ส่วนประกอบของเมือง คือ ‘ประชาชน’

ใครเป็นคนอนุญาตและกำหนดว่าพื้นที่บริเวณใดสามารถสร้างสิ่งใดได้ คำถามและข้อสงสัยข้างต้นล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘ผังเมือง’ คำที่หลายคนคุ้นชินและอาจเข้าใจว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับประชาชน แต่เป็นเรื่องใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง หากการวางผังเมืองไม่มีเสียงสะท้อนของประชาชนไปประกอบ ก็อาจทำให้ความเป็นชุมชนเมืองล่มสลายจนไม่สามารถกู้คืนมาได้


วางผังเมืองทำไม ?

หากไม่มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยหลักการแล้วอาจทำให้เมืองโตไปอย่างไร้ระเบียบไร้การควบคุม ดังนั้น การวางผังเมืองจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญในการพัฒนาเมืองให้มีระบบ มีความสมดุล โดยมีการกำหนดว่าพื้นที่ใดควรเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือจะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย เพื่อให้เมืองมีการเติบโตไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพของยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งยังช่วยให้เกิดการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยลดปัญหาต่าง ๆ อาทิ การจราจรที่แออัด หรือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

ผังเมืองกับประชาชน

ที่สำคัญ คือ การวางผังเมืองไม่ใช่เพียงการออกแบบเพื่อกำหนดการใช้พื้นที่สำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น หากแต่เป็นการออกแบบเพื่อ ‘ทุกคน’ ในสังคม ดังนั้นในกระบวนการวางผังเมืองจึงมีการกำหนดให้ ‘ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย’ เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ในกระบวนการด้วย ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจกำหนดนโยบาย การเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นการวางและจัดทำผังเมือง หากแผนผังที่รัฐกำหนดออกมาทำให้ประชาชนเสียประโยชน์หรือได้รับผลกระทบ ทุกคนสามารถยื่นขอให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้

ประชาชนหายไปไหน ในการปรับปรุงผังเมือง?

เป็นที่ยอมรับกันว่าการทำผังเมืองในอดีต เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมน้อยมาก ประชาชนจำเป็นต้องยอมรับสภาพเมื่ออยู่ ๆ มีโรงงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาตั้งกลางชุมชน หรือในเขตโรงเรียน คอนโดสูงมาตั้งในซอยเล็กๆ แคบๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนดั้งเดิม บทเรียนในอดีตทำให้คนในสังคมเมืองต้องการการมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ในชุมชน หรือแม้แต่การตัดถนน แต่เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จึงได้มีเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน รวมทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ว่าทำผิดขั้นตอนมาตั้งแต่เริ่มต้น การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนโดยเฉพาะกับชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ มีไม่มากพอ เนื้อหาเน้นไปทางวิชาการ เข้าใจได้ยากเกินไป และทำให้ประชาชนไม่เข้าใจเนื้อหาในร่างผังเมืองรวม จนไม่สามารถเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็นได้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่เกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางผังเมือง พวกเขาจึงยืนยันว่า กระบวนการนี้จะปล่อยให้ผ่านไปแบบในอดีตไม่ได้

รับฟังความเห็น แต่ไม่ฟังเสียงประชาชน

แม้การวางผังเมืองจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนยังไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นระดับผังเมืองหรือการก่อสร้างต่าง ๆ ที่สามารถก่อสร้างได้อย่างประชิดติดกับบ้านเรือนได้ ทั้งการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรือคอนโดมิเนียมในพื้นที่ชุมชนที่มีถนนคับแคบ อาจส่งผลถึงการจราจรที่ติดขัด สาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ หรือปัญหาอุบัติเหตุที่ทำให้รถดับเพลิงไม่สามารถขับเข้าไปได้ หรือการอนุญาตให้มีโรงงานตั้งอยู่ได้ในพื้นที่ชุมชน เช่น เหตุการณ์โรงงานผลิตเม็ดโฟมระเบิดและเกิดไฟไหม้บริเวณซอยกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จนทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้าง กว่า 5 – 7 กิโลเมตร

ผังเมืองไม่ตอบโจทย์ประชาชน = เมืองพัง          

เมื่อราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครพุ่งสูงขึ้นมาหลายเท่าภายในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การตัดถนน การขีดเส้นพื้นที่ชุมชน อุตสาหกรรม โรงงาน ตลาด ล้วนแต่มีผลกระทบกับแทบทุกชีวิตในกรุงเทพมหานคร การปล่อยให้มีการวางผังเมืองโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมืองเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนว่าใครคือผู้ที่จะได้ผลประโยชน์จากการปรับปรุงครั้งนี้นั้น แต่ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในสังคมในยุคนี้อีกต่อไป หากไม่สามารถสร้างผังเมืองที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดแรงต้านอย่างรุนแรงหรืออาจเป็นสาเหตุทำให้เมืองเสื่อมโทรมแทนความเจริญของเมือง จากการวางผังที่ไม่เอื้อประโยชน์กับประชาชนอย่างรอบด้าน ทุก ๆ เส้นที่ขีดลงบนผังเมือง ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ควรเป็นเส้นที่ประชาชนร่วมขีดด้วยกันกับกรุงเทพมหานคร

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค