ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ……

ปรับเพื่อเปลี่ยน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เทียบเท่าสากล เท่าทันยุคสมัย

ทำไมเราจึงต้อง “ปรับ” เพื่อ “เปลี่ยน”

ขณะที่หลายประเทศรุดหน้ากับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เท่าทันยุคสมัยเพื่อสกัดกั้นธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค แต่ประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ที่เขียนไว้เมื่อ 45 ปีแล้ว แม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมา 3 ครั้ง แต่สิทธิของผู้บริโภคไทยก็ยังถูกจำกัดไว้เพียง 5 ข้อเท่านั้น

ประกอบกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคถูกเขียนขึ้นในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่เท่าทันรูปแบบการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้อง “ปรับเพื่อเปลี่ยน” พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยให้เท่าเทียมสากล

เพิ่มความหมาย “ผู้บริโภค” “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้เท่าทันยุคสมัย

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า การให้ความหมายหรือนิยามคำว่า ‘ผู้บริโภค’ และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ที่ไม่ครอบคลุมเพียงพอจะส่งผลให้เกิดปัญหาในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เช่น ทำให้คนบางกลุ่มไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ควรจะได้ หรือเกิดช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้ประกอบธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภคได้

สภาผู้บริโภค จึงเสนอให้แก้ไขเพิ่มนิยามของคำว่า “ผู้บริโภค” ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยที่ซื้อสินค้ามาเพื่อจำหน่ายต่อ และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจด้วย ส่วนคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” นั้นให้หมายความรวมถึง ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้ที่ขายสินค้าหรือบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล อีกทั้งยังเสนอให้เพิ่มนิยามของคำว่า “องค์กรผู้บริโภค” อีกด้วย

สิทธิผู้บริโภคไทยต้อง “ล้ำหน้า”

หากการซื้อขายเป็นรูปแบบตรงไปตรงมาอย่างในอดีต การปรับแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอาจเป็นแค่การเพิ่มสิทธิของผู้บริโภคไทยให้เท่าเทียมสิทธิผู้บริโภคสากล 8 ข้อ ตามที่สหประชาชาติให้แนวทางไว้ แต่สำหรับยุคดิจิทัลแล้ว สภาผู้บริโภคเห็นว่าสิทธิเพียง 8 ข้อ ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองผู้บริโภคในยุคนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ สภาผู้บริโภคจึงยกเครื่องสิทธิผู้บริโภคไทยด้วยการการปรับเพิ่มสิทธิผู้บริโภคในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ เป็น 10 ข้อ ตามนี้

1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
5. สิทธิที่จะได้รับความรู้เพื่อการบริโภคอย่างเท่าทัน และได้รับการศึกษาเพื่อการดำเนินชีวิตในฐานะผู้บริโภค
6. สิทธิที่จะได้รับการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน และการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย
7. สิทธิที่จะรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค องค์กร สมาคม หรือมูลนิธิ ที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือต่อต้านการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมทางการค้า
8. สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความเป็นส่วนตัว และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค
9. สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
10. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

แม้สิทธิบางข้อจะถูกระบุไว้ในกฎหมายอื่นหรือถูกรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญบ้างแล้ว แต่เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าใจตรงกันว่าสิทธิเหล่านี้เป็น “สิทธิของผู้บริโภค” จึงต้องกำหนดไว้ให้เห็นชัดเจนใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ด้วย

ลดปัญหาคอขวด ถ้าหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนอยู่กับสำนักงาน สคบ.

เมื่อพูดถึง “คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” เราอาจเข้าใจว่าหน้าที่หลัก ๆ คือ การออกนโยบาย และหลักเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค หรือการพิจารณาเรื่องที่กระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง แต่เชื่อหรือไม่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับปัจจุบันกำหนดให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่รวมไปถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีด้วย

ในขณะที่กรรมการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการผู้บริหารระดับสูง มีภารกิจรัดตัว การนัดประชุมแต่ละครั้งที่กว่าจะครบองค์ประชุมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อนัดประชุมล่าช้า การคุ้มครองผู้บริโภคก็เกิดความล่าช้าตามไปด้วย

เพื่อให้การแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภครวดเร็วขึ้น สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่ออกนโยบายและการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และนำส่วนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แทน   

ในเรื่องสัดส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ สภาผู้บริโภคเสนอให้เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้ปรับสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจาก 8 คนเป็น 9 คน โดยให้เป็นผู้แทนจากสภาผู้บริโภค 5 คน และอีก 4 คน เป็นตัวแทนจากภาคธุรกิจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบัน กำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง 4 ด้าน ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา, ฉลาก, สัญญา และความปลอดภัยของสินค้าและบริการซึ่งสภาผู้บริโภคเห็นว่าไม่เพียงกับปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงเสนอให้มีการเพิ่มคณะกรรมการเฉพาะเรื่องอีก 3 ด้าน คือ ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, สินค้าชำรุดบกพร่อง และการระงับข้อพิพาทและชี้ขาดเพื่อการเยียวยาความเสียหาย

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการว่าต้องมีความเชี่ยวชาญเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเฉพาะเรื่องหรือไม่ ทั้งที่ได้ชื่อว่า “คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง” สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้กำหนดคุณสมบัติในการคัดสรรว่าจะต้องมีคุณสมบัติความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับความเฉพาะเรื่องนั้น ๆ ด้วย

ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ เสนอให้เพิ่มอำนาจคณะกรรมการฯ ในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งมีข้อเสนอเฉพาะสำหรับคณะกรรมการสัญญา คือการให้ผู้บริโภคสามารถส่งสัญญาให้คณะกรรมการสัญญาตรวจสอบได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ควรปรับสัดส่วนคณะกรรมการเฉพาะเรื่องแต่ละชุด โดยให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มาจากสภาผู้บริโภค 3 คน และเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้อง 4 คน และเพิ่มอำนาจในการชี้ขาดให้กับคณะกรรมการสัญญา

ผู้ประกอบการต้องมีส่วนรับผิดชอบค่าฟ้องคดี

ในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการความช่วยเหลือในด้านฟ้องคดี กฎหมายได้กำหนดให้มีองค์กรที่สามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าองค์กรฟ้องคดีต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น ค่าทนายความ ค่าเดินทาง และค่าดำเนินการอื่น ๆ สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้องค์กรฟ้องคดีแทนสามารถเรียกค่าป่วยการได้ โดยบริษัทที่ถูกฟ้องต้องมีส่วนรับผิดชอบค่าดำเนินการในการฟ้องคดีด้วย

อีกปัญหาหนึ่งคือการกำหนดให้องค์กรฟ้องคดีแทนมีอายุเพียง 2 ปี แต่โดยปกติแล้วการฟ้องคดี 1 คดีนั้นใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน และมีโอกาสที่คดีจะยังไม่สิ้นสุดภายใน 2 ปี ทำให้ต้องมีการต่ออายุระหว่างการฟ้อง ซึ่งสร้างความยุ่งยากและอาจทำให้กระบวนการฟ้องคดีสะดุดหรือล่าช้าไปอีก จึงควรปรับเพิ่มระยะเวลาเป็น 4 ปี เพื่อความคล่องตัวในการช่วยเหลือผู้บริโภค

เพิ่มการลงโทษ และป้องกันการฟ้องปิดปาก

เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ฉบับปัจจุบันถูกเขียนเมื่อ 45 ปีก่อน การกำหนดโทษในบางมาตราจึงไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงมีการเสนอให้เพิ่มโทษในบางมาตราและเพิ่มโทษปรับรายวันด้วย

นอกจากนี้ยังเสนอให้ตัดมาตรา 60 ซึ่งกำหนดเรื่อง “การฟ้องไม่สุจริต” ออก เพราะถึงแม้กฎหมายจะมีเจตนาเพื่อป้องกันการให้ร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้ประกอบการ แต่เนื้อความในกฎหมายกลับซ้ำซ้อนกับกฎหมายฉบับอื่น ๆ และที่สำคัญคือในทางปฏิบัติแล้ว กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการในการ “ฟ้องปิดปาก” ผู้บริโภค ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองด้วย


คลิกที่นี่ ร่วมลงชื่อเสนอ 3 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค