ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก สปน. ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสเปิดสำนักงานใหม่สภาผู้บริโภค พร้อมหารือแนวทางสนับสนุนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับชลดา บุญเกษม กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และผู้บริหารของสำนักงานสภาผู้บริโภค
ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวนั้นจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 3 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนการทำงาน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ ไปปรับปรุงและปรับใช้เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีพลังในการขับเคลื่อนงานให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อาทิ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรับจดแจ้งความเป็นองค์กรของผู้บริโภค รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่เริ่มเปิดสำนักงานสภาผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยช่วงที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคมีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกว่ากว่า 12,995 เรื่อง ส่วนใหญ่ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นปัญหาการถูกหลอกลวงออนไลน์ ทั้งการสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า สั่งสินค้ามาแล้วแต่ได้รับของไม่ตรงปก การหลอกให้ลงทุน การแฮกบัญชีธนาคารและดูดเงินในบัญชีออกไป
ส่วนงานเฝ้าระวังที่สภาผู้บริโภคทำนั้นเป็นการเฝ้าระวังและนำมาเตือนภัยให้ผู้บริโภคเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจเลือกซื้อ เลือกใช้บริการต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลของสถานเสริมความงามที่ควรรู้ ผลทดสอบหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวหรือผลทดสอบหมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านการทดสอบ ทั้งนี้การสื่อสารสาธารณะเพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลเผยแพร่จากสภาผู้บริโภค ทั้งข้อมูลเตือนภัย การให้ข้อมูลที่ผู้บริโภคควรรู้และเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการป้องกันตัวเองจากภัยต่าง ๆ โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2566 มีคนเข้าถึงข้อมูลของสภาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นกว่า 25 ล้านรายชื่อ
นอกจากนี้สภาผู้บริโภคยังมีการส่งข้อเสนอนโยบายถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงนโยบายต่อไป และยังมีการศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เช่น ดัชนีการบริโภค บำนาญประชาชน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) และตำรวจไซเบอร์ ที่มีการจัดอบรมเพื่อมุ่งเป้าจัดการปัญหาเกี่ยวกับมิจฉาชีพออนไลน์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
หรือความร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้หมดไปจากท้องตลาด รวมถึงความร่วมมือในการบูรณาการพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.)
ขณะที่ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกจำนวน 295 องค์กรทั่วประเทศ ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะเป็นผู้แทนผู้บริโภค เป็นปากเป็นเสียง ช่วยเฝ้าระวังเตือนภัย ให้ข้อมูลกับผู้บริโภค และช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการให้คำปรึกษาและช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาผู้บริโภคได้ โดยในปีงบประมาณ 2567 สภาผู้บริโภคตั้งเป้าขยายองค์กรสมาชิกให้เพิ่มขึ้นใน 60 จังหวัดเพื่อการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเข้มแข็งมากขึ้น