“การจะตัดสินคนว่าผิดหรือไม่ผิด เราจะต้องสิ้นความสงสัย จนมั่นใจว่าผู้บริโภคเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำจากผู้ประกอบการที่มีเจตนาทุจริต”
จากประสบการณ์ในการทำงานเครือข่ายสร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่งเป็นเครือข่ายพัฒนาเกี่ยวกับสภาอค์กรชุมชน เรียนรู้งานชุมชน การดูลักษณะของชาวบ้านว่าเป็นแบบไหน เป็นผู้นำชุมชนลักษณะรูปแบบไหน มีการส่งต่อข้อมูลด้วยวิธีการอย่างไร นำมาปรับใช้กับงานคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงช่องทางการผลิตสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อใหม่ (เฟซบุ๊ก ไลน์ อีเมล) และสื่อเก่า (วิทยุ ทีวี) เพื่อกระจายการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร งานคุ้มครองผู้บริโภค ให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงให้หน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารได้อีกทางหนึ่ง
ว่าที่ ร.ต.อภิสิทธิ์ ชำนาญยา (เอ็ม) เติบโตมาจากเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ภายใต้ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา และพัฒนาตนเองมาเป็น “หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา” จากเดิมที่รับเรื่องร้องเรียนอยู่ในจังหวัดพะเยา ในประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำเรื่องยาชายแดน การสุ่มตรวจอาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
และด้วยบุคลิกส่วนตัวที่จบนิติศาสตร์ จึงพยายามเรียนรู้ประเด็นที่หลากหลายมากกว่าอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้น เช่น เสริมประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเคสที่ค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ยาก และยอมรับว่าปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เห็นมุมมองการทำงานใหม่ ๆ ของหน่วยงานประจำจังหวัดว่า เราเปลี่ยนแปลงประเด็นเดิมจากเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มาเป็นเรื่องกฎหมาย โดยเป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินและการธนาคารในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งถือเป็นเคศใหญ่แก้ไขยาก เคยเอาเคสนี้เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารของสภาองค์กรของผู้บริโภค
ในการประชุมอนุกรรมการฯ ครั้งนั้น มีความเห็นว่าคดีของเชียงม่วนสิ้นสุดไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นคดีได้ แต่สามารถนำเอาคดีของเชียงม่วนมาเป็นกรณีศึกษาวางเป็นแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในการปล่อยสินเชื่อให้กับวิสาหกิจระดับชุมชน
โดยรายละเอียดของคดีนี้ เกิดจากธนาคารของรัฐออกประกาศเชิญชวนให้เกษตรกร หรือชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนมารวมตัวกันเพื่อจัดทำเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งชาวบ้านในอำเภอเชียงม่วนเขาชวนกันรวมตัวเป็นวิสากิจในลักษณะสหกรณ์ออมทรัพย์ภายในหมู่บ้าน หรือตำบลของตนเอง โดยการเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์จะต้องมีการเชิญชวนชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิก โดยให้สิทธิพิเศษว่า หากชาวบ้านสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์หมู่บ้าน/ตำบล จะสามารถกู้สินเชื่อจากธนาคารของรัฐแห่งนี้ได้ รายละ 200,000 บาท ทำให้มีเกษตรกร และชาวบ้านในหมู่บ้าน ในตำบล อำเภอเชียงม่วน สนใจเข้ามาเป็นสมาชิกของสสหกรณ์แห่งนี้หลายราย
โดยในขั้นจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน หรือสินเชื่อ พบว่าเป็นลักษณะของการเซ็นค้ำประกันแบบเวียนกัน คือให้ลูกหนี้ค้ำประกันให้ลูกหนี้อีกคนหนึ่ง และทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารยังได้มีการพูดคุยกับกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 11 คน โดยจัดทำเป็นเอกสารสัญญา และบอกกับกรรมการกลุ่มให้ช่วยเซ็นรับรองสมาชิกกลุ่มให้กัน โดยกรรมการทุกคนจะต้องลงลายมือชื่อเพื่อรับรอง และด้วยความที่คณะกรรมการไม่ได้อ่านเอกสารสัญญาที่เซ็นชื่อลงนามอย่างละเอียด
ผลปรากฏว่าเอกสารที่คณะกรรมการทุกคนเซ็นเป็นสัญญาค้ำประกันเงินกู้ ส่งผลให้คณะกรรมการกลุ่ม 11 คน ที่ลงรายมือชื่อไปนั้น ตกเป็นผู้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องคดีตามกฎหมาย ส่งผลให้ธนาคารของรัฐบังคับคดีกับประธานกลุ่มวิสาหกิจตามคำสั่งศาล และคณะกรรมการกลุ่มก็ถูกบังคับคดียึดทรัพย์และที่ดินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ไปประมาณ 6–7 คน จาก 11 คน ทำให้คณะกรรมการกลุ่มเกิดความเดือดร้อน
จึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปหลายช่องทาง ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือหน่วยงานยุติธรรมต่าง ๆ ของจังหวัดพะเยาจนถึงที่สุดพบว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเป็นความผิดพลาดของกระบวนการและตัวของคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริโภคเอง ที่ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้ามาปรึกษาตั้งแต่เริ่มแรก แต่มาปรึกษาภายหลังจากมีคำพิพากษาไปแล้ว ซึ่งลักษณะของคดีคือ คณะกรรมการกลุ่มมีการเซ็นยินยอมในชั้นพิจารณาไปแล้ว ทำให้คดีมีลักษณะที่คณะกรรมการกลุ่มยอมรับใน คำฟ้องของธนาคารของรัฐแห่งนี้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ หรือในภาษาที่เราพูดกันคือ “คุณมาช้าไป เราไม่สามารถฟื้นกระบวนการพิจารณาคดีให้คุณได้” แต่ในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ ได้พยายามนำเรื่องที่เชียงม่วนไปพัฒนาเป็นนโยบายระดับประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีในลักษณะเดียวกันนี้กับเคสอื่น ๆ อีก
คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคารของสภาองค์กรของผู้บริโภค ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ แม้คดีเสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้วไม่สามารถช่วยเหลื่อผู้บริโภคให้ได้ที่ดินกลับคืนมาได้ แต่สามารถทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อธนาคาร เพื่อทำเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบเชียงม่วนขึ้นกับผู้บริโภครายอื่น ๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างการชำระหนี้ให้กับธนาคาร หรือกำลังรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะกู้สินเชื่อกับธนาคารแห่งนี้
เคสของเชียงม่วนเป็นเคสใหญ่เคสหนึ่ง และเป็นเคสเริ่มต้นของหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา ที่ทำให้หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา เริ่มเป็นที่รู้จักของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดพะเยา จากการนำเคสดังกล่าวไปปรึกษากับสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายของจังหวัดพะเยา และหารือกับสำนักงานุติธรรมจังหวัดพะเยา ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพะเยา คือเชื่อมภาคีทางกฎหมายเพิ่มขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้น ทำให้หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยาเริ่มเป็นที่รู้จักของหน่วยงานทางกฎหมายในจังหวัด มีการนำประเด็นปัญหาเข้าไปหารือเป็นวาระการประชุมระดับจังหวัด
ส่งผลให้เกิดความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งจากหน่วยงานระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ธนาคารในจังหวัดพะเยา หน่วยงานด้านการฟื้นฟูลูกหนี้ในจังหวัดพะเยา รวมถึงภาคีเครือข่ายทางกฎหมายที่ทำงานร่วมกัน เช่น สภาทนายความจังหวัดพะเยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งสนับสนุนทั้งงานวิชาการ และข้อมูลทางกฎหมายให้กับหน่วยงานประจำจังหวัด รวมถึง สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดพะเยา สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) และยังมีสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพะเยา หรือ สยจ.พะเยา เป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา อีกด้วย
องค์กรภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งหมดนี้ มีส่วนช่วยให้การทำงานรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา สามารถแก้ไขได้ดีมากยิ่งขึ้น และพบว่ามิติการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยาส่วนใหญ่มาจากมุมมองทางกฎหมาย และการใช้ภาษาทางกฎหมายในการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท เพราะหลาย ๆ เคส หากเป็นการพูดคุยกับผู้ประกอบการทางโทรศัพท์ปกติทั่วไป ผู้ประกอบการมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ยอมรับฟังเสียงร้องเรียน ร้องทุกข์ของผู้บริโภค
แต่หากใช้มิติทางกฎหมายเข้ามาพูดคุยเสียงของผู้บริโภคจะมีน้ำหนักมากขึ้น ผู้ประกอบการยอมรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคแต่โดยดี โดยหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา จะวิเคราะห์ข้อเท็จจริง และทำหนังสือออกจากหน่วยงานประจำจังหวัด แนบฐานความผิดและหรือมาตราความผิดตามกฎหมายให้กับผู้ประกอบการทราบอย่างเป็นทางการ จนสามารถแก้ไขปัญหาในชั้นไกล่เกลี่ยระงับ ข้อพิพาทย์ให้กับผู้บริโภคได้ ประมาณ 80–90 เปอร์เซ็นต์ จนหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในการเริ่มฟ้องคดี หรือกระบวนการทางกฎหมาย
“ในการสืบค้นหาข้อเท็จจริง เราต้องใส่ใจในรายละเอียด รอบคอบในการสอบถาม สืบค้นข้อเท็จจริง
ให้ได้มากที่สุด รอบด้านที่สุด จนมั่นใจว่าผู้บริโภคเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำจากผู้ประกอบการที่มีเจตนาทุจริต”
จากกรณีเคสของเชียงม่วน ส่งผลให้เกิดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิของผู้บริโภคในฐานะที่เป็นลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน” เพื่อกระตุ้นเตือนผู้บริโภคในจังหวัดพะเยาให้มีการเฝ้าระวัง รู้เท่าทัน และเตือนสติตัวเองในการทำสัญญา โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ ม.พะเยา สำนักงานยุติธรรมจังหวัดพะเยา และสำนักงานบังคับคดีจังหวัดพะเยา เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ได้รับความรู้ และเข้าใจว่าตนเองมีสิทธิในการเป็นลูกหนึ้ตามกฎหมายอย่างไรบ้าง เช่น สิทธิในการทำสัญญาแต่ละครั้ง เรามีสิทธิที่จะได้รับคู่สัญญา หรือคู่ฉบับมาเก็บไว้ที่ตัวเรา หรือการทำสัญญาที่เป็นธรรม เราจะต้องไม่ถูกบังคับหรือบิดเบือนข้อมูล
หรือหากเราผิดนัดชำระหนี้ เรายังมีพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ มีจดหมายทวงถามหนี้ในลักษณะไหน หรือในมุมของผู้ค้ำ ประกันเอง ก็ย่อมมีสิทธิในส่วนของผู้ค้ำประกัน เช่น หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ ค้ำประกันทราบอย่างน้อย 60 วัน หรือการฟ้องคดีต่าง ๆ เพื่อบังคับลูกหนี้ที่ผิดสัญญา ผู้ค้ำประกันสามารถปฏิเสธการชำระหนี้ โดยขอให้เจ้าหนี้ไปบังคับคดีกับลูกหนี้ก่อน เป็นต้น
เอ็ม (ว่าที่ ร.ต.อภิสิทธิ์ ชำนาญยา) กล่าวถึงเป้าหมายและความท้าทายของหน่วยงานประจำจังหวัดพะเยาในภารกิจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรว่า หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยาได้ร่วมกับพะเยาทีวี เครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทสไทยจังหวัดพะเยา พัฒนาสื่อภาษาถิ่น พัฒนาเนื้อหา ประเด็นความรู้เพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ทุกเพศ และทุกศาสนาในจังหวัดพะเยารับทราบ และตื่นตัวในการเฝ้าระวังภัยที่อาจถูกละเมิดสิทธิของตนเองได้ตลอดเวลา
รวมถึงพัฒนาแกนนำเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ในพื้นที่ ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้บริโภค เพื่อลดความกังวล ความกลัวในการถูกฟ้องคดี เพิ่มเติมความรู้ เสริมความมั่นใจและเข้าใจหัวใจของการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคอย่างถูกต้อง ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการให้ตระหนักถึงการเคารพสิทธิของผู้บริโภค ทุกครั้งในการผลิตสินค้าหรือบริการอะไรออกมา ควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ภารกิจต่าง ๆ ที่เอ็มกล่าวมานี้ เป็นเป้าหมายที่หน่วยงานประจำจังหวัดพะเยา ต้องพัฒนาความร่วมมือกับภาคีองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์กรสื่อในจังหวัดพะเยาเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรต่อไป