สภาผู้บริโภค เสนอยกเลิกวงเงินเบิกจ่ายรักษามะเร็ง – ทันตกรรม ตามจริง พร้อมเสนอเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค – ผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม
จากกรณีที่คณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคมพิจารณาและมีมติเห็นชอบปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งสามารถรักษาในสถานพยาบาลที่ใดก็ได้ จากเดิมที่สามารถรักษาได้เพียงโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น
วันนี้ (27 พฤษภาคม 67) มนัส โกศล อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ข้างต้นถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมทุกเดือนที่สามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมต้องเร่งปรับปรุงสิทธิประโยชน์อื่นให้ทัดเทียมกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกวงเงินค่าใช้จ่ายและปรับเปลี่ยนเป็นการเบิกจ่ายตามอัตราที่รักษาจริง ทั้งการรักษาด้านทันตกรรมที่ไม่ควรต้องให้ผู้ประกันตนสำรองจ่ายล่วงหน้าหรือต้องจ่ายส่วนต่างเองหากเกินกว่าวงเงินการรักษาที่ถูกจำกัดอยู่เพียง 900 บาท/คน/ปี หรือแม้แต่การรักษาโรคมะเร็งต้องสามารถเบิกจ่ายตามที่รักษาจริง เนื่องจากยาในการรักษาโรคมะเร็งมีราคาที่สูงและเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการรักษา หากถูกจำกัดอยู่เพียง 50,000 บาท/คน/ปี อาจทำให้ผู้ประกันตนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
มนัส กล่าวอีกว่า นอกจากการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ข้างต้น กองทุนประสังคมควรเปิดโอกาสให้ภาคประขาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการการแพทย์ เนื่องจากหากพิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมการการแพทย์ ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
“ประกันสังคมควรปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการการแพทย์เพราะเป็นกลไกที่สำคัญในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยการเพิ่มสัดส่วนของฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้บริโภคในคณะกรรมการการแพทย์ที่เท่าเทียมกัน เพื่อร่วมพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับผู้ประกันตน” นายมนัส กล่าว
ทั้งนี้ 2 ปีที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคและเครือข่ายภาคประชาชนได้ขับเคลื่อนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านบริการสุขภาพของผู้ประกันตนให้เท่าเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง ทั้งการเบิกจ่ายตามอัตราที่รักษาจริงแทนการกำหนดค่าใช้จ่าย ด้านทันตกรรมไม่เกิน 900 และการรักษาโรคมะเร็ง 50,000 บาทต่อรายต่อปี รวมถึงการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งได้ทุกที่ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น และเมื่อเดือนมีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมให้มีการเพิ่มสัดส่วนของผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และผู้แทนองค์กรของผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการการแพทย์ และกองทุนประกันสังคม
รวมถึงข้อเสนอให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบในด้านบริการสุขภาพ โดยนำเงินสมทบไปเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในด้านบำนาญชราภาพ และเสนอให้ยกเลิกการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลในทุกกรณีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน และจัดให้มีกลไกปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้เป็นกลไกอัตโนมัติ หากระบบบริการสุขภาพอื่นอีก 2 ระบบมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ พร้อมกับการพัฒนาการให้บริการสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนหมายเลข 1560 โดยให้สามารถเป็นที่พึ่งและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยที่ผู้ประกันตนไม่ต้องร้องเรียนเพิ่มเติมกับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ต่าง ๆ