จี้ OPPO – Realme เปิดชื่อผู้อยู่เบื้องหลังแอปกู้เงินเถื่อน

สภาผู้บริโภคกดดัน OPPO – Realme เปิดชื่อผู้อยู่เบื้องหลังแอปกู้เงินเถื่อน Fineasy – สินเชื่อความสุข พร้อมติดตามแก้ปัญหาถอนการติดตั้งแอปฯ โดยไม่ต้องไปศูนย์บริการ เรียกร้องหน่วยงานรัฐเร่งตรวจสอบและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ชวนร้องเรียนหากถูกทวงหนี้โหด

วานนี้ สภาผู้บริโภคได้แถลงข่าวเรียกร้องให้ OPPO และ Realme ชี้แจง Fineasy และ สินเชื่อความสุข ปมแอปกู้เงินเถื่อน เร่งแก้ปัญหาผู้บริโภคใน 3 วัน จี้ 5 หน่วยงานรัฐสอบข้อเท็จจริง (อ้างอิงเนื้อหาข่าว : ขีดเส้นตาย 3 วัน OPPO-Realme ถอนแอปกู้เงินเถื่อนออก)

ล่าสุด (13 มกราคม 2568) อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เรียกร้องให้บริษัท OPPO และ Realme เร่งเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแอปกู้เงินเถื่อน “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” ที่แอบติดตั้งมากับสมาร์ทโฟน โดยให้เปิดเผยว่าใครเป็นผู้พัฒนาแอปฯ และใครเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเงินกู้ดังกล่าวด้วยพบข้อมูลจากผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาที่สภาผู้บริโภคว่า มีการปล่อยกู้เงินโดยเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและมีการติดตามทวงถามหนี้โหดที่ผิดกฎหมาย

และยังพบว่าผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถถอนการติดตั้งแอปฯ เหล่านี้ได้เอง เนื่องจากติดตั้งมาในระบบ (System App) ส่งผลให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลและอาจนำไปสู่การถูกคุกคามทางการเงิน (อ้างอิงเนื้อหา : เช็คด่วน!! ใครใช้มือถือ OPPO และ realme ระบบแอบติดตั้งแอปเงินกู้นอกระบบมาหรือไม่)

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา เรียกร้องเปิดชื่อผู้อยู่เบื้องหลังแอปกู้เงินเถื่อน Fineasy - สินเชื่อความสุข

สภาผู้บริโภคเสนอให้ทั้ง 2 บริษัทปรับปรุงระบบปฏิบัติการหรืออัปเดตแอปฯ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถถอนการติดตั้งได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเดินทางไปศูนย์บริการ เนื่องจากขณะนี้พบเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคว่าการปลดล็อกแอปฯ ทำได้เฉพาะที่ศูนย์บริการขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างภาระให้ผู้บริโภค หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ ควรจ่ายเงินเยียวยาค่าเดินทางค่าเสียเวลาให้ผู้บริโภค 2,000 บาทต่อรายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่ศูนย์บริการ 

“แม้ทั้งสองบริษัทจะออกแถลงการณ์ว่าจะแก้ไขปัญหาโดยการลบแอปฯ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม สภาผู้บริโภคจึงตั้งคำถามว่า การที่ OPPO และ Realme ไม่เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดนั้น อาจเป็นเพราะมีผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือส่วนแบ่งรายได้ร่วมกับผู้พัฒนาแอปฯ กู้เงินเถื่อนหรือไม่ หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ควรแสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน” อิฐบูรณ์ ระบุ

สำหรับผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อของแอปกู้เงินเถื่อน “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” หรือเป็นหนี้จากแอปฯ เหล่านี้ สภาผู้บริโภคแนะนำให้ชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น หากถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือพบว่ามีพฤติกรรมทวงหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ สามารถแจ้งร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ โดยติดต่อสายด่วน 1502 หรือผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th

พร้อมกันนี้ รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยังได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่จะมีการประชุมร่วมกันในช่วงบ่ายของวันที่ 13 มกราคม 2568 เร่งกำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค และดำเนินการตรวจสอบบริษัท OPPO – Realme และลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงผู้พัฒนาแอปฯ

โดยเฉพาะ กสทช. ควรมีบทบาทที่ชัดเจนในการเข้ามากำกับดูแลซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในลักษณะเดียวกับกรณีซิมบ็อกซ์ (Sim Box) เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ที่สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภค ไม่ใช่กำกับดูแลเพียงแค่เรื่องสุขอนามัยด้านการใช้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น

ตามอำนาจหน้าที่ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลสิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม พ.ศ.2566 กำหนดชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลและความปลอดภัยของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสภาผู้บริโภคจะดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายต่อไป หากยังไม่ได้รับการตอบสนองจากบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง