สภาผู้บริโภคเปิดบ้านต้อนรับ คณาจารย์และนิสิตจากจุฬาฯ – ม.โตเกียว เสนอทางแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะของไทย ชี้การที่ไทยไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ที่ตั้งโรงเรียนไกลจากบ้าน ทำผู้ปกครองแบกค่าใช้จ่าย เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน ด้านสภาผู้บริโภคพร้อมดันค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน – จับมือหน่วยงานรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคเปิดบ้านต้อนรับคณะอาจารย์และนิสิตวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) ประเทศญี่ปุ่น ที่ร่วมเข้าศึกษาดูงานการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นปัญหาการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกี่ยวกับด้านขนส่งและยานพาหนะของสภาผู้บริโภค
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค บรรยายถึงบทบาทหน้าที่ของสภาผู้บริโภคกับการเป็นผู้แทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย ทั้งการทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น จัดทำนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการขับเคลื่อนในด้านขนส่งและยานพาหนะ ตัวอย่างเช่น การผลักดันให้ค่าโดยสารในบริการขนส่งสาธารณะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางค่อนข้างสูง เพราะต้องเดินทางหลายต่อกว่าที่จะถึงจุดหมาย รวมถึงการสนับสนุนให้มีระบบขนส่งเสริมหรือระบบฟีดเดอร์ (Feeder System) ที่ประชาชนสามารถเดินออกจากบ้านเพียง 500 เมตร และพบกับบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อทำให้ทุกคนได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ได้สภาผู้บริโภคยังได้หารือและเสนอแนะแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ
ด้าน นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นเรื่องค่าโดยสารแพงข้างต้นนั้น ไม่ใช่เฉพาะเพียงรถไฟฟ้าบีทีเอสเท่านั้น แต่เป็นระบบรางทั้งหมด ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ผ่านการรณรงค์ให้ “ขนส่งมวลชน ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” เพราะมีความคิดเห็นว่ารถไฟฟ้าควรเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงและไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคได้ผลักดันนโยบายเกี่ยวข้องกับการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีรถรับส่งนักเรียนบนท้องถนนมากกว่า 45,000 คัน ที่วิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานวิ่งรับส่งนักเรียนกระจายอยู่ทั่วประเทศ สะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนในปัจจุบัน ซึ่งมาจากสาเหตุเพราะการให้บริการรถรับส่งเรียนและขาดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการบูรณาการส่งต่อข้อมูลกัน รวมถึงขาดการจัดการทั้งในเชิงระบบและบริหารจัดการ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงได้ทำงานในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการทำงานเป็นภาคีขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการจัดการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับโรงเรียนทั้งหมดกว่า 168 โรงเรียนใน 33 จังหวัด แบ่งเป็นโรงเรียนที่สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้จำนวน 20 โรงเรียน โรงเรียนที่สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบจำนวน 142 โรงเรียน และโรงเรียนที่สามารถนำร่องได้จำนวน 6 แห่ง
ขณะที่ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้ความเห็นว่า ในประเทศญี่ปุ่นนั้นนักเรียนจะสามารถเดินทางไปโรงเรียนเองได้ เนื่องจากส่วนใหญ่จะเลือกเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน แต่สำหรับประเทศไทยแล้วโรงเรียนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวเมือง ขณะที่เด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่นอกเมืองต้องเดินทางมาเรียนในตัวเมืองและกลายเป็นเรื่องยากที่จะสามารถเดินทางมาโรงเรียนได้เอง ดังนั้น นักเรียนส่วนใหญ่จึงอาจเลือกใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและเลือกใช้รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น เพราะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี นอกจากนี้ในส่วนของสิทธิเรียนฟรีตามกฎหมายของประเทศไทยไม่ได้ครอบคลุมรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักเรียน จึงทำให้กลายเป็นภาระของผู้ปกครองที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะเดินหน้าสนับสนุนให้อัตราค่าโดยสารของบริการขนส่งสาธารณะมีอัตราที่ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เหมาะสมกับรายได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงการทำให้คนเข้าถึงได้เท่านั้น แต่ต้องพัฒนาเมืองร่วมด้วย และสภาผู้บริโภคพร้อมเป็นคนกลางในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานในการบูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนหลักเกณฑ์การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย