ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร้องของสินค้า พ.ศ. ……

ของใหม่ป้ายแดง “ชำรุด” ต้องได้เปลี่ยน ได้คืน (ร่าง) กฏหมาย เลมอน ลอว์ ให้สิทธินั้น

เมื่อซื้อ ‘ของใหม่ป้ายแดง’ แน่นอนว่าทุกคนต่างคาดหวังว่าของนั้น ๆ จะสมบูรณ์แบบ ใช้งานได้ดี สมราคา แต่ในความเป็นจริงที่หลายคนต้องเผชิญ คือ พบว่าสินค้าใหม่บางชิ้น ชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ หรือมีรอยตำหนิ ผู้บริโภคจำนวนมากต่างต้องพบปัญหาสินค้าใหม่ชำรุด ซ้ำร้ายถูกปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิในการเปลี่ยนหรือคืน แต่ได้สิทธิแค่ “ซ่อม” สินค้าใหม่ไปเรื่อย ๆ ญหาดังกล่าวได้สร้างความเจ็บปวดกับผู้บริโภคจากการโดนละเมิดสิทธิ

ในไทยแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับความรับผิดชำรุดบกพร่องของสินค้า ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ยังขาดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายที่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อยังคลุมเครือ และไม่มีคำนิยามที่กระจ่างของคำว่า “ความชำรุดบกพร่อง” นำมาซึ่งช่องโหว่ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองอย่างยากลำบาก

ทุกข์ใจ ของใหม่พัง “เลมอน ลอว์” ช่วยได้

ในต่างประเทศมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “เลมอน ลอว์” หรือ “กฎหมายมะนาว” ที่แสดงถึงความไม่พึงพอใจของผู้บริโภคทั่วโลกจากการโดนละเมิดสิทธิ เมื่อถูกบังคับในการยอมรับสินค้าใหม่ที่ทำให้รู้สึก “เปรี้ยวขม” แทนความรู้สึกหอมหวานของการได้สินค้าใหม่ที่สมบูรณ์แบบ

องค์กรของผู้บริโภคพบว่าความไม่รับผิดชอบของผู้ขายที่ไม่เปลี่ยนสินค้าใหม่หรือคืนเงินให้ผู้บริโภคละเมิดสิทธิผู้บริโภค จากเหตุการณ์ในอดีตปี 2553 กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อรถรุ่นใหม่ยี่ห้อหนึ่งประสบปัญหาเดียวกัน รถชำรุดตั้งแต่เริ่มนำออกมาใช้ แต่เมื่อขอให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เปลี่ยนคันใหม่ให้ กลับได้รับคำปฎิเสธ จึงรวมตัวฟ้องร้องต่อศาล เรียกร้องความรับผิดชอบ การต่อสู้เพื่อสิทธิผู้บริโภคดำเนินการมากว่า 13 ปี ในที่สุดศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทเรียกคืนรถยนต์และชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในปี 2566

ถือได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการร่างกฎหมาย “เลมอน ลอว์” ของไทยในนามของร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้ผู้ขายหรือผู้ประกอบการ “เปลี่ยน หรือ คืน” สินค้าชำรุดให้กับผู้บริโภคโดยไม่มีข้อโต้แย้ง และกลายเป็นความหวังใหม่ในการคืนความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคไทย

บังคับใช้ “เลมอน ลอว์” ทางแก้ปัญหาของพังในสิงคโปร์

ในอดีตจะเห็นได้ว่ากฎหมายเลมอน ลอว์ ที่เริ่มต้นในต่างประเทศ เกิดจากสาเหตุสินค้าประเภทรถยนต์ที่มีความชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลไกด้านความปลอดภัย จึงมีการออกกฎหมายและทำให้เกิดการเรียกคืนรถยนต์ครั้งละหลายล้านคันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กฎหมายในลักษณะนี้มักเขียนขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อรถยนต์เป็นหลัก แต่ในอาเซียนนั้น สิงคโปร์เป็นแนวหน้าในการออกกฎหมายเลมอน ลอว์ ที่คุ้มครองสินค้าเกือบทุกชนิด มาตั้งแต่กันยายน 2555 รวมถึงสินค้ามือสองโดยพิจารณาจากการใช้งาน อายุ และราคาสินค้า ประกอบกัน ทำให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและป้องกันไม่ให้สินค้าที่ซื้อเป็นเหมือนมะนาวที่ภายนอกดูดีแต่ภายในมีปัญหา และทำให้สิงคโปร์ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าสินค้าที่ซื้อมีคุณภาพและปลอดภัย

ซ่อมไม่หาย ผู้บริโภคใช้สิทธิ “คืนของ – ขอเงินคืนได้”

กลับมาที่ไทย โดยสภาผู้บริโภค ผู้แทนผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 เห็นว่าการใช้สิทธิตามกฎหมายเลมอน ลอว์ ไม่ควรยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป จึงได้เสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ฉบับสภาผู้บริโภค” ขึ้น

กฎหมายนี้นิยามว่าผู้ซื้อสินค้าทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง ไม่เพียงแค่รถยนต์แต่รวมถึงสินค้าทั่วไป โดยหากพบความชำรุดบกพร่องสามารถใช้สิทธิได้ 5 กรณี ได้แก่ ขอซ่อม ขอเปลี่ยน ขอลดราคา ขอเลิกสัญญา และขอปฏิเสธชำระค่างวดผ่อนสินค้า

สำหรับสินค้าทั่วไปที่พบความชำรุดภายใน 14 วัน ผู้ซื้อมีสิทธิขอเปลี่ยนสินค้าได้และผู้ขายต้องเปลี่ยนให้ภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องชำระเงินเพิ่มเติม ส่วนสินค้าทั่วไปที่พบความชำรุดภายใน 6 เดือน และรถยนต์ภายใน 12 เดือน ถือว่าสินค้าชำรุดโดยไม่ต้องพิสูจน์ ผู้ขายต้องซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้า หรือลดราคาให้แก่ผู้บริโภค หากผู้ขายไม่สามารถซ่อม หรือเพิกเฉยต่อการแก้ไข ผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือ และไม่ต้องชำระเงินเพิ่มเติม ซึ่งนี่คือการคุ้มครองผู้บริโภคที่เพิ่มความมั่นใจในการซื้อสินค้าและบริการในไทย

บังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค
เพิ่มการแข่งขันระดับสากล

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2472 ไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

สภาผู้บริโภคเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งผลักดันร่างกฎหมายใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าในประเทศไทยเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองโดยเร็ว โดยเฉพาะการร่วมมือกับผู้ประกอบการในการซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคโดยอัตโนมัติ

การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า จะช่วยตรวจสอบและยกระดับมาตรฐานสินค้า ลดการฟ้องร้อง และเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังทำให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ เพราะสินค้าที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศจะถูกควบคุมด้วยกฎหมายฉบับนี้ด้วย

ชวนทุกคนส่งเสียง เรียกร้อง และส่งต่อข้อมูลของ “ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ฉบับสภาผู้บริโภค” เพื่อให้ไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้ซื้อ ให้ได้รับการเยียวยาทันทีเมื่อสินค้าชำรุด


คลิกที่นี่ ร่วมลงชื่อเสนอ 3 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค