ข้อเสนอต่อกรณีสมาคมประกันชีวิตไทย ได้กำหนดแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อไสรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัทประกันชีวิต

สถานการณ์

จากกรณีสมาคมประกันชีวิตไทย กำหนดแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัทประกันชีวิต ให้สอดคล้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด 19 แบบ Home Isolation ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแนวทางปฏิบัติการส่งต่อหรือการเข้าเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยที่ป่วยเป็นโรคโควิด หากจะเบิกค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยรายได้จากการนอนโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทลได้ ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อ ดังนี้

1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง

2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่

3. Oxygen Saturation < 94%

4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์ และ

5. สำหรับในเด็กหากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง หากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถเบิกค่ารักษาจากบริษัทประกันได้ ทั้งนี้ จะเริ่มใช้แนวปฏิบัตินี้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป


การดำเนินงาน

คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารของ สอบ. จึงขอเสนอนโยบายหรือมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีสมาคมประกันชีวิตไทย กำหนดแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัทประกันชีวิต ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. บริษัทประกันภัยต้องใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับปี 2564 ในการเบิกค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยรายได้ในปี 2565

2. บริษัทประกันภัยต้องให้เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยการขาดรายได้ เนื่องจากการซื้อประกันชีวิตนั้น ผู้บริโภคต้องการการบริการที่ดีกว่าภาครัฐ และต้องการได้รับค่าชดเชยจากการรักษาพยาบาล หากในการซื้อประกันผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจว่า มีเงื่อนไขในการอ้างสิทธิขอเอาประกันเช่นนี้ ผู้บริโภคอาจจะตัดสินใจไม่ซื้อประกัน

3. ขอให้คปภ. ในฐานะเป็นนายทะเบียน บังคับใช้กฎหมาย โดยให้บริษัทประกันปฏิบัติตามสัญญาตามที่นายทะเบียนเห็นชอบ หรือนายทะเบียนสั่งให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบหรือกรมธรรม์ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535


ความคืบหน้า

      อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ