หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตำแหน่งที่นอกจากต้องเอาตัวเองลงมาเล่นด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และบทบาทต่าง ๆ แล้ว ต้องเอาใจลงมาเล่นด้วยความรัก ความศรัทธา และร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน
ในแต่ละปีที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ผลิต และผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง กระทั่งการร้องเรียน ร้องทุกข์กับหน่วยงานภาครัฐก็ถูกเพิกเฉย กว่าที่ประชาชนจะได้รับทราบข้อมูล หรือคำตอบในการช่วยเหลือก็สายไปเสียแล้ว หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำหน้าที่ ‘เป็นปากเป็นเสียง เคียงคู่ผู้บริโภค’ โดยทำงานรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน รวมถึงสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับประชาชนภายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาตลอดกว่า 12 ปี
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรืออีกสถานะหนึ่งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค บริหารงานโดยธนพร บางบัวงาม หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้หญิงเก่งที่ก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภคในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วยความกลัว
ธนพร เริ่มบทบาทงานภาคประชาสังคมในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน – บัญชี ผู้ประสานงาน และผู้ช่วยอาจารย์ที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า งานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ศูนย์กิจการโทรคมนาคม งานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส โดยเน้นในเรื่องการเขียนแผนงาน แผนการดำเนินงาน เป็นผู้ช่วยอาจารย์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 เรื่อยมาจนขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
รวมถึงการร่วมพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ภายใต้ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นทุนเดิม ซึ่งมีเครือข่ายภาคีความร่วมมือทั้ง 8 อำเภอ มีโครงสร้างการทำงานอยู่แล้ว รวมถึงงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้จัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคภายใต้ชื่อ “ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอำเภอ” เคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอำเภอ เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ลงพื้นที่ทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับงานคุ้มครองผู้บริโภค ช่วยเหลือประชาชนในหลากหลายรูปแบบ มีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งเกือบทุกอำเภอ
ต่อมาได้จดทะเบียน สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ปี 2556 ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอเรื่อยมา จนได้มีโอกาสยื่นจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค และเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำให้เรามีตัวตนมากขึ้น มีกฎหมายคุ้มครองการทำหน้าที่ มีเรื่องร้องเรียนแปลก ๆ ใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ทั้งเรื่องร้องเรียนเล็ก ๆ ระดับปัจเจกบุคคล ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ ทำให้หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
เรื่องที่เราไม่มีความรู้ ทีมงานเราก็ช่วยกันแสวงหาความรู้ ช่วยกันแก้ไขจนรู้ว่าจะไปลู่ทางไหน ไปหาหน่วยงานไหนเพื่อให้ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการช่วยเหลือ หรือแก้ไขได้ ทุกหน่วยงานมีความสำคัญ เราให้ความสำคัญกับงานบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อาทิ สคบ. สสจ. สสส. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
เรามีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และยิ่งมีหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้เร็วขึ้น ช่วยเหลือผู้บริโภคได้จริงจนเกิดการยอมรับ ภาคีเครือข่ายที่เป็นกลไกการทำงานให้ความร่วมมือเต็มที่ “เต็มร้อยกับเรา”
แม้จะมีปัญหา อุปสรรคอยู่บ้าง คือ จากเดิมก่อนจะยื่นจดแจ้งเป็นองค์กรของผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางตามกฎหมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มีความรู้ ความสามารถในงานคุ้มครองผู้บริโภคก็มาช่วยกันทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ช่วยรับเรื่องร้องเรียน ต่อมากฎหมายห้ามไม่ให้ข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ รวมถึงผู้ประกอบการเข้ามาเป็นกรรมการองค์กรของผู้บริโภค กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เคยช่วยเราอยู่ก็ไม่สามารถมาช่วยเราได้ เราก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคทุกรูปแบบ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี และเรื่องอื่น ๆ จนเราได้ใจภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้ง 8 อำเภอ
เพราะเราก้าวเข้ามาทำหน้าที่แล้ว เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบของเรา จากเคสรับเรื่องร้องเรียนเล็ก ๆ พัฒนามาเป็นเคสเรื่องร้องเรียนกรณีบ้านทรุด ซึ่งเป็นเคสที่ภาคภูมิใจที่สุด เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกลัว กลัวขึ้นโรงขึ้นศาล กลัวถูกฟ้อง กลัวต่าง ๆ นานา เพราะไม่มั่นใจในความรู้ แต่จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้บริโภคให้ถึงที่สุด
เคสบ้านทรุดเกิดขึ้นเนื่องจากภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรรส่วนใหญ่มักมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด จึงพยายามลดต้นทุนในการผลิตให้ต่ำที่สุด ซึ่งพบว่าโครงการบ้านจัดสรรจำนวนมาก มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสาธารณูปโภคที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน การผลิตสินค้าหรือบริการต่ำกว่ามาตรฐานที่รู้หรือหน่วยงานของรัฐกำหนด ผู้บริโภคจึงมาร้องเรียนกับเรา
เคสนี้ทำให้รับรู้ได้ว่า “กำลังใจจากคนรอบข้างสำคัญที่สุด” ทีมงานทุกคนช่วยเรา ทนายความ นักวิชาการจากสภาองค์กรผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ช่วยเหลือเราเต็มที่ รวมถึงน้อง ๆ ทีมกฎหมายจากฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (คพ.) สภาองค์กรของผู้บริโภคทุกคน ที่ช่วยเหลือสอบถามความคืบหน้ามาโดยตลอด ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย และก้าวข้ามความกลัว เปลี่ยนเป็นความกล้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ นำไปสู่การแสวงหาความรู้ วิธีการต่อสู้ทางกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
เดินคนเดียวอาจจะเดินได้ไว แต่ถ้าจะเดินให้ไกลเราต้องเดินไปด้วยกัน ท้ายที่สุดนี้อยากขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทุกคน ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันในสถานการณ์ความท้าทายเรื่องงบประมาณที่มีจำกัด ไม่มีงบประมาณให้ดำเนินกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคในปีงบประมาณ 2566 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัด ไม่ได้อยากตัดใครออกจากทีม ทุกคนควรได้อยู่เหมือนเดิม จึงตัดสินใจแบ่งเงินเดือนของหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัด มาดูแลทีมงานทั้ง 5 คน รวมหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดเป็น 6 คน ให้อยู่ด้วยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้
เรื่องราวสุดยิ่งใหญ่มักมีจุดกำเนิดมาจากการกระทำเล็ก ๆ ของผู้คนที่ใช้ความกล้าหาญและเมตตาในหัวใจมอบให้กับใครสักคนที่เขาอาจไม่รู้จัก สิ่งเหล่านั้นคือ หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้โลกของเรายังคงน่าอยู่และเต็มไปด้วยความรัก และศรัทธา เรื่องราวของหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ว่าในหัวใจของมนุษย์ยุคปัจจุบันยังคงมีความดีงามหลงเหลืออยู่ และน้ำใจที่เอื้อเฟื้อให้แก่กันนั้น จะเปลี่ยนชีวิตใครหลาย ๆ คนไปตลอดกาล
ทุกคนสามารถติดตามหน่วยงานประจวบคีรีขันธ์ ได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/ConsumerOrganizationCouncilPrachuapKhiriKhan