ข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณี การส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในเขตกรุงเทพมหานคร

ความเป็นมา / สถานการณ์

ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่นร่วมกับคลินิกเอกชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคลินิกเวชกรรมจำนวนกว่า 300 แห่ง เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเบื้องต้นหรือผู้ป่วยนอก และสามารถส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการที่มีศักยภาพมากกว่า หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองสามารถเข้ารับบริการสุขภาพในระดับต่างๆ ได้สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงมากขึ้น

จากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเรื่อง ระบบการเบิกจ่ายระหว่างคลินิกชุมชนอบอุ่นและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขตพื้นที่ 13 ทำให้มีการปฏิเสธการออกใบส่งตัวผู้ป่วย การเรียกเก็บค่าออกใบส่งตัว การบังคับบริจาคการออกใบส่งตัว การจำกัดโควต้าการออกใบส่งตัว หรือการส่งตัวที่ล่าช้าทำให้อาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วย ปัญหาการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโรค NCDs ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 7 วัน และ 10 วัน ซึ่งปกติจ่ายเป็นเดือน ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่าย และเสียเวลางานในการมารับยา หรือถ้าต้องการยาเพิ่มต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง จนทำให้เกิดข้อร้องเรียนซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายตามข้อเสนอของคลินิกชุมชนอบอุ่นแล้ว แต่ยังคงปรากฏเหตุการณ์และข่าวบนสื่อออนไลน์เรื่อง การปฏิเสธการออกใบส่งตัวผู้ป่วยของคลินิกชุมชนอบอุ่นอยู่ต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภคได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบและได้รวมตัวกันบนสื่อออนไลน์ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา ทั้งการถูกปฏิเสธการออกใบส่งตัวผู้ป่วย การเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยล่วงหน้า อีกทั้ง ยังมีผู้ป่วยที่ได้ร้องเรียนมายังสภาผู้บริโภคว่า คลินิกผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และครอบคลุมสำหรับผู้เสียหายทุกคน

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เห็นว่าสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย ทำให้ขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาล และไม่เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขที่กำหนดไว้ จึงได้จัดเวทีสภาผู้บริโภค เรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค” ขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพมหานครระหว่างผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้ง สมาคมคลินิคชุมชนอบอุ่น เครือข่ายและองค์กรสมาชิกองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วม และประชาชนผู้รับบริการที่ได้รับผลกระทบ ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1. ไม่ได้รับความสะดวกในการออกไปส่งตัว 2. มีการเรียกเก็บเงินคนไข้กรณีไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ข้อเสนอจากเวทีดังกล่าวสภาผู้บริโภคได้จัดทำหนังสือข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณี การส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต่อ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธาณสุข และนายกแพทยสภา ได้รับการตอบกลับแนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักอนามัย


การดำเนินงาน

คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภคได้รวบรวมข้อมูลคิดเห็นทั้งหมดจากเวทีดังกล่าว และจากการตอบกลับแนวทางการดำเนินงานแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการสุขภาพและลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคในปัจจุบันต้องเผชิญ และเสริมสร้างระบบบริการสุขภาพที่เข้มแข็งและเพิ่มความยั่งยืนในการให้บริการแก่ประชาชนในระยะยาวจึงได้จัดทำข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

1. เร่งด่วน

1.1 การปรับปรุงระบบคลินิกเป็นสถานพยาบาลปฐมภูมิ
ขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับหน่วยบริการปฐมภูมิและคลินิกชุมชนอบอุ่น แก้ไขปัญหาระบบการส่งต่อผู้ป่วย โดยจัดให้มีกติกาในการส่งต่อผู้ป่วย และออกแบบระบบการจ่ายเงินที่เหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและคุณภาพในการให้บริการแก่ประชาชน

1.2 การดำเนินนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่”
นโยบายนี้ควรถูกนำเสนอและสื่อสารอย่างชัดเจนต่อประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร
ควรแจ้งสถานที่ที่ประชาชนสามารถรับบริการได้ เช่น ร้านขายยา คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนและลดความแออัดในโรงพยาบาล

2. ระยะยาว

2.1 การพัฒนาและยกระดับศักยภาพการให้บริการของศูนย์บริการสาธารณสุข
2.1.1 ศูนย์บริการสาธารณสุขควรได้รับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการให้บริการให้เทียบเท่ากับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.)
2.2.2 ศูนย์บริการสาธารณสุขควรเป็นหน่วยบริการประจำของประชาชนและสามารถรับขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองได้อย่างน้อย 50,000 คน
2.2.3 คลินิกชุมชนอบอุ่นควรทำหน้าที่เป็นเครือข่ายบริการปฐมภูมิ เพื่อสนับสนุนการให้บริการที่ครอบคลุม

2.2 ทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร
2.2.1 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครเพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับส่งต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะทาง
2.2.2 เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ลดระยะเวลารอคอย และลดความแออัดในหน่วยบริการสาธารณสุข
2.2.3 ไม่ควรจำกัดการให้บริการเพียงแค่การรักษาฉุกเฉินวิกฤต แต่ควรขยายขอบเขตการรับส่งต่อผู้ป่วยในกรณีอื่น ๆ ด้วย


ความคืบหน้า

สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดทำข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณี การส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567