ข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเร่งด่วนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
สถานการณ์
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร รวมถึง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTSC และผู้บริหารบริษัท รวมทั้งหมด 13 ราย กรณีว่าจ้างบริษัท BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ระยะเวลาสามสิบปีไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท BTSC เพียงรายเดียวนั้น
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) มีข้อห่วงใยต่อประเด็นดังกล่าว ด้วยเห็นว่า ปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค มีสาเหตุเริ่มต้นจากการที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ทำสัญญาจ้างบริษัท BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักและส่วนต่อขยาย 1 ในปี 2555 และส่วนต่อขยาย 2 ในปี 2559 ด้วยสัญญาจ้างล่วงหน้าที่มีอายุสัญญาเกินกว่าสัญญาสัมปทานหลักที่จะครบสัญญาในปี 2572 ออกไปถึงปี 2585 ต่อเนื่องถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ที่ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำสัญญาสัมปทานหรือสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่กับบริษัท BTSC ให้ขยายเวลาสัญญาสัมปทานจากปี 2572 ออกไปถึงปี 2602 นั้น
สภาองค์กรของผู้บริโภค พิจารณาแล้วเห็นว่า จากมติคณะกรรมการ (ปปช.) และปมปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีส่วนสำคัญสืบเนื่องจากการบริหารงานของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในอดีตที่อาจเข้าข่ายลักษณะการทำสัญญาเอื้อประโยชน์กับเอกชนเพียงรายเดียวที่มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากภายหลังคณะกรรมการ (ปปช.) พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วมีมติชี้มูลความผิดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว อาจมีผลทำให้สัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นมูลค่ามหาศาลและยากเกินจะเยียวยาแก้ไขให้กลับไปสู่จุดเดิม อีกทั้งจะไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ต่อการบริหารงานกรุงเทพมหานครที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน
การดำเนินงาน
จัดทำข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่า กทม เพื่อขอให้ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียวให้เป็นธรรม
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
1. ขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ปปช. ต่ออดีตคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยการยกเลิกสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 ที่เกินเลยระยะเวลาสัญญาสัมปทานหลักและราคาแพงเกินจริงเสร้างภาระให้ผู้บริโภคและกรุงเทพมหานคร
2. ขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการแก้ไขและจัดทำสัญญาจ้างเอกชนเดิน รถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเชียวส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 ฉบับใหม่ โดยกำหนดให้สัญญาจ้างเดินรถในทุกเส้นทางครบเวลาสิ้นสุดในปี 2572 ภายใต้ระยะเวลาสัญญาสัมปทานเดิม
3. สภาผู้บริโภคเสนอตัวเป็นคนกลางร่วมกับกรุงเทพมหานครในการเจรจากับรัฐบาลใหม่ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTSC เพื่อแก้ไขสัญญาจ้างเอกชนเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเชียวส่วนหลัก ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 และจัดทำสัญญาสัมปทานเดินรถใหม่ โดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนและภาครัฐพึงได้รับจากการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบนี้
4. สภาผู้บริโภคเสนอตัวเป็นคณะกรรมการร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการดำเนินการขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้กับเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร 50 เขต เพื่อพัฒนาระบบการเชื่อมต่อบริการขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพปลอดภัย ทั่วถึงและราคาเป็นธรรมในกรุงเทพมหานคร
ความคืบหน้า
อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ