
กรณี กสทช. พิรงรอง รามสูต ทำให้เกิดข้อสงสัยของประชาชนจำนวนมากที่มีต่อในการทำหน้าที่แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค แต่โดนลงโทษตามมาตรา 157 โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาจำคุกสองปีโดยไม่รอลงอาญา สภาผู้บริโภคได้รวบรวมคำถามและคำอธิบายความจริงที่เกิดขึ้น
Q: ทำไมต้องหยิบทรูไอดีมาพิจารณา?
A: เนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนช่องทรูไอดีมีโฆษณาแทรกมายังสำนักงาน กสทช. ต่อมาเรื่องร้องเรียนนี้ได้ถูกนำเข้าที่ประชุมอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ที่ กสทช.พิรงรองทำหน้าที่เป็นประธาน จึงได้มีการนำเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเข้าวาระการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ในการประชุมที่มีวาระที่เป็นข้อพิพาท คณะอนุกรรมการได้มีมติ 3 ประเด็น ซึ่งไม่มีอนุกรรมการท่านใดคัดค้าน
(1) มอบหมายให้สำนักงานศึกษาบริการการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต หรือ Over the Top (OTT) และบริการอื่นแบบเดียวกันเพื่อนำข้อมูลเสนออนุกรรมการ
(2) ให้เชิญบริษัททรูไอดีและบริษัทอื่นหรือบริการอื่นที่รวบรวมช่องเช่นเดียวกันมาประชุมร่วมกับอนุกรรมการ
(3) มีหนังสือแจ้งผู้รับอนุญาตทั้งหมดรวม 127 รายให้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Carry) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโทรทัศน์ทุกประเภท เช่น เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และ IPTV ต้องนำช่องโทรทัศน์ที่ภาครัฐกำหนดไปออกอากาศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บริการสาธารณะ และเนื้อหาสำคัญที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม
ในการประชุมที่เป็นข้อพิพาทนี้ ไม่มีการพิจารณาประเด็นการกำกับ OTT แต่เป็นการพิจารณาลักษณะการให้บริการรวบรวมช่องรายการไปเผยแพร่ ภายใต้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 (ประกาศ Service) และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 (ประกาศ Network) ที่ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการจะต้องออกอากาศในโครงข่ายที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในเงื่อนไขใบอนุญาตและประกาศ กสทช.
แต่เรื่องราวต่าง ๆ ได้ถูกทำเห็นว่า กสทช.พิรงรอง ไปกำกับ OTT ทั้งที่ไม่มีอำนาจและไม่มีประกาศเกี่ยวข้อง!
Q: แล้ว กสทช. มีอำนาจกำกับ OTT หรือไม่?
A: คำตอบคือ “มีอำนาจกำกับ” ซึ่งคำตอบนี้ปรากฏชัดในมติการประชุม กสทช. 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน 2560 และในเดือนสิงหาคม 2566 (เป็นข้อมูลสาธารณะ ประชาชนสามารค้นหาได้ในเว็ปไซต์ กสทช.) ที่ชี้ว่า กสทช. มีอำนาจกำกับ OTT ตามที่ดังนี้:
การประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 วันที่ 24 เมษายน 2560 วาระ 5.1 การประกอบกิจการแพร่ภาพและเสียง OTT โดยมีมติที่ประชุม ว่า กำหนดให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (OTT) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ จึงถือเป็นกิจการโทรทัศน์ตามนิยามในมาตรา 4 ของ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่)
และการประชุม กสทช. ครั้งที่ 16/2566 วันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 วาระ 5.22 การพิจารณากำหนดรูปแบบและลักษณะการให้บริการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบการกำหนดให้การแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มถือเป็นการให้บริการในลักษณะ service provider ฯลฯ
มติทั้งสองนี้สอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมายหลายคนรวมทั้งนักกฎหมายที่เป็นคนยกร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ได้ยืนยันว่ากสทช.มีอำนาจกำกับ OTT
แม้ได้มีมติสองครั้งในปี 2560 และ 2566 ว่า OTT อยู่ในอำนาจกสทช. แต่หลักเกณฑ์การกำกับยังไม่มีการประกาศใช้ ทั้งที่ กสทช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแพลตฟอร์มดิจิตอล (OTT) ซึ่งได้พิจารณาร่าง ประกาศ OTT และเสนอให้ สนง. เสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณา แต่เรื่องกลับเงียบ !!! ทั้งที่ร่างดังกล่าวพิจารณาแล้วเสร็จตั้งแต่ ก่อนปลายปี 2566
สังคมต้องตั้งคำถามว่า ร่างประกาศฯ ดังกล่าวอยู่ในกระบวนการใด? ใครเป็นผู้สกัด? จนทำให้กลายเป็นปัญหาบานปลาย!
Q: มีขั้นตอนอย่างไรเมื่อที่ประชุมอนุกรรมการมีมติ?
A: เมื่ออนุกรรมการมีมติ หรือความเห็นข้อเสนอแนะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขั้นตอนถัดไปเป็นหน้าที่ของสำนักงานที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป หากเรื่องใดที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานก็สามารถพิจารณาได้เอง ซึ่งในทางปฏิบัติสำนักงานก็ทำได้ทันที ในกรณีนี้เป็นการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตให้ปฏิบัติตามประกาศและเงื่อนไขที่กสทช. ออกระเบียบไว้อยู่แล้ว
ตามกฎหมายกสทช.มาตรา 64 สำนักงานมีหน้าที่หลายประการ เช่น ดำเนินการด้านธุรการ วิชาการและเทคนิค เพื่อให้กสทช. ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหรือคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ร้องเรียนในกรณีนี้ ดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อกำหนดของ กสทช. แน่นอนในกรณีนี้คือประกาศ Must Carry
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการขัดแย้งภายใน กสทช. สะท้อนออกมากต่อสาธารณะอย่างเห็นได้ชัดเมื่อผู้บริหารสำนักงานใช้กลไกต่าง ๆ รวมถึงทางกฎหมายเล่นงานกรรมการ กสทช. อย่างที่เกิดในปัจจุบัน การดำเนินงานของ กสทช.ที่ควรจะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแล สร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบกิจการและการคุ้มครองผู้บริโภค จึงขาดประสิทธิภาพอย่างรุนแรง
Q: แล้วทำไมจึงระบุชื่อโจทก์?
A: การระบุชื่อโจทก์ เป็นหนึ่งในมติที่ประชุม 3 ข้อ ของการประชุมครั้งที่ 3 โดยไม่มีอนุกรรมการท้วงติ เนื่องจากเห็นว่า หากไม่ระบุชื่อโจทก์จะทำให้ไม่เข้าใจบริบทของความเป็นมาในเรื่องดังกล่าว และที่ประชุมยังมีมติให้ตรวจสอบว่า มีรายใดให้บริการในลักษณะนี้ ถ้าพบให้ระบุชื่อไปทั้งหมด ไม่ได้เจาะจงให้ระบุชื่อโจทก์เพียงรายเดียว และต่อมาสำนักงานได้มีการออกหนังสือแจ้งในลักษณะเดียวกันเมื่อตรวจพบกรณีอื่น ยิ่งยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ตั้งใจเล่นงานทรูไอดีแต่อย่างใด
Q: กสทช.พิรงรองทำรายงานการประชุมเท็จ จริงหรือไม่?
A: จากคำให้การของ กสทช. พิรงรองไม่ปรากฎว่ามีการทำรายงานเท็จ
ข้อเท็จจริงแรก สำนักงาน กสทช ในฐานะเลขานุการเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมในแต่ละครั้ง และเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณารับรองรายงานการประชุม ซึ่งโดยปกติของ กสทช. หากแก้ไขไม่มากฝ่ายเลขานุการจะรวบรวมข้อสังเกตและความเห็นเพื่อตรวจสอบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในการประชุมให้ครบถ้วนถูกต้อง เมื่อปรับแก้ให้ครบถ้วนถูกต้องตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ถือว่าที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมดังกล่าว
ข้อเท็จจริงที่สอง พบว่า มติที่ประชุมในรายงานการประชุมไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากว่าเหตุใด กสทช.พิรงรองกลายเป็นผู้ที่มีส่วนในทำรายงานเท็จทั้งที่เป็นกระบวนการรับรองรายงานการประชุมซึ่งเป็นขั้นตอนปกติของการประชุมของทุกหน่วยงาน
จากข้อเท็จจริงทั้งสอง สิ่งที่สังคมควรตั้งคำถามคือ เกิดอะไรขึ้นในสำนักงาน กสทช. ที่ทำให้รายงานการประชุมตามขั้นตอนปกติ กลายเป็นการทำรายงานเท็จจากประธาน ทำไมโจทก์จึงมีเอกสารหลักฐานหรือเทปบันทึกรายงานการประชุมทั้งหมดในครอบครอง ทั้งที่ในความเป็นจริง การขอเอกสารหลักฐานการประชุมต่าง ๆ ขององค์กรคู่พิพาทจะขอได้เฉพาะเอกสารที่อยู่ในวาระนั้นเท่านั้น
แต่จะเห็นได้ว่า โจทก์สามารถมีรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมทั้งหมด รวมทั้งเทปเสียงบันทึกการประชุมตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับมตินั้น ๆ เท่านั้น หรือแม้กระทั่งเทปบันทึกการประชุมที่ปิดการประชุมไปแล้ว ซึ่งไฟล์เสียงการประชุมเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของสำนักงานที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้คำถามที่สังคมควรพิจารณาคือการได้มาซึ่งทรัพย์สินของรัฐเหล่านี้ ถูกต้องหรือไม่ และทำไมสำนักงาน กสทช. ไม่เคยตั้งเรื่องสอบสวนประเด็นข้อมูลภายในรั่วไหลในกรณีนี้เลย
Q: มีกระแสข่าวว่ามีการวางแผนฟ้องคดีและกดดันให้ กสทช. พิรงรอง ลาออกจากตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง จริงหรือไม่ และทำไม?
A: มีการฟ้องคดีต่อเนื่อง และมีการขอให้ พิรงรองหยุดทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนี้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 บริษัท
ทรูดิจิทัลกรุ๊ป ได้ฟ้อง กสทช. พิรงรอง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ วันที่ 14 มีนาคม 2567 ศาลรับฟ้อง วันที่ 2 เมษายน 2567 บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช. พิรงรองหยุดปฏิบัติหน้าที่
วันที่ 14 พ.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งควรถูกนำมาพิจารณาในคำพิพากษาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แต่กลับไม่ได้เห็นคำให้การหรือคำโต้แย้งของจำเลยหรือข้อมูลของพยานฝั่งจำเลยเลยปรากฏในคำพิพากษามากเพียงพอ
จะเห็นได้ว่า แรงกดดันจากการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการหลุดจากตำแหน่งกรรมการ กสทช. คือ หากพิรงรองไม่ได้รับการประกันตัวในวัน 6 ก.พ. และต้องจำคุกหนึ่งคืน พิรงรองจะหลุดจากตำแหน่ง กสทช. ตามกฎหมาย
ต่อมาเมื่อมีข่าวว่า ประธานกสทช. จะคัดลอกคำพิพากษาเพื่อไปร้องเรียนความผิดด้านจริยธรรมต่อ ปปช. หาก ปชช. พิจารณาว่าข้อกล่าวหามีมูล พิรงรองอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ความเสี่ยงต่อมาคือหากมีการพิพากษาผิดในคดีอื่น ๆ ที่ค้างอยู่ พิรงรองก็อาจหลุดจากตำแหน่งเมื่อต้องรับโทษตามคำพิพากษา 6 ก.พ.
Q: สังคมควรจับตาอะไร?
A: คำถามใหญ่ที่สังคมควรรับรู้ คือ ทรูไอดี มีโฆษณาแทรกหากรับชมช่องรายการฟรีทีวี (linear TV) จริงหรือไม่? เป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่? เข้าข่ายหาผลประโยชน์จากช่องรายการของคนอื่นใช่หรือไม่? ทรูไอดี รวบรวมช่องรายการฟรีทีวี (ผู้บริโภคสามารถรับชมช่องฟรีทีวีผ่านแอปทรูไอดี) ใช่หรือไม่? และเมื่อได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจมีการแบ่งปันให้กับช่องรายการเจ้าของช่องหรือเจ้าของลิขสิทธิ์บ้างหรือไม่?
บริการทรูไอดี กับ และของบางบริษัท ต่างมีการรวบรวมช่องรายการฟรีทีวีที่เป็นทีวีดิจิทัล เผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชันมือถือบนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (ผู้ให้บริการรายใดก็ได้) ใช่หรือไม่? เพราะเหตุใดอีกบริษัทนึงที่เผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชันมือถือบนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ จึงมาขอรับอนุญาตจาก กสทช. และด้วยเหตุใด ทรูไอดี จึงไม่มาขออนุญาตจาก กสทช.? หรือสำนักงาน กสทช.ไม่เคยแจ้งให้มาขออนุญาต?
จะเห็นได้ว่า คณะอนุกรรมการอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มี กสทช.พิรงรองเป็นประธาน ได้ทำตามหน้าที่ในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคให้เป็นไปตามกติกาหลักเกณฑ์ที่ได้ทำหนดไว้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 60 ที่พอสรุปได้ว่า ทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ควรหรือไม่ที่ผู้ทำตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้รับการลงโทษขั้นอาญา?
Q: การลงโทษ มาตรา 157 ด้วยการจำคุกสองปีไม่รอลงอาญามีผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคจริงหรือไม่?
A: เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การลงโทษขั้นรุนแรงนี้กระทบต่อกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคทุกภาคส่วนจริง และส่งผลเสียต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคและการรักษาประโยชน์ของสาธารณะ โดยเฉพาะในกิจการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ารวมหลายแสนล้านต่อปีที่มีประชาชนเป็นเจ้าของตามรัฐธรรมนูญ การลงโทษที่รุนแรงจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่ต้องระวังจนเกินสมควร จนไม่สามารถรักษาประโยชน์ผู้บริโภคหรือประโยชน์สาธารณะได้ หรือ “การเชือดไก่ให้ลิงดู” จะทำให้ผู้ที่ควรทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ อาจไม่กล้าตัดสินใจที่อาจให้ตนเองเสี่ยงต่อการติดคุก
ต่อไปนี้ผู้บริโภคอาจพบเหตุการณ์ การนิ่งดูดาย ไม่เห็น ไม่พูด ไม่ทำ ปล่อยให้ผู้บริโภคทั่วประเทศโดนเอาเปรียบเพราะตัวอย่างที่ได้เห็นว่ากรรมการในองค์กรระดับประเทศยังโดนลงโทษขนาดนี้ ผู้รักษากฏระดับล่างจะมีความกล้าหาญพอที่จะต่อกรกับทุนที่ได้เปรียบในทุกประตู อีกทั้งตัวอย่างการพ่ายแพ้ของผู้กำกับกติกา อาจเป็นแนวโน้มสำหรับผู้ที่กำลังลังเลว่าตนเองควรยอมสยบต่อทุน หรือต่อหลักการการคุ้มครองผู้บริโภค จะก้มหัวยอมรับการครอบงำของทุนโดยสิ้นเชิง
Q: ที่ผ่านมา กสทช. ละเลยอะไร?
A: เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อประชาชน และสังคมทั่วไปว่า กสทช. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในหลายกรณีที่เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคทั้ง ๆ ที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. จนเป็นเหตุให้สภาผู้บริโภคดำเนินการจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิผู้บริโภคให้กับ ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกรณีการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค รวมถึงเอไอเอสกับสามบีบี หรือปัญหาสำคัญที่สุดของผู้บริโภคในปัจจุบัน ในการจัดการขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านให้กับประชาชน
กสทช. ก็ยังไม่มีการออกประกาศให้บริษัทโทรคมนาคม (Telco) รับผิดชอบเช่นเดียวกันกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการออกมาตรการใหม่ผ่านราชกิจจานุเบกษา ยกระดับความปลอดภัยของแอปพลิเคชันธนาคาร เพื่อป้องกันภัยไซเบอร์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พัฒนากลโกงซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกสวมรอยทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร
คดี กสทช. พิรงรอง สะท้อนให้เห็นว่า การปกป้องสิทธิผู้บริโภคในประเทศนี้อาจแลกมาด้วยความเสี่ยงทางกฎหมาย แม้แต่ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างตรงไปตรงมา ก็อาจต้องเผชิญกับบทลงโทษรุนแรง นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของบุคคล แต่คือแรงกระเพื่อมที่ส่งผลต่ออนาคตของการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งระบบ