ตามที่มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 9 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทมาสด้าเป็นคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เนื่องจากพบปัญหาเรื่องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเครื่องสั่น หรือปัญหาเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น โดยในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ทุกคันที่ผลิตในปี ค.ศ. 2014 – 2018 (ปี พ.ศ. 2557 – 2561) เข้ามาซ่อมแซม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ขับขี่ได้
นอกจากนั้นศาลยังได้กำหนดให้บริษัทฯ ต้องชดใช้ราคาค่าซ่อมตามจริง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจรายละ 30,000 บาท อีกทั้งบริษัทฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยเป็นคดีแบบกลุ่ม คำพิพากษาจึงมีผลผูกพันสมาชิกกลุ่มด้วย ซึ่งในคดีนี้ ศาลได้กำหนดให้สมาชิกกลุ่มที่มีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้คือ
1. เป็นบุคคลที่ใช้รถยนต์ยี่ห้อมาสด้า รุ่นมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล ที่จำหน่ายตั้งแต่ปี 2557 – 2561 และเป็นรุ่นก่อนเปลี่ยนโฉมรถยนต์
2.โดยรถยนต์ต้องมีอาการสั่นของเครื่องยนต์ เร่งความเร็วไม่ขึ้น หรือมีปัญหาน้ำมันเครื่องเกินกว่าจุดที่กำหนด (เครื่องหมายกากบาทที่ก้านวัดน้ำมันเครื่อง) หรือพร่องไปกว่าระดับมาตรฐานบนก้านวัดน้ำมันเครื่อง และหมายความรวมถึงรถยนต์ที่มีการดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์ หรือแก้ไข หรือถอด หรือปิดระบบหมุนเวียนไอเสีย (อีจีอาร์) และระบบกรองและกำจัดเขม่า (ดีพีเอฟ) ด้วย
3.ในครั้งที่ซ่อมที่ศูนย์บริการต้องยังไม่ได้ดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์และยังไม่ได้ถอดหรือปิดระบบหมุนเวียนไอเสีย(อีจีอาร์) และระบบกรองและกำจัดเขม่า (ดีพีเอฟ)
โดยให้ได้รับชำระหนี้เป็นค่าเสียหายเฉพาะค่าซ่อมที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนกำหนด ค่าขาดประโยชน์เฉพาะระหว่างซ่อมแซมรถยนต์วันละ 1,800 บาท และค่าเสียหายต่อจิตใจ 30,000 บาท
ทั้งนี้สมาชิกกลุ่มต้องแสดงหลักฐานดังนี้
เอกสารหลักฐานของศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าถึงค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปในการซ่อมเครื่องยนต์อันเนื่องมาจากการสั่นหรือสะดุดของเครื่องยนต์ เร่งความเร็วไม่ขึ้น และการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนถึงกำหนด หรือสมุดรับประกันและบริการ ( โดยเอกสารดังกล่าวต้องแสดงถึงค่าอะไหล่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เช่น สปริงวาล์ว หัวฉีด น้ำมันเครื่อง และอะไหล่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงค่าแรงของศูนย์บริการ แสดงจำนวนวันที่นำรถยนต์รุ่นพิพาทเข้าศูนย์บริการเฉพาะเพื่อการซ่อมเครื่องยนต์รวมถึงการแก้ไขโปรแกรมในระบบหมุนเวียนไอเสีย(อีจีอาร์) และระบบกรองและกำจัดเขม่า (ดีพีเอฟ) และจำนวนวันเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนกำหนด เพื่อคำนวณค่าขาดประโยชน์
ผู้มีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้ ได้แก่
1.เป็นผู้ครอบครองรถยนต์รุ่นพิพาทจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา
2.ผู้ที่เคยครอบครองรถยนต์รุ่นพิพาท และได้เสียค่าใช้จ่ายไปในการซ่อมแซมเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนครบกำหนด แต่ปัจจุบันมิได้ครอบครองรถยนต์รุ่นพิพาท