สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเวที ‘แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP’ แนะปรับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ใช้ได้จริง
เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 คณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สอบ.จัดประชุม “แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยกำหนดแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนงานด้านสิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เพื่อเป็นการติดตามผลการดำเนินงาน การคุ้มครอง พิทักษ์ และเข้าถึงสิทธิ UCEP ของผู้ป่วยหรือผู้บริโภคในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทั้งข้อมูลการร้องเรียน หรืออุทธรณ์เกี่ยวกับการประเมินภาวะฉุกเฉินวิกฤต แนวทางการตีความหรือขอบเขตการพิจารณากรณีฉุกเฉินวิกฤต ฉุกเฉินเร่งด่วน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและผู้ที่สนใจทั่วไปรับทราบถึงเงื่อนไข แนวทางการพิจารณา และการเข้าถึงสิทธิดังกล่าวเมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการ “สิทธิ UCEP” เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ในปัจจุบัน
จากการดำเนินงาน พบว่า แม้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ แต่ทว่าในการดำเนินการยังคงพบข้อติดขัด ยังเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงระบบสิทธิ UCEP จนนำไปสู่การประสบกับภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยถูกตีความว่าไม่ใช่การเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
จากข้อมูลผลการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียน ของ สพฉ. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 – 31 สิงหาคม 2564 พบว่า มีจำนวนเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ UCEP จำนวนทั้งสิ้น 575 เรื่อง สามารถแบ่งประเภทดังนี้
1. เข้าคณะทำงานพิจารณาเสร็จสิ้น 526 เรื่อง
- เข้าเกณฑ์ UCEP มีการเรียกเก็บเงิน 127 เรื่อง
- ไม่เห็นด้วยกับผลการประเมิน 285 เรื่อง
- โรงพยาบาลไม่ประเมิน UCEP 50 เรื่อง
- โรงพยาบาลขอแก้ไขผลการประเมิน 48 เรื่อง
- อื่น ๆ 16 เรื่อง
2. เรื่องที่ยังไม่เข้าคณะทำงาน จำนวน 49 เรื่อง
จากผลการดำเนินงานพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่บันทึกทั้งหมด 1,262,919 ราย ผู้ป่วยฉุกเฉินที่บันทึกเข้าเกณฑ์เพียง 111,097 ราย และผู้ป่วยฉุกเฉินที่บันทึกไม่เข้าเกณฑ์รวมทั้งสิ้น 1,151,822 ราย ซึ่งหากพิจารณาพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเข้าเกณฑ์เพียงร้อยละ 8.8 และไม่เข้าเกณฑ์ถึงจำนวนร้อยละ 91.2 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ UCEP ต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง โดยเฉพาะในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบถึงสิทธิของตนเอง อันนำมาสู่การถูกเรียกเก็บเงิน เช่นเดียวกับกรณีสิทธิประกันสังคม รวมถึงสิทธิข้าราชการที่ไร้ต้นสังกัด หลังจากพ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมง ที่ต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถหาเตียงได้ ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง
ข้อติดขัดหรือสภาพปัญหาในการดำเนินงานเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดภาระหนี้สินหลังจากเข้ารักษาพยาบาล จากข้อสรุปงานประชุม แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP พบว่า ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ UCEP ได้นั้น มีสาเหตุที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ โรงพยาบาลไม่ประเมิน PA เก็บเงิน แพทย์ประเมินไม่เข้าเกณฑ์ เก็บเงิน แพทย์ประเมินเข้าเกณฑ์ เก็บเงิน แพทย์ประเมินพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง จ่ายเงินเอง
ดังนั้น ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สอบ. จึงมีข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
- หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนเกณฑ์ระบบสิทธิ UCEP โดยปัญหากระบวนการประเมินคัดแยกอาการที่เข้าเกณฑ์สิทธิ UCEP นั้นต้องลดน้อยลง
- เกณฑ์การดูแลกรณีสิทธิ UCEP ต้องครอบคลุมตั้งแต่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) – ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) โดยเฉพาะกรณีที่พ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมง แต่ยังไม่สามารถหาเตียงได้ อันเกิดจากข้อจำกัดของระบบ ขอให้คิดราคาตามสิทธิ UCEP จนกว่าผู้ป่วยหรือญาติจะหาเตียงได้
- ระบบการรับเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน เพราะความล่าช้าคือความไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมต่อการคุ้มครองความเจ็บป่วยของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำไปสู่การพัฒนาระบบสิทธิ UCEP ของประเทศไทย ให้เป็นระบบที่ตอบโจทย์การเข้าถึงระบบสาธารณสุขแก่ประชาชนหรือผู้บริโภคอย่างแท้จริงในอนาคต