Getting your Trinity Audio player ready... |

สภาผู้บริโภคส่งสัญญาณเตือน หวั่นประมูลคลื่นความถี่กระทบความมั่นคง – สร้างตลาดผูกขาด เตรียมยื่นนายกฯ วางมาตรการรับมือด่วน
จากการที่สภาผู้บริโภคได้ติดตามสถานการณ์การประมูลคลื่นความถี่มาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคนั้น
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ สภาผู้บริโภคจะเตรียมยื่นข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เนื่องจากเห็นว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกันหลายย่านโดยไม่จำเป็น อาจนำไปสู่การขาดการแข่งขันที่แท้จริง และส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ที่พึงได้จากการประมูล นอกจากนี้ สภาพตลาดโทรคมนาคมในปัจจุบันหลังจากการควบรวมธุรกิจมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองรายเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคเผชิญกับความเสี่ยงจากการกำหนดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม และคุณภาพบริการที่อาจลดลงได้
ทั้งนี้ คลื่นความถี่ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเปิดประมูลคลื่นพร้อมกันมีถึง 4 ย่าน ได้แก่ ย่าน 850 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz (เฉพาะที่จะสิ้นสุดปี 2568 ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT) และ 2300 MHz ในวันที่ 29 มิถุนายน 2568
“หากนำคลื่นความถี่ที่ NT ถือครองไปประมูลทั้งหมด กังวลว่ากรณีการหมดอายุใบอนุญาตของ NT ที่เป็นรัฐวิสาหกิจและมีภารกิจในการให้บริการสาธารณะโดยตรง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในยามวิกฤติ โดยเฉพาะต่อกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องใช้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจาก NT และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ให้อยู่ในเงื่อนไขการแข่งขันประมูลภายใต้อัตราค่าบริการที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังอาจทำให้การแข่งขันในตลาดลดลงอีกด้วย” สุภิญญา ระบุ
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังเรียกร้องให้มีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม โดยมีมาตรการจูงใจที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น รวมถึงการกำหนดเพดานราคาค่าบริการ และมีมาตรการในการกำกับดูแลคุณภาพบริการหลังการประมูลอย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคและประเทศชาติในระยะยาว