สภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม เชิญร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่มีนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนในราคาที่เป็นธรรม ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.energy-justice-thailand.com/
ทุกวันนี้เราจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าที่ “ควรจะเป็น” หรือไม่ อย่างไร?
ก่อนอื่นต้องปูพื้นฐานก่อนว่า บิลค่าไฟฟ้า ประกอบไปด้วยทั้งหมด 4 ส่วนหลัก
1. ค่าไฟฟ้าฐาน คือ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า และค่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และผลตอบแทนในการขยายการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.)
2. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft (ค่าเอฟที)
ส่วนใหญ่ประกอบด้วยต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนและต่างประเทศ และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน นอกจากนี้ ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ เช่น เงินนำส่งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และเงินสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งค่า Ft จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
3. ค่าบริการรายเดือน เป็นค่าใช้จ่ายในการจดมิเตอร์เรียกเก็บค่าใช้ไฟฟ้าและการดำเนินงานทางบัญชี ขึ้นอยู่กับประเภทผู้ใช้ไฟ เช่น
– ที่พักอาศัยทั่วไป มีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 38.22 บาท
– ที่พักอาศัยขนาดเล็กมาก (มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 5 แอมป์) มีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 8.19 บาท
และ 4. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
คิดเป็นร้อยละ 7 ของค่าไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วนรวมกัน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าค่าไฟที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟของเราเท่านั้น
แต่สาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เป็นเพราะปัญหาการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก
หากพิจารณาจากกำลังการผลิตจะพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 46,102 เมกะวัตต์ (ไม่รวมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก) ขณะที่ความต้องการสูงสุดของปีนี้อยู่ที่ 30,135 เมกะวัตต์เท่านั้น หมายความว่าเรามีกำลังสำรองมากถึง 53%
ทั้งที่ มาตรฐานการสำรองของไทยควรอยู่ที่ระดับ 15% ซึ่งเพียงพอสำหรับการรักษาความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้าแล้ว ทั้งนี้ กำลังการผลิตส่วนเกินที่เกินจากระดับ 15% (หรือประมาณ 4,500 เมกะวัตต์) จึงไม่มีความจำเป็นและสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงเกินควร
อย่างในปี 2563 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกิน 12,546 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าประมาณ 18 โรง (แต่ละโรงมีกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์)
แม้ว่าเรามีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นอยู่แล้ว แต่รัฐบาลยังคงวางแผนที่จะสร้างเพิ่มเติมอีก อ้างอิงจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2018 Rev.1) ฉบับล่าสุด ปี 2561
ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่ “ล้นเกิน” เป็นความผิดพลาดของรัฐบาล ทำให้เราต้องเสียเงินให้กับโรงไฟฟ้าที่สร้างมาแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด! โดยหากคำนวณเป็นจำนวนเงินแล้ว ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากถึง 48,929 ล้านบาท/ต่อปี หรือเฉลี่ยต่อราย ผู้ใช้ไฟฟ้าจะเสียเงินโดยสูญเปล่ารายละ 2,039 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินเหล่านี้ จะถูกบวกรวมเข้าไปอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องจ่าย ผ่านค่า Ft ที่สามารถส่งผ่าน ต้นทุนทั้งที่จำเป็น และไม่จำเป็น จากการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาด นำมาซึ่งการลงทุนที่สูงเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าสูงเกินควรนั่นเอง
*หมายเหตุ*
1.ปี 2563 กฟน. และ กฟภ. มีผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 24 ล้านราย
2.จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า(ราย) นับตามจำนวนการติดตั้งมิเตอร์
ใครได้ผลประโยชน์จากการจ่ายค่าไฟฟ้าเกินจำเป็น?
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ได้มาจากไหนบ้าง?
ก่อนปี 2537 รัฐบาลไทยเคยผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองทั้งหมด แต่ต่อมามีนโยบายให้เอกชนร่วมผลิตไฟฟ้าร่วมด้วย
กระทั่งปัจจุบัน ไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่นี้มีแค่เพียง 1 ใน 3 ที่ได้มาจากการผลิตโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 นั้น มาจากการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ซึ่งได้มาจากผู้ผลิตกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
1. ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) มีกำลังผลิตไฟฟ้ามากกว่า 90 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.
2. ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 10 – 90 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.
3. ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
4. นำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ (Import) โดยรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว รวมถึงยังทำสัญญาแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับมาเลเซียอีกด้วย
*หมายเหตุ* ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีหน่วยเป็น GWh กิกะวัตต์ – ชั่วโมง
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กฟผ. ชี้ให้เราเห็นว่าโรงไฟฟ้าเอกชนที่ทำสัญญาการผลิตกับ กฟผ. จำนวน 7 จาก 12 แห่ง ไม่ได้เดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ยังคงได้เงินจากประชาชนผ่านการจ่ายค่าเอฟที (Ft) ทุกเดือน และอาจจะจ่ายผ่านค่าความพร้อมจ่าย
โรงไฟฟ้าที่แทบไม่ได้ดำเนินการผลิตเลย ได้แก่ 1. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GPSC 2. บริษัท โกลว์ ไอพีพี จำกัด หรือ GLOW IPP 3. บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ จำกัด หรือ GULF-GPG
4. บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด หรือ RPCL 5. บริษัท กัลฟ์ เจพี หนองแซง จำกัด หรือ GULF JP NS 6. บริษัท กัลฟ์ เจพี อุทัย จำกัด หรือ GULF JP UT และ 7. บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด หรือ Gulf SRC
และแม้แต่เดือนเมษายน 2564 เป็นเดือนที่ประเทศมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) แต่ก็ยังมีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่แทบจะไม่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเลย นั่นแปลว่า โรงไฟฟ้าเหล่านี้ดูดเงินจากกระเป๋าเรา ทั้งที่แทบไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้เราเลย
นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราทุกคนต้องจ่ายเงินในแต่ละปีถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากความผิดพลาดสะสมของการวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของรัฐบาลมานานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ในระบบไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าต้องสมดุลกับการใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ที่โรงไฟฟ้าหลายโรงไม่ต้องเดินเครื่องเลย สาเหตุหลักมาจากการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตที่ผิดพลาด และการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริงตลอดมา ทำให้เราหลงสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ จนทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าของเราล้นเกินความจำเป็น และต้องจ่ายค่าตอบแทนการลงทุนให้เอกชนที่สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เหล่านั้น ต่อไป ในรูปแบบค่าความพร้อมจ่าย (ค่าโง่) มากมายทุกปี
ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจะต้องพอดีกับการใช้ไฟฟ้าและปริมาณสำรองไฟฟ้า ซึ่งตามมาตรฐานสากลกำหนดไว้แค่ร้อยละ 10 – 15 ก็เพียงพอที่จะไม่เป็นภาระกับประชาชนแล้ว (ที่มา IEA : รายงาน Thailand Power System Flexibility Study)
อีกทั้ง ในความจริง ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินระบบมาตลอดมาจากไหนกันแน่? การเจรจาที่ผิดพลาดของรัฐบาล? หรือมันผิดตั้งแต่สัญญาการซื้อ – ขายไฟฟ้า?
#ค่าไฟต้องแฟร์