ติดเชื้อปรสิตในน้ำ ลูกบ้านคอนโดเก็บหลักฐานเรียกค่าเสียหาย

สภาผู้บริโภคแนะลูกบ้านคอนโดฯ ย่านลาดพร้าวติดเชื้อปรสิตในน้ำ เก็บหลักฐานค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดงาน ค่าเดินทาง หรือหลักฐานอื่น ๆ เรียกค่าเสียหายกับนิติบุคคล หากไม่คืบหน้ารวมตัวแจ้งสภาองค์กรผู้บริโภคช่วยเหลือได้

จากกรณีข่าวที่ปรากฏตามสื่อว่ามีผู้บริโภคกว่า 100 รายที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมย่านลาดพร้าวได้รับความเดือดร้อนจากการติดเชื้อปรสิตในน้ำ ซึ่งคาดว่าเกิดจากน้ำประปาที่ใช้ในคอนโดฯ ไม่มีความสะอาดนั้น

ได้รับความเสียหาย เก็บหลักฐานร้องเรียนทันที

วันนี้ (10 กรกฎาคม 2567) นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ รองหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า ผู้บริโภคทุกคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ หรือหอพักมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการตามสิทธิผู้บริโภคที่กำหนดไว้ แต่หากได้รับความเสียหายหรือเช่นในกรณีข้างต้นที่ผู้บริโภคจำนวนมากติดเชื้อปรสิตในน้ำซึ่งคาดว่าเกิดจากการใช้น้ำประปาภายในคอนโดฯ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายจากการที่นิติบุคคลหรือเจ้าของโครงการฯ ที่ไม่สามารถให้บริการหรือดูแลผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ได้อย่างปลอดภัยจนทำให้ได้รับความเสียหายทางร่างกาย

จากข้อมูลที่ระบุในสื่อว่า ผู้บริโภคแจ้งนิติฯ แล้วแต่กลับได้รับคำตอบว่า “ให้หาน้ำเปล่ามาใช้ล้างหน้า” หรือ “ให้ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ” อาจเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบมาให้ผู้บริโภคต้องดูแลตัวเองทั้งที่น้ำประปาที่ใช้ในคอนโดฯ ควรเป็นความรับผิดชอบของนิติฯ ในการทำให้สาธารณูปโภคภายในคอนโดฯ สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งในข้อปฏิบัติที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ยังกำหนดหน้าที่ของนิติบุคคลหรือผู้ดูแลอาคารสูง ประเภทคอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ หรืออาคารสำนักงานต้องดูแลความสะอาดของถังสำรองน้ำสม่ำเสมอเพื่อให้คุณภาพน้ำสะอาดอยู่เสมออีกด้วย

“การทำให้ลูกบ้านที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ สามารถใช้สาธารณูปโภคได้อย่างปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบหลักของนิติบุคคล ประกอบกับเมื่อลูกบ้านจ่ายค่าส่วนกลางแล้ว ดังนั้นลูกบ้านควรได้รับการดูแลสุขภิบาลในระบบสาธารณูปโภคให้ถูกสุขลักษณะอนามัย อีกทั้งกรณีที่ลูกบ้านได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสอบถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว นิติฯ และเจ้าของโครงการควรรีบเร่งแสดงความรับผิดชอบและไม่ปล่อยให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานจนทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายทางร่างกายสุขภาพอนามัย หรือมีการใช้วิธีการใด ๆ ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกบ้านไปจนกว่าจะแก้ไขเสร็จสิ้นโดยเร่งด่วน ไม่ปล่อยเนิ่นช้านจส่งผลกระทบกับผู้อาศัยเป็นจำนวนมากเช่นนี้” นายภัทรกร ระบุ

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถรวบรวมหลักฐานความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าน้ำเปล่าหรือค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ค่าเดินทาง ค่าขาดประโยชน์จากการลางานเพื่อไปรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ค่าเสียหายทางจิตใจ เป็นต้น และเรียกร้องกับนิติบุคคลหรือเจ้าของโครงการได้ แต่หากผู้ประกอบการเพิกเฉยหรือไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ผู้บริโภคสามารถรวมกลุ่มผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502 ในวันและเวลาทำการ วันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. หรือร้องเรียนออนไลน์เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/

สนง.เขตจตุจักรแจ้งให้แก้ไข ภายใน 3 วัน

ล่าสุดจากข้อมูลในเอ็กซ์ (X) ข่าวช่องวัน เปิดเผยว่า สำนักงานเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้เข้าไปสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2567 โดยครั้งนั้นไม่พบคลอรีนในถังพักน้ำ ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำประปา วันดังกล่าวมีผู้ป่วยสะสม 90 ราย ก่อนนิติฯ จะเติมคลอรีนฆ่าเชื้อในวันที่ 22 มิถุนายน 2567 แต่ยังพบผู้ป่วยสะสมมากขึ้นเป็น 200 ราย จนกระทั่งต้นเดือนกรกฎาคมลูกบ้านของคอนโดฯ ได้ร้องเรียนผ่านช่องทางทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ขอให้เข้าตรวจสอบปัญหาในอาคาร

ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 สำนักงานเขตจตุจักรได้ลงพื้นที่พบว่า นิติฯ ได้ล้างทำความสะอาดถังพักน้ำประจำปีเมื่อธันวาคม 2566 แต่ยังพบว่า มีถังน้ำ 3 ถังที่ไม่ได้ล้างทำลายเชื้อ แต่เมื่อสุ่มตรวจก๊อกน้ำด้านล่างอาคารของคอนโดฯ ไม่พบคลอรีนอิสระตกค้าง ดังนั้น ปัจจุบันสำนักงานเขตจตุจักรมีหนังสือให้คอนโดฯ แก้ไขอีกครั้งภายในวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 โดยจะมีการลงพื้นที่ติดตามผลอีกครั้ง หากพบไม่ปฏิบัติตาม จะแจ้งความและดำเนินคดีนิติบุคคลของคอนโดฯ

ลูกบ้านเผยแจ้งปัญหาน้ำประปาไม่ได้คุณภาพ ตั้งแต่ปี 64

เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ได้สัมภาษณ์หนึ่งในผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากคอนโดฯ โดยเปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 มีการเปิดตัวคอนโดฯ ดังกล่าวเริ่มมีการร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพน้ำประปาที่ไม่สะอาด ซึ่งเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า เช่น ในน้ำมีฝุ่น หรือน้ำขุ่น ขณะนั้นลูกบ้านบางห้องได้เคลมประกันบริการหลังการขายเพื่อให้แก้ไข แต่กลับไม่มีเข้ามาตรวจสอบหรือแก้ไขแต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ลูกบ้านรวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับความเสียหายด้านสุขภาพจากน้ำประปาที่ใช้ในคอนโดฯ ทั้งความเสียหายจากที่มีคนที่ติดเชื้อที่ดวงตา ระคายเคืองที่ดวงตา หรือบางรายมีอาการกระจกตาอักเสบ คณะกรรมการคอนโดฯ ได้ส่งข้อมูลให้นิติฯ ว่าต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนและจำเป็นต้องตรวจวัดค่าน้ำเพิ่มเติม ทั้งค่าคลอรีน เชื้ออะมีบา และค่าจุลินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อนำค่าเหล่านี้ไปตรวจอย่างละเอียดขึ้นพบว่ามีน้ำที่ประปาบางจุด เช่น ในถังเก็บน้ำชั้นใต้ดิน เจอเชื้อปรสิต Acanthamoeba แต่ทั้งนี้ผลตรวจในการส่งตรวจแต่ละโรงพยาบาลพบว่ามีความแตกต่างกันทั้งที่พบเชื้อและไม่พบเชื้อ

หลังจากนั้นเมื่อยังพบว่ามีลูกบ้านได้รับความเสียหายด้านร่างกายอยู่ จึงได้รวมตัวทำจดหมายถึงเจ้าของโครงการให้ลงมาตรวจสอบ แต่ได้รับการตอบกลับเพียงว่าการก่อสร้างได้มาตรฐานแล้ว แต่สุดท้ายไม่มีหลักฐานมายืนยันหรือลงในรายละเอียดอย่างชัดเจน

ผู้บริโภค สภาผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค