สถานการณ์ปัญหา
สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เห็นชอบให้เริ่มต้นดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560
ก่อนหน้านั้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2559 รัฐบาลประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เป็น พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ให้อำนาจคณะกรรมการสถานพยาบาลในการออกระเบียบให้โครงการ UCEP เกิดขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลของประชาชนหรือผู้ป่วยในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเข้ารักษาจนพ้นภาวะวิกฤต หรืออาการที่แพทย์ประเมินแล้วเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัยไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งโรงพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ตามอัตราบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ โดยส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังช่วงเวลา 72 ชั่วโมงให้โรงพยาบาลเรียกเก็บที่กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาล หรือเรียกเก็บจากผู้ป่วย (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, 2562, น. 1)
ระเบียบดังกล่าวกำหนดขอบข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่สามารถใช้สิทธิ UCEP ภายใต้ 6 อาการเจ็บป่วย ได้แก่ 1) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2) หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3) ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 4) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5) แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6) อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ให้สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ทุกแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่าย
จะเห็นได้ว่า สิทธิ UCEP มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง ทันท่วงที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ทว่า การดำเนินงานยังพบปัญหาที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ มีทั้งกรณีที่ถูกประเมินว่า ไม่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์การประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (Emergency Pre-Authorization : PA) บางรายถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชนที่เข้ารับการรักษา ก่อนพ้นภาวะฉุกเฉินครบ 72 ชั่วโมง แม้ว่าจะได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าเข้าเกณฑ์ 6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามที่ปรากฏข้างต้นแล้วก็ตาม
ปัญหาการถูกประเมินว่าไม่เข้าเกณฑ์ รวมถึงการถูกเรียกเก็บเงิน ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในหลายระดับ ไม่เพียงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเองจำนวนมาก นำไปสู่การล้มละลายจากการเจ็บป่วยแล้ว ยังรวมไปถึงผลกระทบทางสุขภาพจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้รับรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากถูกประเมินว่าไม่เข้าเกณฑ์อาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการเจ็บป่วยถาวร สูญเสียอวัยวะสำคัญ ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ จนถึงขั้นนำไปสู่การเสียชีวิต
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)
ข้อเสนอต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
1) ขอให้ทบทวนเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (PA) ในสิทธิ UCEP โดยให้มีแนวทางการพิจารณา ดังนี้
1.1) แนวทางสิทธิ UCEP Plus ที่ครอบคลุมให้กลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้จนกว่าจะหายป่วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
1.2) ให้นำข้อคิดเห็นของผู้ป่วยและญาติ เป็นหนึ่งในเกณฑ์ประเมินการคัดแยกระดับความฉุกเฉินเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงข้อคิดเห็นทางการแพทย์แต่เพียงฝ่ายเดียว ในการประเมินหลักการดังกล่าว
2) ขอให้กำหนดการคิดอัตราค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ UCEP กรณีที่ไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยหลังพ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมงไปยังการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ อันเนื่องจากข้อจำกัดของระบบ และความไม่เพียงพอของโรงพยาบาลจนกว่าจะหาเตียงได้
ข้อเสนอต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
1) ขอให้กำกับสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้ใช้ระบบบันทึกการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วย (Emergency Pre-Authorization : PA) ซึ่งเป็นระบบบันทึกของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หากไม่มีการประเมินให้ถือว่าเข้าข่ายวิกฤตฉุกเฉินทุกราย
2) ขอให้กำกับการเรียกเก็บเงินการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชน กรณีผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก
3) ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งทุก 2 ปี ว่ามีมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปตามนโยบายสิทธิ UCEP ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และรายงานผลตรวจสอบให้สาธารณะทราบ
4) ขอให้ประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนแก่ผู้ป่วย กรณีโรงพยาบาลเอกชนไม่ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน และประเมินเข้าเกณฑ์ถูกเรียกเก็บเงิน
ข้อเสนอต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
1) ขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกมาตรการกำกับโรงพยาบาลเอกชนให้ใช้อัตราค่ารักษาพยาบาลในอัตราเดียวกันระหว่างค่ารักษาพยาบาลในกรณีวิกฤตสีเหลือง เช่นเดียวกับวิกฤตฉุกเฉินสีแดง เนื่องจากเมื่อเกิดวิกฤตฉุกเฉินด้านสุขภาพ เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคที่จะวินิจฉัยตนเองว่า เป็นวิกฤตสีแดงหรือสีเหลืองเมื่อไปใช้บริการในโรงพยาบาล ย่อมเข้าใจว่าอาการเจ็บป่วยของตนเป็นวิกฤตสุขภาพสีแดง ตามการศึกษาของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบข้อมูลว่า เมื่อโรงพยาบาลตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่เข้าข่ายวิกฤตสีแดงจะถูกเรียกเก็บเงิน ซึ่งมีค่าบริการแพง ดังนั้น เพื่อลดข้อร้องเรียนเรื่องค่าบริการทางการแพทย์ราคาแพง ลดความขัดแย้ง และเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้บริโภค คณะกรรมการฯ ควรมีมาตรการกำกับค่ารักษาพยาบาลที่เรียกเก็บกับผู้ใช้บริการในกรณีฉุกเฉินวิกฤตสีเหลือง
2) ขอให้มีมาตรการกำกับค่ารักษาพยาบาลภายหลัง 72 ชั่วโมง กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถโอนย้ายไปยังหน่วยบริการของตนเองที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการคู่สัญญาได้ หรือหน่วยบริการของรัฐ ภายหลัง 72 ชั่วโมงได้ โดยให้เป็นอัตราเดียวกับค่าบริการในช่วงระยะเวลา 72 ชั่วโมง
3) ขอให้กรมการค้าภายใน รายงานข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาราคาค่ารักษาพยาบาล หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับยา ผลิตภัณฑ์ หรือวัสดุทางการแพทย์ เป็นประจำทุกเดือน และรายงานผลการวินิจฉัยของสำนักงานฯ ต่อสาธารณะด้วย
การดำเนินการของ สอบ.
- จัดประชุมข้อเสนอแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรมซูม (Zoom Cloud Meetings) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 2) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 3) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 4) สำนักงานประกันสังคม
- จัดประชุมหารือข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้อง CA327 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 2) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 3) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และ 5) กองสาธารณสุขฉุกเฉิน
- จัดส่งข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ต่อ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
ความคืบหน้า
อยู่ระหว่างการติดตามผล