สภาผู้บริโภคชี้รัฐละเลยคุมราคา เกิดปัญหา รพ.เอกชน คิดค่ารักษาตามใจ

ผู้บริโภคร้องค่ารักษา รพ.เอกชนไม่มีมาตรฐานกลาง เรียกเก็บค่าบริการตามใจชอบ สภาผู้บริโภคชี้สาเหตุภาครัฐละเลยการควบคุมกำกับค่ารักษา

ทีมข่าวสภาผู้บริโภค รายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้พบกรณีผู้บริโภคสะท้อนปัญหาผ่านเฟซบุ๊กถึงการเข้าไปใช้บริการรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาต่างกันแม้จะเข้าใช้บริการด้วยอาการเดียวกัน ขณะนั้นผู้บริโภครายดังกล่าวยังไม่ได้ใช้ประกันสุขภาพ โรงพยาบาลคิดค่าบริการ 1,400 บาท ต่อมามีอาการเจ็บป่วยในลักษณะเดิมแต่ใช้ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก กลับถูกคิดค่าบริการ 3,400 บาท โดยประกันคุ้มครองค่าใช้จ่าย 2,000 บาท ทำให้ต้องจ่ายเพิ่มเองอีก 1,400 บาท ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการใช้บริการนั้น

นอกจากนี้ ยังพบกรณีที่ผู้บริโภคพาคุณพ่อไปพบแพทย์ เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุทำให้ศีรษะแตก เมื่อไปโรงพยาบาลได้แจ้งว่าไม่มีประกัน ซึ่งหลังจากแพทย์เย็บแผลให้ 16 เข็ม มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 14,500 บาท เมื่อถึงวันนัดล้างแผลจึงได้ถามการเงินว่าทำไมค่ารักษาถึงสูงขนาดนี้ การเงินแจ้งว่า ‘เพราะคิดว่ามีประกันจึงคิดราคาเข็มละ 575 บาท’ เมื่อแจ้งไปอีกครั้งว่าไม่มีประกันสุขภาพ โรงพยาบาลจึงแจ้งว่าจะทำเรื่องคืนเงินให้ ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ผู้บริโภคจึงเกิดคำถามว่า ทำไมโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่มีมาตรฐานของค่ารักษา และเหตุใดผู้บริโภคต้องรับมือกับความผันผวนทางราคา และใครหรือหน่วยงานใดต้องควบคุมดูแลเรื่องนี้

กรณีดังกล่าว นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค เสนอให้ให้ผู้บริโภคต้องตรวจสอบใบเสร็จมีรายการใดบ้างที่จ่ายไป และเหตุใดที่การรักษาอาการเดียวกันแต่เมื่อมีประกันภัยจ่ายค่ารักษาให้ราคากลับเพิ่มขึ้น  แสดงว่าโรงพยาบาลแห่งนั้นอาจไม่ทำตามประกาศอัตราค่าบริการที่ติดประกาศไว้ ซึ่งกรมการค้าภายในที่กำกับดูแลเรื่องประกาศอัตราค่าบริการไม่ควรนิ่งเฉยกับกรณีนี้

อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ยังชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหานี้ เป็นเพราะไม่มีการควบคุมราคาค่ารักษา โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่ต้องกำกับดูแลปล่อยปละละเลย ทำให้โรงพยาบาลเอกชนคิดราคาค่ารักษาได้โดยไม่มีเพดานกำหนด ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่า ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ เผยต่อว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการ คือ การทบทวนมาตรการกำกับค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริงและกำหนดราคากลางที่เป็นธรรม รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนมากเกินไป เพราะจะกลายเป็นช่องโหว่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกิดขึ้น

“เมื่อเกิดปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ภาครัฐจะแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีไป ไม่มีแนวทางที่แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ หรือมีมาตรการที่จะออกมาควบคุมกำกับราคาอย่างจริงจัง เพราะภาพรวมคือการขาดกลไกการควบคุมกำกับ ไม่มีภาครัฐเคยดูเลยว่าโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินอย่างไร ผู้บริโภคแทบไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย”

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเคยส่งหนังสือข้อเสนอนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเสนอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กำกับราคาค่ารักษาพยาบาลให้ชัดเจน มีมาตรฐาน และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค รวมถึงเสนอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พัฒนาระบบคลังข้อมูล โดยกำหนดให้มีการแสดงรายละเอียดของรายการที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนค่าบริการรักษาพยาบาลในงบกำไรขาดทุนของโรงพยาบาลเอกชน

“เราเคยเสนอองค์ความรู้ในการควบคุมราคาว่า จริง ๆ สามารถทำกลไกการควบคุมราคาได้ โดยใช้ข้อมูลที่กรมการค้าภายในและข้อมูลที่กรมพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สังกัดกระทรวงพาณิชย์มีข้อมูล ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนตอบรับข้อเสนอ แต่สภาผู้บริโภคจะผลักดันข้อเสนอต่อเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค” นพ.ขวัญประชา ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบปัญหาถูกเรียกเก็บค่ารักษาแพงเกินจริง ร้องเรียนได้ที่สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th และสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค ทั้ง 19 จังหวัด โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์  https://www.tcc.or.th/tcc-agency/