ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 (net metering)

สถานการณ์

หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (net metering) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมติ ครม. ดังกล่าวได้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้รวบรวมปัญหาจากการดำเนินการและจัดทำเป็นข้อเสนอให้แก่หน่วยงานทั้งหมด


การดำเนินงาน

1. คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เพื่อสอบถามความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปฏิบัติตามมติ ครม. วันที่ 27 ก.ย. 2565

2. ส่งหนังสือเพื่อส่งข้อเสนอให้กับปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพลังงาน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. ให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ ก) แก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ให้การติดตั้งโซลาร์รูฟทอปที่ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ อนุโลมให้ไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง เพื่อช่วยลดต้นทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟทอป สร้างแรงจูงใจให้มีผู้ติดตั้งมากขึ้น เนื่องจากการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปที่ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 กิโลวัตต์จะไม่ส่งผลต่อโครงสร้างของหลังคา ข) ให้เจ้าของอาคารเป็นผู้รับรองความแข็งแรงของหลังคาด้วยด้วยตนเอง

2. ให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการ ก) ร่วมกับ กกพ. ปรับปรุงโครงการโซลาร์ภาคประชาชนโดยคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าและใช้มิเตอร์เพียงตัวเดียว ข) กำหนดมาตรฐานการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปสำหรับกลุ่มครัวเรือนโดยกำหนดรายละเอียดมาตรฐานต่าง ๆ ของอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปให้ชัดเจน ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวให้รวมถึง Single Line Diagram ด้วย ค) แก้ไขระเบียบ อนุโลมให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าในท้องที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการรับรอง Single Line Diagram แทนวิศวกรไฟฟ้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ง) ปรับปรุงระบบการขอเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าให้มีความรวดเร็ว สามารถรองรับการเติบโตของโซลาร์รูฟทอปได้

3. ให้เลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จัดการประชุม กพช. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย net metering รวมถึงแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติตามนโยบาย net metering เป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ

4. ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการ ก) ทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (แผน AEDP) เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มโซลาร์รูฟ ทอปตามนโยบาย net metering และลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ข) เร่งรัดให้เลขานุการของ กพช. จัดการประชุม กพช. โดยด่วนเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย net metering

5. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการ ก) จัดประชุมร่วมกับ สนพ. เพื่อขอความชัดเจนด้านแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้การคิดค่าไฟฟ้าแบบ net metering เป็นไปได้ สามารถปฏิบัติได้จริง ข) เร่งรัดการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้เป็นไปตามนโยบาย net metering ค) ทบทวนขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าคืนตามนโยบาย net metering จากเดิม 10 ปี เป็น 25 ปี

6. ให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังออกประกาศยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่ผลต่อการประหยัดพลังงาน สำหรับบุคคลธรรมดาที่ติดตั้งโซลาร์รูฟทอปขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปตามนโยบาย net metering


ความคืบหน้า

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ 3 เหตุผลของกระทรวงพลังงาน ทำไมไทย ไม่พร้อมใช้ net metering ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 โดยเสนอให้รัฐบาลคงมาตรการส่งเสริมโซลาร์ รูฟทอปแบบเดิม คือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท ดังนั้น จึงเท่ากับว่าอาจจะไม่มีการปฏิบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการคิดค่าไฟฟ้าแบบ net metering ตามมติ ครม.ฯ คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม จะได้ขับเคลื่อนให้เกิดนโยบาย net metering กับรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป