ร่าง พ.ร.บ.อาหาร (ฉบับที่…) พ.ศ. ……

เปลี่ยนโฉม พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค คุมคุณภาพอาหาร ตามทันโฆษณาได้จริง

คิดว่าอาหารที่เราทานเข้าไปทุกวันนี้ปลอดภัยจริงหรือ? รู้ไหมอาหารทุกคำที่เรากินเข้าไปมีอะไรที่อาจไม่ใช่แค่โปรตีนจากเนื้อ ปลา ไข่ หรือแร่ธาตุจากผัก แต่อาจเป็น สิ่งแปลกปลอม !!

เคยไหมเจออาหารเสริมที่โฆษณาเกินจริง หรืออาจเป็นอาหารที่มีวัตถุอื่นปนเปื้อน ที่เกิดจากความไม่ระวังในกระบวนการปรุงแต่ง อาทิ เศษใบพัด สัตว์ชนิดอื่น หรือจะเป็นลูกชิ้นหมูแต่ใส่ส่วนผสมอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ เรามักพบข่าวเช่นนี้อยู่บ่อยครั้ง ในบางครั้งพบว่าเป็นผู้ประกอบการรายเดิม เห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับหรือแม้แต่พยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตัวเอง

เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซาก เป็นเพราะกฎหมายที่บังคับใช้ ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับ หรือเป็นเพราะโทษที่น้อยเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการไม่รู้สึกเข็ดหลาบ และหวนกลับมากระทำความผิด

กฎหมายล้าหลัง ไม่เท่าทันปัญหาผู้บริโภค

กว่า 45 ปีที่การบริโภคของคนไทยได้รับการคุ้มครองด้วย “พ.ร.บ.อาหาร”  ในขณะที่วิถีการบริโภคอาหารได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งด้าน รูปแบบ รสนิยม การโฆษณา ที่ซับซ้อนมากขึ้น ตอบสนองต่อผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน กฎหมายล้าหลังที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเติบโตของสังคม จนทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการเผชิญอันตรายจากอาหารไม่ปลอดภัย  

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะหยุดความล้าหลังของกฎหมายไว้เพียงเท่านี้ และเร่งผลักดันการแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ผู้บริโภคถูกคุ้มครองจากกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง

ปกป้องผู้บริโภคได้จริง ด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร

เพื่อฟื้นฟูความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภค สภาผู้บริโภคจึงเสนอแก้ไข พ.ร.บ.อาหารฉบับสภาผู้บริโภค ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ดังนี้

1. เพราะคำนิยามที่ไม่ครอบคลุมรูปแบบที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน จึงต้อง‘เพิ่มคำนิยาม’ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองที่เป็นธรรม เช่น การเพิ่มคำนิยามคำว่า “สื่อโฆษณา” เพื่อให้ครอบคลุมถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และให้การปฏิบัติสามารถบังคับได้จริง

2. เพราะขาดการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เลยไม่มีมาตรการที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากพอ จึงต้องเพิ่มตัวแทนผู้บริโภคในคณะกรรมการอาหาร โดยให้สภาผู้บริโภคในฐานะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ในการให้ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงเพิ่มลักษณะต้องห้ามของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ต้องไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้มีมาตรการที่เป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ

3. เพิ่มหน้าที่รับผิดชอบ ในกระบวนการการผลิตอาหารให้แก่หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากอาหารมากขึ้น

4. เพิ่มการควบคุม เพื่อป้องกันผู้บริโภคได้รับอันตรายจากอาหารที่ไม่มีมาตรฐาน ทั้งจากกระบวนการผลิต สื่อโฆษณาที่หลอกลวง


ให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย. จัดทำแผนพัฒนาความปลอดภัยการบริโภคอาหาร เช่น แผนการรับมือการนำอาหารที่ไม่ปลอดภัยออกจากตลาดอย่างเป็นระบบ รวมถึงระบบเตือนภัยอาหารไม่ปลอดภัย   

ส่วน ผู้ประกอบธุรกิจอาหาร ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และรับผิดชอบต่อผู้บริโภคจากอาหารที่มีเครื่องหมายการค้าของตน ไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นของปลอมหรือเลียนแบบ และกรณีที่พบว่าอาหารไม่ปลอดภัย ต้องเรียกเก็บออกจากตลาดได้ทันที และแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ นอกจากนี้ หากผู้บริโภคต้องส่งคืนสินค้า จะต้องได้รับชดใช้ราคาค่าอาหารที่ถูกเรียกคืนและค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืน

ควบคุมการผลิต ห้ามผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายในสถานที่ใด ๆ หากไม่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ซึ่งเดิมทีการผลิตอาหารหากสถานที่ผลิตมีอัตราการผลิตต่ำกว่าที่กำหนด สามารถผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งนำมาสู่การผลิตอาหารที่ไม่มีคุณภาพได้ หรือที่เรามักพบเจอในข่าวอย่างกรณี โรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อน ที่มีสถานที่ผลิตไม่มีคุณภาพ มีการใช้ส่วนผสมที่อาจเป็นอันตราย เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทานอาหารที่ปลอดภัยและผ่านการผลิตอย่างมีคุณภาพ จึงต้องมีการควบคุมการผลิตไม่ว่าจะเป็นสถานที่ผลิตแบบใดก็ตาม

ควบคุมอาหารเสื่อมคุณภาพห้ามวางจำหน่าย เช่น ควบคุมอาหารหมดอายุ แต่เดิมเรามักพบปัญหาอาหารหมดอายุถูกวางขายบนชั้น และอาจเผลอหยิบไปได้โดยไม่ได้ดูวันที่ และส่งผลเสียต่อร่างกายเมื่อทานเข้าไป แต่ต่อไปนี้หากมี พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ผู้ประกอบการต้องดูแลตรวจสอบไม่ให้มีอาหารหมดอายุวางจำหน่ายเด็ดขาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการบริโภคอาหารที่เสื่อมสภาพได้

ควบคุมการโฆษณาอาหาร ต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการรับรองหรือยกย่องคุณประโยชน์ เช่น ทานอาหารเสริมนี้แล้วสามารถลดน้ำหนักได้ถึง 10 กิโลกรัมในหนึ่งสัปดาห์! หรือใช้บุคคลสมมุติที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีเป็นผู้โฆษณา เพราะการโฆษณาที่อ้างถึงคุณสมบัติที่เกินจริง นั้นมีผลกับการซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ ของผู้บริโภค ที่เสียเงินไปกับผลิตภัณฑ์ราคาแพง แต่ไม่ได้รับคุณค่าเท่าที่ควร การควบคุมโฆษณาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องผู้บริโภคจากปัญหาโฆษณาที่เกินจริงได้

5. เพิ่ม อำนาจ หน้าที่ และบทลงโทษ – เพราะปัญหาช่องโหว่ของ พ.ร.บ.ที่ถูกเขียนมาอย่างยาวนาน ทำให้อำนาจหน้าที่ของภาครัฐไม่ครอบคลุมและไม่เท่าทันปัญหาที่เกิด รวมถึงบทลงโทษที่ถูกบังคับใช้นั้น น้อยเกินกว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเกรงตัวต่อกฎหมาย เพื่อจัดการกับปัญหาได้อย่างครอบคลุมและเป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงต้องมีการ

เพิ่มอำนาจรัฐมนตรี โดยให้มีอำนาจประกาศห้ามใช้วัตถุที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งเดิมที่มีเพียงกำหนดห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย แต่ไม่มีประกาศห้ามใช้ แต่ต่อไปนี้หากสารนั้นถูกจัดเป็นสารอันตราย สามารถประกาศห้ามใช้ได้ เพื่อรองรับการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น

เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ ในกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีการกระทำความผิด สามารถแจ้งให้หยุดหรือเข้าไปตรวจสอบ และยึดหรืออายัดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐาน และรับเรื่องร้องทุกข์เพื่อดำเนินการตามหน้าที่ได้ทันที ซึ่งจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้ทันท่วงทีในหลาย ๆ ด้าน

เพิ่มบทลงโทษ ให้มีความเหมาะสมกับปัจจุบัน โดยการเพิ่มทั้งโทษจำคุก โทษปรับ และเพิ่มโทษพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต ยกตัวอย่าง กรณีอาหารเสริมโฆษณาเกินจริง เดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เห็นได้ว่าโทษที่ผู้ประกอบการได้รับน้อยมาก เมื่อเทียบกับกำไรมหาศาล และความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้เพิ่มโทษปรับให้มีจำนวนสูงสุด 1ล้านบาท เพื่อให้เหมาะสมกับความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ และช่วยป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เพราะการเพิ่มโทษอาจทำให้ผู้กระทำผิดรู้สึกถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ

ดังนั้น การออก พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เพราะการปรับแก้ พ.ร.บ.อาหาร ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริงและทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค มาร่วมกันเปลี่ยน พ.ร.บ.อาหาร ให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ด้วยการลงชื่อสนับสนุน (ร่าง) พระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….


คลิกที่นี่ ร่วมลงชื่อเสนอ 3 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค