ข้อเสนอต่อปัญหามาตรฐานคุณภาพของหน้ากากอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียว ระดับการป้องกันทั่วไป ระดับใช้ทางการแพทย์และศัลยกรรม
สถานการณ์
มีผู้บริโภคร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในประเด็นข้อสงสัยด้านประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใช้เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อฯ ในระลอกที่ 3 มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ประชาชนทั่วไปจะปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างครบถ้วน เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ด้านนอก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่าง ทำงานที่บ้าน จึงมีข้อสังเกตว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไป อาจไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จึงเสนอมายังสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เพื่อให้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด
การดำเนินงาน
คณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สอบ. ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการสำรวจหน้ากากอนามัยแบบชนิดใช้ครั้งเดียว ตามข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่เกิดความไม่มั่นใจต่อคุณภาพในการป้องกันโรคของหน้ากากอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียว โดยได้จัดเก็บตัวอย่างเพื่อดำเนินการทดสอบคุณภาพมาตรฐานของหน้ากากอนามัยที่วางจำหน่ายช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ.2564 และจัดเก็บข้อมูลการแสดงฉลากต่อผู้บริโภค จำนวน 60 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการกรอง อนุภาคขนาดเล็ก (Filter Efficiency) ทดสอบความสามารถในการซึมผ่านของอากาศ (Air Permeability)
โดยอ้างอิงจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของหน้ากากอนามัย มาตรฐาน มอก. 2424-2562 และมาตรฐาน มอก. 2480-2562 ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 จากการทดสอบพบว่า หน้ากากอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียวกว่าร้อยละ 68 ไม่ผ่านมาตรฐาน จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเร่งรัดดำเนินการกำกับดูแลตามอำนาจและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานโดยทันที
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
1. ข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
1.1 ขอให้ สคบ. ควบคุมฉลากบรรจุภัณฑ์ของหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ให้เป็นไปตามเกณฑ์ ข้อกําหนด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินคาได้ถูกต้องตามการแบ่งประเภทของหน้ากากอนามัย ตามชั้นคุณภาพ รวมถึงแสดงฉลากให้เป็นภาษาไทย
1.2 ขอให้ สคบ.ตรวจสอบการโฆษณาบนบรรจุภัณฑ์ของหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ระดับการป้องกันการใช้งานทั่วไป ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่สัมพันธ์กับข้อมูลมาตรฐานที่แสดงให้ผู้บริโภคทราบ
2.ข้อเสนอต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
2.1 ให้ สมอ.กำหนดให้หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวเป็นมาตรฐานบังคับ
2.2 ให้มีบทกำหนดโทษในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนละเมิดสิทธิผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค
3.ข้อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ขอให้เร่งดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และให้หน้ากากอนามัยทั้งแบบชนิดใช้ครั้งเดียวในระดับการป้องกันการใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) และระดับการป้องกันการใช้งานด้านการแพทย์ทางศัลยกรรม (Surgical Grade) และชนิด N95 ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไปนั้น แสดงเลขทะเบียนเครื่องมือแพทย์ให้ครบถ้วน
4.ข้อเสนอต่อกรมการค้าภายใน
4.1 ให้เข้มงวดในการควบคุมราคาสินค้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทย ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2564 ข้อ 3 ที่กำหนดให้จำหน่ายปลีกในราคาไม่เกิน 2.50 บาทต่อชิ้น รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
4.2 ให้กำหนด หรือเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบธุรกิจ หากละเมิดข้อบังคับ
4.3 ให้มีช่องทางการตรวจสอบราคาต้นทุนของหน้ากากอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียวที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสอบเทียบราคา เปรียบเทียบการจำหน่ายราคาเกินราคาควบคุม และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2564 ข้อ 4 (1) (2) และ (3) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
5.ข้อเสนอต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ขอให้ส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้นำเข้าสินค้าหน้ากากอนามัย จดทะเบียนร้านค้าอย่างถูกต้อง และแสดงสัญลักษณ์ร้านค้าที่จดแจ้ง
ความคืบหน้า
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รับทราบ และชี้แจ้งเบื้องต้นว่ากำลังพิจารณา ให้หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว อยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)