สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ไทยแพน และศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบ ‘ส้มไทย’ มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ตอกย้ำปัญหาส้มพิษยังไม่ถูกแก้ไข เสนออาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่
นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร และ สอบ. ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้ม และน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่า ส้มที่มาจากการปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ส่วนส้มที่มาจากการนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง มีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีสารพิษตกค้าง
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สอบ.กล่าวว่า การเฝ้าระวัง ทดสอบสินค้าและบริการเป็นอำนาจหนึ่งของ สอบ. ซึ่งกำหนดให้เป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ดังนั้น การสนับสนุนการทดสอบในครั้งนี้เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย หรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขควรเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ จนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร
ขณะที่ในงานแถลงข่าวผลการตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้ม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมา คือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้ม หลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่สะท้อนสถานการณ์ปัญหาจะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน จึงสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง
การสุ่มเก็บตัวอย่างส้ม คณะทำงานเลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3 – 10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งใน และต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง สำหรับส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่
ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง
หากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile
ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า
1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ.2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของกลุ่มตัวอย่าง และพบว่าร้อยละ 5 หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท ซึ่งทั้ง 3 ตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ
2. จากตัวอย่างน้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco น้ำส้ม 100% ตรา UFC น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตรา ARO น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และน้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ
ด้านปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน ไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ในขณะที่ ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 84.21 อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใด ๆ 29 ตัวอย่าง
ในขณะที่ ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง โดยมีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียด ดังนี้
1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 93.33 ร้อยละ 86.67 และร้อยละ 81.67 ตามลำดับ
2. 3 อันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ร้อยละ 70 และร้อยละ 51.67 ตามลำดับ
3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 51.67
4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) ร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง
“กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ” ปรกชลกล่าว
ทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ ยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่
สรุปข้อเสนอจากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทย
ข้อเสนอต่อภาครัฐ
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแล้ว
- ปฏิรูประบบการรับรอง GAP เพื่อให้มั่นใจว่า ผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน
- ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค
2. กระทรวงสาธารณสุข
- เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า
- พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
- ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย
ข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย
1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส (Traceability) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวก ด้วยเทคโนโลยี เช่น การสแกนคิวอาร์โค้ด
2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มา ตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์ทางเลือก
และการแก้ปัญหาของผู้บริโภค
- เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มา และเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย
- ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง
- ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่