแทนผู้บริโภคในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


ความคืบหน้า

อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ