สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายแกนนำขับเคลื่อนบำนาญแห่งชาติจังหวัดพะเยา ร่วมกับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา จัดเสวนา ‘สานพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อนบำนาญประชาชน จังหวัดพะเยา ตามแนวคิดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า เปลี่ยนรัฐสงเคราะห์เป็นรัฐสวัสดิการบนหลักการถ้วนหน้าครอบคลุมทุกคน
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 พวงทอง ว่องไว หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ และหนึ่งในแกนนำขับเคลื่อนบำนาญแห่งชาติ จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ขณะที่ผู้สูงอายุยังไม่มีหลักประกันในชีวิตนอกจากเบี้ยผู้สูงอายุ
ดังนั้น การผลักดันเรื่องการขับเคลื่อนบำนาญประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องให้ข้อมูล ความรู้กับประชาชนมีความเข้าใจว่าบำนาญประชาชนเป็นรัฐสวัสดิการที่รัฐควรจะจัดให้ อีกทั้งต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาล ให้เห็นความสำคัญ ด้วยการใช้พลังประชาชนผลักดันให้เกิดกฎหมายและนโยบายที่ชัดเจนอย่างเสมอภาค
“เมื่ออายุ 60 ปี เงินขั้นต่ำที่ผู้สูงอายุควรจะได้คือ 3,000 บาทต่อเดือน โดยเปรียบเทียบกับค่าความยากจนในปัจจุบันนี้ ซึ่งเราสามารถเอาภาษีต่าง ๆ ทั้งภาษีจาก เหล้า บุหรี่ จากการลงทุน รวมไปถึงการซื้อลอตเตอรี่มาจัดตั้งได้ คิดว่าจำนวนเงินเท่านี้มีความเป็นไปได้ เพียงแต่วันนี้ต้องดูว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญมากน้อยขนาดไหนกับเรื่องนี้ สิ่งสำคัญ คือ ประชาชนต้องการรัฐสวัสดิการหรือบำนาญประชาชนอย่างถ้วนหน้าแท้จริง” พวงทอง กล่าว
ขณะที่ ผศ.อุดม งามเมืองสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุว่า การทำให้บำนาญแห่งชาติเป็นสวัสดิการจะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานที่ประชาชนมั่นใจได้ว่าเมื่ออายุมาก ไม่ได้ประกอบอาชีพ และเกษียณอายุแล้ว รัฐต้องเข้ามาดูแลเพื่อรับรองว่าเขาสามารถที่จะอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่อยู่นอกระบบคำว่ารัฐสวัสดิการ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการทำให้เป็นรัฐสวัสดิการ คือ รัฐต้องมองว่าสิ่งนี้คือหน้าที่ที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ถ้วนหน้า และแท้จริง
“เราจะได้ยินบ่อย ๆ ในเรื่องการสงเคราะห์ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งมันไม่ได้รับทุกคน อีกทั้งการข้าราชการก็จะได้รับการดูแลที่มากกว่าอาชีพอื่น ๆ ซึ่งจะเห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่ ขณะที่มองว่ารัฐควรจะจัดสวัสดิการ อย่างแท้จริงและต้องเป็นถ้วนหน้า
เราต้องมาขมวดให้เห็นว่าปัจจุบันนี้มีรายได้ที่ยังชีพได้ ถ้าเทียบเคียงกับเบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับเดือนละ 600 – 800 บาท ซึ่งหากคำนวณแล้วตกวันละ 20 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับการดำรงชีพอย่างแน่นอน ดังนั้น ควรที่จะเริ่มต้นที่ 3,000 บาท ซึ่งเงินดังกล่าวรัฐจะต้องหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ มาเพื่อเป็นการให้สวัสดิการกับประชาชน” ผศ.อุดม กล่าว