สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้ ‘ผลิตภัณฑ์นมถั่ว ยี่ห้อ โอวิชัวร์ โกลด์ (OVISURE GOLD) ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. หลังสภาผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ไม่มีเลขหมาย อย. มีการโฆษณาเกินจริงและมีการลักลอบตัดต่อภาพผู้อื่นไปเป็นภาพประกอบโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 พร้อมกับแนะผู้บริโภค หากพบผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค โดยไม่ผ่านการอนุญาติจาก อย. ไม่ควรซื้อมารับประทาน อาจเสี่ยงอันตรายได้
จากกรณีที่สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ในประเด็นผลิตภัณฑ์นมถั่ว ยี่ห้อ โอวิชัวร์ โกลด์ (OVISURE GOLD) มีการโฆษณาอวดอ้างคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายโดยไม่มีเลขหมาย อย. กำกับ ว่าสามารถบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดไหล่ อาการเหน็บชา ป้องกันความเสื่อมและโรคกระดูกพรุน ซึ่งเข้าข่ายการโฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เกินจริง เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และมาตรา 41 นั้น
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอความร่วมมือในการตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์นมถั่วยี่ห้อดังกล่าว และ สภาผู้บริโภคได้รับหนังสือตอบกลับจาก อย. แจ้งว่าได้ตรวจสอบและพบว่ามีการลงภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์นมถั่ว ยี่ห้อ โอวิชัวร์ โกลด์ (OVISURE GOLD) แต่ไม่พบการแสดงเลขสารบบอาหารจริง จึงสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์ แสดงข้อมูลอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ เช่น มีการใช้ข้อความว่า “…กระดูกแข็งแรง…ฟื้นฟูกระดูกอ่อนในข้อต่อ…เสริมสร้างภูมิต้านทานต่อร่างกาย” อย่างไรก็ตาม อย. แจ้งอีกว่าหากตรวจสอบพบการผลิตหรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฯ ดังกล่าวที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อย. จะติดตาม ตรวจสอบ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นอกจากประเด็นด้านสุขภาพดังกล่าว ผู้บริโภคได้ร้องเรียนเพิ่มเติมว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ ได้มีการลักลอบนำภาพและคลิปวิดีโอของมารดาผู้ร้องเรียนที่เป็นพรีเซนเตอร์ในการชี้ชวนให้มีการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุจากเฟซบุ๊กแฟนเพจอื่นไปตัดต่อเพื่อการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยไม่ได้มีการขออนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปที่ได้รับชมเกิดความเข้าใจผิดว่าคุณแม่ของผู้ร้องเรียนมีเจตนาโฆษณาให้สินค้าดังกล่าวจริง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงดำเนินการขอให้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ตรวจสอบและดำเนินคดีกับบริษัท โอวิชัวร์ โกลด์ ประเทศไทย (Ovisure Gold Thailand) และพิจารณานำคลิปวิดีโอการขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการแจ้งไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
“ก่อนที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ควรพิจารณาการได้รับอนุญาตและการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริงไม่ว่าจะเป็นข้อความที่แสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค มารับประทาน เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายและอาจเป็นการสูญเงินเปล่า หากต้องการรักษาควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง” โสภณ ระบุ
จากการสัมภาษณ์ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้ร้องเรียนในกรณีดังกล่าวนี้ ได้ระบุว่าภาพและวิดีโอของคุณแม่ของตนเองที่เป็นผู้เสียหายได้ถูกลักลอบนำไปตัดต่อเพื่อโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยหลังจากคลิปวีดีโอดังกล่าวเผยแพร่ออกไปได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำและหน้าที่การงานของตนและคุณแม่ เนื่องจากคุณแม่เป็นคนสุขภาพดีเพราะออกกำลังกายเป็นประจำ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นหันมาออกกำลังกาย ทำให้มีการจ้างงานถ่ายคลิปเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ แต่เมื่อคลิปวีดีโอดังกล่าวถูกนำไปตัดต่อเพื่อการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว ทำให้การจ้างงานลดลง คนรอบข้างเข้าใจผิดว่าการที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีเป็นเพราะได้อาหารเสริม ซึ่งความเข้าจผิดนี้ส่งผลด้านชื่อเสียงขององค์กรและตนเองในฐานะคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของสภาผู้บริโภค และยังเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการอาหารของ อย. เมื่อมารดาของตนเองถูกแอบอ้างว่าใช้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวงผู้บริโภคทำให้ความน่าเชื่อถือในฐานะอนุกรรมการของทั้งสององค์กรลดลง
“ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการโฆษณาเกินจริงและไม่มีเลขสารบบอาหารวางจำหน่ายมากขึ้น อย. และตำรวจควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด จับผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและจัดการผลิตภัณฑ์ที่ยังจำหน่ายอยู่ ไม่เพียงแค่ออกเตือนและลบคลิปวีดีโอ เพราะหากผลิตภัณฑ์เช่นนี้ยังวางจำหน่ายอยู่อาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคไม่ว่าจะทางทรัพย์สินหรือสุขภาพ” กรรณิการ์ ระบุ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะยังติดตามและเฝ้าระวังอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อันตรายต่อไป หากผู้บริโภคพบอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการโฆษณาเกินจริง หรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปที่สายด่วน อย. 1556 หรือแจ้งเบาะแสมายังสภาผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง เพื่อที่สภาผู้บริโภคจะรวบรวมข้อมูลในการแจ้งเตือนภัยและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
- แจ้งเบาะแส เตือนภัยผู้บริโภค : https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=warning
- ร้องเรียนออนไลน์ : https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain
- Line Official : @tccthailand ลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 02 239 1839