‘หมูแพง’ เพราะโรคระบาดที่เกิดในหมู แล้วมีทางรอดหรือทางเลือกอะไรบ้าง? สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เชิญนักวิชาการ ผู้ประกอบการ เกษตรกร ร่วมคิดหาทางออก เพื่อให้ประเทศไทยรอดจากวิกฤตอาหารในครั้งนี้
ท่ามกลางวิกฤตราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นอย่างเป็นที่น่ากังวลต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการขายอาหารเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามารับรู้ปัญหาด้วยตนเองและรีบแก้ไข ก่อนผู้ประกอบการขายอาหารต้องปิดกิจการ ในขณะที่เกษตรเลี้ยงหมูโอดโอยถึงเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกา (African Swine Fever หรือ ASF) ระบาด ทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูล้มหายตายจากไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80 – 90 และด้วยเหตุนี้ราคาเนื้อหมูในประเทศกำลังพุ่งสูงติดอันดับโลก ส่วนนักวิชาการชี้ว่าหากไม่แก้ปัญหาโดยเร็ว อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูจะตกไปสู่มือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้น
เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤตหมูแพง สอบ. เสนอให้ชุมชนต่าง ๆ หันมาสร้างทักษะเลี้ยงหมูหลุม หรือ การเลี้ยงหมูแบบเดิมที่ผู้เลี้ยงไม่ต้องการให้หมูวิ่งเพ่นพ่าน พื้นที่เลี้ยงน้อย จึงขุดหลุมลึกประมาณ 1.5 – 2 เมตรเพื่อเป็นคอกสำหรับเลี้ยงหมู โดยมีวัสดุรองพื้นหลุม และอาหารหมู เป็นสิ่งที่หาได้ตามท้องถิ่นนั้น ๆ และองค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการเพิ่มจำนวนเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงหมูไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่ ที่ไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา เร่งผลักดันให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค เพื่อเพิ่มปริมาณหมูสู่ระบบ ทั้งยังเสริมสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
ในเวทีเสวนานี้ ผู้ประกอบการอย่าง จงใจ กิจแสวง หรือเจ๊จง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง แสดงความกังวลต่อวิกฤตราคาหมูที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติกาลในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันราคาหมูแพงจนน่าตกใจ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างหนัก ที่สำคัญไม่เพียงแต่ราคาหมูเท่านั้น ราคาวัตถุดิบอื่น ๆ ต่างก็ปรับราคาขึ้นเช่นกัน เมื่อแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหวก็ต้องปรับราคาขายขึ้น แม้จะขึ้นอย่างน้อยที่สุดแล้ว แต่ผู้ที่เดือดร้อนก็หนีไม่พ้นผู้บริโภค ยิ่งเศรษฐกิจแย่ หาเงินลำบาก โควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมด ผู้บริโภคก็ยิ่งได้รับผลกระทบหนักขึ้นทุกวัน ด้านผู้ขายก็ขายได้ยากขึ้นจนต้องปิดกิจการไปในที่สุด ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วกับหลายร้าน รวมถึงแผงหมูที่ขาดทุนจนเจ๊ง สู้ต่อไม่ไหว จึงต้องการให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยให้เร็วกว่านี้ เพราะปล่อยไว้ก็จะกอดคอตายกันหมด ทุกวันนี้พ่อค้าแม่ค้าขายของทั้งน้ำตา ทนขายเพื่อรอให้ตลาดฟื้นตัวกลับมา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไร หลายฝ่ายบอกว่าน่าจะกลับมาอีก 18 เดือนข้างหน้า ซึ่งมองว่านานเกินไป และต้องทนกับการขึ้นราคาหมูแบบนี้ไปอีกนานเท่าไรทำให้เกิดความกังวลต่อผู้บริโภค
“อยากให้ภาครัฐตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน อยากให้ลงพื้นที่เพื่อสัมผัสปัญหาด้วยตนเอง อย่าเพียงแค่ฟังจากรายงาน เราอยู่ตรงนี้เราเห็นความลำบากของผู้บริโภค แต่ทำไมภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาล่าช้าขนาดนี้” เจ๊จงแสดงความเห็น “หากดูให้ดีจะพบว่าไม่ใช่แค่หมูเท่านั้นที่แพง ไก่ก็ปรับราคาสูงขึ้นถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเยอะมาก ที่สำคัญเรารู้แล้วว่าราคาหมูจะขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทั้งเดือนมกราคมนี้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับปัญหาราคาอย่างไร”
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เปิดเผยว่า ปัจจุบันราคาหมูในไทยถือว่าแพงอันดับต้น ๆ ของโลก โดยราคาหมูมีชีวิตที่จำหน่ายหน้าฟาร์มจากประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 110 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าในทวีปอเมริกาใต้ที่ราคาหมูน้อยกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว หรือในยุโรปที่มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 40 – 50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น และเมื่อเทียบราคากับประเทศในแถบเอเชียพบว่า ราคาหมูในประเทศไทยแพงที่สุด แพงมากกว่าจีนและเวียดนามที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 80 บาทและ 60 บาทตามลำดับ โดยราคาในไทยยังมีแนวโน้มที่จะแพงขึ้นอีก ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะสวนทางกับค่าแรงที่ถือว่ายังไม่สูงมาก หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดภาพรวมค่าครองชีพในระดับที่ใกล้เคียงกันกับไทย
ปัญหาครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสจริง ๆ จากที่รัฐบาลประเมินมูลค่าความเสียหายต่อภาคการผลิตจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท หากวิเคราะห์โดยใช้ฐานข้อมูลของจีนจะพบว่า เมื่อหมูราคาแพงขึ้น ก็จะทำให้ราคาสินค้าอื่นแพงขึ้นตามไปด้วย โดยในจีน หมูมีราคาแพงขึ้นประมาณร้อยละ 150 ทำให้เนื้อไก่แพงขึ้นร้อยละ 34 และเนื้อวัวแพงขึ้นร้อยละ 21 ซึ่งปัญหาเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในไทย หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าผู้บริโภคชาวไทยต้องแบกรับภาระด้านอาหารประเภทโปรตีนสูงขึ้นกว่าเดิมมาก จากสถิติพบว่าคนจะบริโภคหมูเฉลี่ย 24 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทำให้เพิ่มภาระในการซื้อหมูสูงขึ้นจาก 200,000 ล้านบาทไปเป็น 500,000 ล้านบาทต่อปี โดยในไทยจะเพิ่มภาระให้ผู้บริโภคประมาณ 370,000 ล้านบาท นี่คือภาระของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รวมถึงปัญหาโควิด – 19 ก็ยังไม่คลี่คลาย จากคำแนะนำขององค์กรด้านสุขภาพพบว่าโปรตีนที่อยู่ในจานของแต่ละมื้ออาหารควรมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของแต่ละมื้อ แต่ราคาเนื้อสัตว์ในปัจจุบันจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อวันจะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อซื้อเนื้อสัตว์เกินครึ่ง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะคนยากจน
“จากการศึกษาข้อมูลของจีนพบว่าเกิดการระบาดของโรคตั้งแต่ปลายปี 2560 และหมูได้หายไปจากตลาดชัดขึ้นจนส่งผลให้เกิดการปรับราคาหมูสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 18 เดือน โดยจีนแก้ปัญหาการขาดแคลนหมูด้วยการสั่งนำเข้าเนื้อหมูจากออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ จนสามารถทำให้ตลาดกลับสู่ภาวะสมดุลได้ แต่กรณีของไทยมองว่าผลกระทบน่าจะรุนแรงกว่าในจีน เพราะความไม่ชัดเจนในการประกาศเรื่องการระบาดของโรค ตลอดจนการเร่งระดมส่งออกหมูไปจำหน่ายในต่างประเทศมากถึง 2.7 ล้านตัว ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน จากปกติที่ส่งออกเพียง 500,000 – 700,000 ตัวเท่านั้น หากไทยต้องการแก้ปัญหาโดยการสั่งนำเข้าหมูจากต่างประเทศก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะอาจส่งผลเสียต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งรายใหญ่และรายย่อยได้ การห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพึงระวัง เพราะหากยกเลิกมาตรฐานด้านความปลอดภัยดังกล่าว กำแพงด้านสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยก็จะถูกทำลายลง กล่าวได้ว่าปริมาณหมูที่หายไปจากตลาดคือปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหมูแพงอย่างมากในปัจจุบัน แต่จะแพงอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่นั้นต้องรอดูข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง” วิฑูรย์แสดงความกังวล
ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พบว่า หากดูสัญญาณจากประเทศเพื่อนบ้าน จะพบว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา มาตั้งแต่ปี 2562 ในหลายประเทศแถบเอเชีย แต่สำหรับไทยกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่สามารถส่งออกหมูไปจำหน่ายในต่างประเทศได้มากขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนหมูจากโรคระบาด โดยมีมูลค่าหมูส่งออกสูงถึง 10,000 ล้านบาทจากปกติจะอยู่ประมาณ 100 ล้านบาท ไทยเพิ่งเริ่มพบว่ายอดการส่งออกลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา จนกระทั่งในเดือนธันวาคมปี 2564 ก็เกิดภาวะเอาไม่อยู่ ราคาหมูจึงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดดังที่เราเห็น เพราะปริมาณหมูในตลาดหายไปประมาณร้อยละ 20 – 30 หรือประมาณ 5 – 6 ล้านตัว และหากยังแก้ปัญหาการระบาดไม่ได้ ก็ยังไม่สามารถเติมจำนวนหมูใหม่ลงไปสู่ตลาดได้ เพราะเสี่ยงต่อการติดโรคระบาดในที่สุด
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่ได้หายไปเฉพาะหมู แต่สิ่งที่หายไปด้วยคือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อย ที่ต้องแบกรับหนี้สินจากปัญหาดังกล่าวด้วย หากจะกลับมาได้ก็ต้องพึ่งพาระบบการเงินซึ่งใช้เวลาอีกระยะ ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องทำควบคู่กันไประหว่างการแก้ปัญหาโรคระบาดเพื่อเริ่มเติมหมูใหม่สู่ระบบ กับการแก้โจทย์ทางการเงินของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู หากหมูกลับมาแต่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลางไม่กลับมาก็จะทำให้ปริมาณหมูไหลไปสู่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ของประเทศเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน โดยราคาหมูที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงกลางธันวาคมก็เกิดจากการเก็บสต๊อกเนื้อหมูไว้จำนวนหนึ่ง และปล่อยออกมาเมื่อสินค้าขาดตลาด ซึ่งเป็นสาเหตุของราคาหมูที่แพงมากขึ้นในปัจจุบัน ที่สำคัญภาครัฐควรเร่งออกมาชี้แจงข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค เมื่อสังคมเกิดความเข้าใจก็จะสามารถให้ความร่วมมือกับภาครัฐได้อย่างเหมาะสม” ดร.เดชรัต กล่าวเสริม
ปัญหาการระบาดครั้งนี้ วิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม SVN กล่าวว่า การระบาดส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูร้อยละ 80 – 90 ไปไม่รอด ไม่ต้องหวังว่าเกษตรกรรายย่อยจะยังอยู่ได้ ขนาดฟาร์มใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจมานานกว่า 50 ปี ปัจจุบันยังถูกฟ้องดำเนินคดีเพื่อให้ชดใช้ค่ายาที่ยังติดค้างอยู่ แม้ในอดีตฟาร์มดังกล่าวถือว่ามีเครดิตดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทยก็ตาม หากภาครัฐแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้สำเร็จ ไทยอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 เดือนในการทำให้กลไกส่วนต่าง ๆ กลับมาดำเนินการได้เช่นเดียวกับช่วงก่อนการระบาด
“เราเริ่มพบว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันใน จ.ราชบุรี ต้องสูญเสียหมูจากการระบาดในครั้งนี้กว่า 2,000,000 ตัว แต่ภาครัฐก็ไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใด ๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน ไม่ได้เตรียมการให้คำแนะนำในการกำจัดหมูที่ติดเชื้อแก่เกษตรกร ที่สำคัญไม่มีการชดเชยค่าเสียหายแก่เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรต้องเร่งขายหมูที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อออกไปให้เร็วที่สุดเพื่อลดการสูญเสีย ทำให้การกระจายตัวของโรคทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งไปชำแหละในโรงฆ่าเถื่อนที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งรัฐควรเร่งเข้ามาจัดการในกรณีนี้โดยเร็วที่สุด” วิเชียร เรียกร้อง
ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า สอบ. พยายามจะทำให้ราคาหมูเป็นธรรมที่สุดสำหรับผู้บริโภค ปัญหาการขาดแคลนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหมูแพง และดูเหมือนรัฐบาลจะจัดการปัญหาดังกล่าวไม่ได้ การเสนอให้ขึ้นค่าแรงท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด – 19 ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก การปรับกลไกต้นทุนด้านอาหารสัตว์และอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะนำมาทบทวนเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงต้องการให้ร่วมกันหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร หากปล่อยนานไปผู้บริโภคอาจจะรับราคาที่แพงขนาดนี้ไม่ไหวเมื่อเทียบกับรายได้ที่มี ดังนั้น อาจจะไม่สามารถปฏิเสธการแก้ปัญหาในระยะสั้นด้วยการนำเข้าหมูมาจำหน่ายในไทย แต่การนำเข้าก็ต้องสนับสนุนเงื่อนไขที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เพราะไทยพยายามควบคุมเรื่องสารเร่งเนื้อแดงมาโดยตลอด จากการตรวจสอบล่าสุดของ สอบ. ก็พบน้อยมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้น จึงไม่ควรนำปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงกลับมาอีก เพราะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ขณะนี้ไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ที่กำกับดูแลเรื่องหมูโดยเฉพาะ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีบทบาทในการแก้ปัญหาเท่าใดนัก เพราะการปรับโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้เป็นหน้าที่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและผู้บริโภคต้องร่วมกันเข้าไปดูว่าจะทำให้คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการรักษาสมดุลระหว่างผู้เลี้ยงหมูและผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง
การลดปริมาณลงของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารได้ในอนาคต ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูหรือสนับสนุนให้เกษตรกรที่ไม่เคยเลี้ยง หันมาเริ่มเลี้ยงก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ สอบ. ต้องการเสนอให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
“การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหมูหลุมในพื้นที่ที่ไม่เกิดการระบาดอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกในการช่วยบรรเทาปัญหา ดังเช่นโมเดลการผลิตไข่ไก่อารมณ์ดีออกสู่ตลาดจนเป็นที่นิยมของผู้บริโภค หรือการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการสนับสนุนแม่พันธุ์ไก่และรับไข่ไปรับประทาน การจะเพิ่มโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ให้มากขึ้นก็จะยิ่งเป็นผลดีแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น หากผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคเนื้อหมูที่ปราศจากสารปฏิชีวนะหรือการใช้ยาในการเลี้ยง ก็อาจจะต้องลงทุนและสนับสนุน และ สอบ. เชื่อว่าอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางรอดเพื่อฝ่าวิกฤตราคาหมูไปได้ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเข้ามาสนับสนุนด้วยเช่นกัน” สารีเสนอแนะ
สอดคล้องกับความเห็นของวิเชียร ที่ว่า การเลี้ยงหมูในคอกดินหรือหมูหลุมนั้น สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างมาก เพราะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ไม่แออัด และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากเกษตรกร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากการผลิตหลักตกไปอยู่กับบริษัทใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่บริษัท
การปล่อยให้มีการเลี้ยงหมูในฟาร์มขนาดใหญ่จำนวนมาก ย่อมทำให้รายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ความหลากหลายและศักยภาพในการผลิตอาหารของไทยอ่อนแอลง ทำอย่างไรเกษตรกรรายย่อยถึงจะมีโอกาสในการผลิตอาหารป้อนสู่ตลาดได้ สิ่งนี้คือเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้เกิดกลไกการผลิตที่เอื้อตั้งแต่รายใหญ่ถึงรายย่อยในรูปแบบที่มุ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทั้งด้านความรู้และเงินทุน ทำให้เกิดกลไกที่แข็งแกร่ง หากทำเช่นนี้ได้ รายย่อยก็ยังอยู่ได้ ส่วนรายใหญ่ก็จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน จึงต้องการให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เสนอความคิดเพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายการวางแผน เพื่อลดการผิดพลาด และไม่มุ่งเน้นด้านทุนนิยมอย่างเดียว แต่ต้องการให้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจด้านสังคมมาสร้างสมดุล เพื่อลดปัญหาเชิงระบบดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน