ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กระทบกระเป๋าผู้บริโภค

ช่วงนี้ทุกคนรู้สึกกันไหมว่าข้าวของหรืออาหารการกินแพงขึ้นมาก เวลาจะจับจ่ายใช้สอยแต่ละทีต้องคิดแล้วคิดอีก ซึ่งสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น หรือการแพร่ระบาดของโควิด – 19 รวมไปถึงการขึ้น ‘อัตราดอกเบี้ยนโยบาย’ ที่ในปี 2565 นี้ มีการปรับขึ้นเป็นครั้งที่สองของปี จนขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% ต่อปีแล้ว

การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด กู้เงินมาแล้วต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นจริงหรือไม่ คนจะมีงานให้ทำมากขึ้น หรือจะตกงานมากขึ้น เศรษฐกิจในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป… สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชวนผู้บริโภคไปดูข้อมูลและทำความรู้จักกับดอกเบี้ยนโยบายด้วยกัน

ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร

‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศใช้เพื่อกำหนดนโยบายการเงินของชาติ โดยจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละธนาคารกู้ยืมจากเงินสำรองที่ฝากไว้กับธนาคารกลางของแต่ละประเทศ หรือในประเทศไทยคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำไปรักษาปริมาณเงินทุนสำรองของธนาคารตัวเองไม่ให้ต่ำกว่าที่ธนาคารกลางกำหนด

และเป็นอัตราที่ธนาคารทุกแห่งจะใช้เป็นฐานคิดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคที่นำเงินไปฝากหรือไปกู้เงิน หรือเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ปรับขึ้นตาม และเมื่อปรับลดก็จะปรับลดตามเช่นกัน

ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กระทบกระเป๋าผู้บริโภค

จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ 1% ต่อปี โดยที่ กนง. ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยควบคุมเงินเฟ้อและมีการประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น ซ้ำยังช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

แต่ในอีกมุมมองของผู้เขียนกลับมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีข้อเสียมากกว่าข้อดี กระทบทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค นักลงทุน และยังเพิ่มอัตราการว่างงาน…

เพราะธนาคารคิดดอกเบี้ยขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ผู้บริโภคที่กู้เงินธนาคารมาใช้หรือลงทุนต้องผ่อนสูงขึ้น โดยเขาจะมีรายจ่ายด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เช่น ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนคอนโด สูงขึ้น และทำให้มีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เมื่อมีการใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง การจะสร้างแรงจูงใจให้มีการฝากธนาคารมากขึ้น โดยโฆษณาว่าได้ดอกเบี้ยสูงอาจทำได้ยาก

ผลที่ตามมาอีกคือ ห้าง ร้าน ตลาด ขายสินค้าได้น้อยลง โรงงานขายสินค้าได้น้อยลง ก็ต้องปลดคนงาน ทำให้มีคนตกงานมากขึ้น เกิดปัญหาสังคมตามมา เช่น ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม ปัญหายาเสพติดแพร่กระจาย การทำธุรกิจผิดกฎหมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังกระทบกับการส่งออก เพราะต้นทุนต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าขึ้น เมื่อราคาสินค้าแพงกว่าประเทศคู่แข่งขัน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นก็จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศน้อยลงตาม

ในทางตรงกันข้าม การลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการกระตุ้นให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้เงินสะพัด มีการจ้างงานเพิ่ม เพราะเห็นว่าดอกเบี้ยถูก เป็นการกระตุ้นการลงทุน เพราะต้นทุนต่ำลงนั่นเอง

เสนอ ธปท. กำกับอัตราดอกเบี้ย Non-Bank และ บริษัทสินเชื่อ

ตามมาตรฐานสากล ธนาคารกลางจะต้องมีข้อบังคับในการควบคุมการคิดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ขณะนี้ธนาคารกลางหรือ ธปท. ยังไม่มีการกำกับอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต และการคิดอัตราดอกเบี้ยของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) รวมทั้งบริษัทสินเชื่อทั้งหลาย ที่ขณะนี้มีการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดหรือมีการคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไม่เป็นธรรม คือบางรายสามารถคิดได้สูงถึงร้อยละ 28 หรือมากกว่านั้น อีกทั้งยังคิดแบบทบต้นได้อีกด้วย ทำให้มีช่วงต่างสูงมากถึงเกือบ 10 เท่าจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แต่ในต่างประเทศจะบวกเพิ่มจากการอิงดอกเบี้ยนโยบายได้เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 10 – 15 จากอัตรานั้น หรือ 3 ถึง 5 เท่า เท่านั้น เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 3 อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 18 เป็นต้น          

ดังนั้น จึงขอเสนอให้ ธปท. ทบทวนนโยบายการกำกับดูแลการคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับ Non-Bank และบริษัทสินเชื่อ เพราะปัจจุบันนี้การใช้บัตรเครดิตเป็นที่แพร่หลาย เมื่อผู้บริโภคจ่ายไม่ไหวก็อาจจะกลายเป็นหนี้เสียมากกว่า หากมีหนี้เสียมาก ๆ ก็จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจด้านมหภาคที่จะกระทบไปถึงทุกภาคส่วนได้


บทความโดย : กมล กมลตระกูล กรรมการนโยบายด้านการเงินการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค